อ่าน 1,018 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 39/2554: 2 พฤษภาคม 2554
ตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          รัฐบาลควรตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่ใช้บริการผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และการที่วิชาชีพมีความเข้มแข็งยังมีส่วนช่วยปกป้องเศรษฐกิจชาติ ไม่ให้พังทลายจากการโกงในสถาบันการเงินจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเช่นที่ผ่านมา

สภาพในปัจจุบัน
          ที่ผ่านมาเคยมีหน่วยงานของรัฐ เช่น องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน สำนักงานคณะกรรมการ กลต. ธนาคารแห่งประเทศไทย และอื่น ๆ ทำการรับรองผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน แต่ต่อมาเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ เห็นว่า สำนักงาน กลต. ดำเนินการอย่างแข็งขัน ก็ไม่ได้ทำการรับรองอีกต่อไป โดยอ้างว่าเป็นการซ้ำซ้อน ทั้งที่การรับรองของสำนักงาน กลต. ใช้เพื่อการประเมินสำหรับบริษัทมหาชนเป็นสำคัญ แต่โดยที่สำนักงาน กลต. เป็นสถาบันเพียงแห่งเดียวที่ทำการรับรอง สถาบันการเงินและหน่วยงานต่าง ๆ จึงอ้างอิงรายชื่อบริษัทที่สำนักงาน กลต. รับรอง
          ต่อมา สำนักงาน กลต. ก็ให้สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ทำการรับรองกันเอง อย่างไรก็ตามการรับรองกันเองนี้ อาจมีการเลือกที่รักมักที่ชังได้ เพราะกรรมการสมาคมก็มักเป็นเจ้าของบริษัทประเมินต่าง ๆ เป็นสำคัญ บางครั้งก็ยังมีความขัดแย้งในระหว่างบริษัทต่าง ๆ ภายในสมาคม
          ที่สำคัญก็คือ สมาคมวิชาชีพมีเพื่อประโยชน์ของนักวิชาชีพ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นเรื่องรอง ยิ่งการดูแลผลประโยชน์ของสังคมและผู้บริโภคยิ่งไม่ใช่สาระสำคัญของสมาคม ทางราชการจึงต้องเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน เช่นเดียวกับกรณี สภาวิชาชีพบัญชี สภาวิศวกร สภาสถาปนิก แพทยสภา เป็นต้น หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการอาจถือเป็นความผิดในข้อหาการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

วิชาชีพควรถูกควบคุมหรือคุมกันเอง
          เมื่อวิชาชีพเจริญถึงระดับหนึ่งก็ต้องมีสภาวิชาชีพมาทำหน้าที่นี้ ในวงการสถาปนิก วิศวกรและแพทย์ แต่เดิมประเทศไทยมีสมาคมสถาปนิกสยามฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นสมาคมหลักโดยไม่มีสมาคมคู่แข่ง นอกจากนี้ทั้งสามแห่งก็ยังเป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เสียด้วย แต่สมาคมก็มีบทบาทในการคุ้มครองนักวิชาชีพ
          อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญในการควบคุมนักวิชาชีพและพัฒนาวิชาชีพก็คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็คือสาธารณชน หรือยึดถือประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ซึ่งรวมไปถึงตั้งแต่ ประชาชนธรรมดาที่ต้องใช้บริการประเมินค่าทรัพย์สิน สถาบันการเงิน หน่วยราชการ ฯลฯ
          การจะควบคุมนักวิชาชีพได้นั้น รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล แต่เดิมมีความเชื่อว่า นักวิชาชีพน่าจะดูแลกันเองได้ แต่โดยหลักการแล้ว นักวิชาชีพต้องทำให้โปร่งใส การให้ “คู่แข่ง” รายใหญ่ดูแลรายเล็ก ก็อาจเกิดการครอบงำรายเล็ก อาจมีการเล่นพรรคเล่นพวก เลือกที่รักมักที่ชัง
          ความโปร่งใสยังรวมถึงการควบคุมตัวนักวิชาชีพ ไม่ใช่ให้บริษัทควบคุมอย่างเดียว เพราะบริษัทนั้นอาจจะ “ถูกซื้อ” ได้เช่นกัน ทำให้นักประเมินขาดอิสระทางวิชาชีพ
          การคุ้มครองผู้บริโภคต้องเป็นสภาวิชาชีพเท่านั้น การเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ทำให้นักวิชาชีพได้พัฒนาวิชาชีพบนพื้นฐานที่เป็นจริง ยิ่งคุ้มครองผู้บริโภค ยิ่งทำให้วิชาชีพได้รับความเชื่อถือจากสังคม อาจกล่าวได้ว่าภาระหน้าที่ของสภาวิชาชีพก็คือเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมนักวิชาชีพ ป้องกันการแทรกแซงวิชาชีพและให้การศึกษาแก่สาธารณชนนั่นเอง

ทำสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแบบใดดี
          แต่การที่รัฐจะเข้ามาควบคุมนั้น ก็ต้องไม่ให้เหมือน กรณีสำนักงานช่างรังวัดเอกชนภายใต้กรมที่ดิน (ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด) แต่โอกาสที่วิชาชีพจะโต (เป็นอิสระ มีพัฒนาการทางวิชาการ-วิชาชีพ) กลับไม่เป็นดังหวัง บางคนกลับต้องเลิกอาชีพนี้ ช่างรังวัดรัฐกลับกลายเป็นคู่แข่งเสียเอง
          สภาการควบคุมวิชาชีพที่คาดหวังนั้น รัฐเป็นผู้ควบคุมโดยจะมี
          1. ผู้แทนราชการในฐานะผู้ดูแลประโยชน์ของประชาชน
          2. ผู้แทนนักวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยบริษัทประเมินและนักวิชาชีพประเมิน
          3. ผู้ใช้บริการสำคัญ เช่น สถาบันการเงิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และ
          4. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกวงการ

          มาร่วมกันรณรงค์ให้เกิดสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเถิด

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์
เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved