อ่าน 1,184 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 1/2550: 18 กันยายน 2550
ซัพไพร์มกับอสังหาริมทรัพย์ไทย
อาคาร & ที่ดิน Monthly เดือนตุลาคม 2550 หน้า 129

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่มีข่าวว่าวิกฤติสินเชื่อซัพไพร์ม (subprime) หรือสินเชื่อคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอาจมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย “ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA” แห่ง Agency for Real Estate Affairs ซึ่งได้ศึกษาจากนักวิชาการสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมายังประเทศไทย ประกอบกับการไปศึกษาดูงานในสหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 9-16 กันยายน ศกนี้ ขอแถลงให้ทราบดังนี้:

          สินเชื่อดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยตรง แม้จะมีสถาบันการเงินไทยที่ไปซื้อหุ้นในสินเชื่อดังกล่าว แต่ก็คาดว่าคงเป็นการลงทุนส่วนน้อย และเป็นปัญหาเฉพาะราย

          เราควรเข้าใจในความเป็นจริงประเด็นสินเชื่อซัพไพร์มที่กระพือข่าวในประเทศไทยว่า ประการแรก การผิดนัดชำระหนี้และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของสินเชื่อซัพไพร์มนั้นเคยเกิดขึ้นสูงสุดในปี 2545 แล้วเพิ่งมาเกิดขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน แต่ครั้งก่อนแทบไม่เคยมีใครเอ่ยอ้างถึง แต่เพิ่งมาตื่นตระหนกในครั้งนื้ ประการที่สอง ปัญหานี้เกิดขึ้นในบางกลุ่มชน บางเมืองและภูมิภาค ไม่ใช่เป็นไปทั่วประเทศ โดยทั่วไปกลุ่มคนผิวดำและพวกพูดภาษาสเปนใช้บริการสินเชื่อซัพไพร์มถึงราว 40% ส่วนชาวเอเซียและชาวผิวขาวใช้บริการเพียง 16% โดยประมาณ ประการที่สาม สินเชื่อซัพไพร์มถือเป็นสินเชื่อส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อแบบ “ไพร์ม” (เชื่อถือได้สูง) สินเชื่อแบบ “ไพร์ม” ยังมีการผ่อนชำระและการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดต่ำมาก

          อย่างไรก็ตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอเมริกามีความเปราะบางโดยรากฐาน การที่ราคาที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันและเพิ่มสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาโดยตลอด ทำให้เกิดการเก็งกำไร เป็นบ่อเกิดของปัญหาวิกฤติในอนาคต และโดยที่มีการเก็งกำไรกันมาก จึงทำให้เกิดสินเชื่อซัพไพร์ม ซึ่งเป็นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังแข็งแกร่ง มีคนไปลงทุนกันมาก ตำแหน่งงานก็ยังมีเพิ่มขึ้น (ยกเว้นในภาคอสังหาริมทรัพย์) อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ หากเมื่อใดเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำ หายนะจริง ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ทั่วโลก เช่นกรณี “the Great Depression” แต่กรณีวิกฤติซัพไพร์มนี้ แม้คาดว่าอาจก่อให้เกิดการขายทอดตลาดบ้านสูงถึง 3 ล้านหน่วยในอนาคต แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของบ้าน 120 ล้านหน่วย และตามประสบการณ์ปี 2530-2532 ที่เกิดวิกฤติในลักษณะคล้ายกัน (ชื่อว่า “Saving and Loans Crisis”) ก็ไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาโดยตรง และในยุคนั้นกลับเป็นยุคที่อสังหาริมทรัพย์ไทยและอาเซียนเติบโตสวนกระแสถึงขีดสุดด้วยซ้ำไป

          อย่าให้ความเข้าใจผิดจนเกิดภาพเลวร้ายเกินจริง เป็นเครื่องมือสร้างความวิตกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจนเกินควร


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved