อ่าน 1,612 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 96/2554: 25 ตุลาคม 2554
ความเสียหายเบื้องต้นของบริษัทพัฒนาที่ดินจากน้ำท่วม พ.ศ.2554

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          ประเมินความสูญเสียของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินประมาณ 17,978 ล้านบาท แต่ยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพของบริษัทพัฒนาที่ดินหรือสถาบันการเงิน เว้นแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ใจกลางเมือง
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมไปแล้วยังมีหน่วยขายที่รอผู้ซื้ออยู่และอยู่ในมือของผู้ประกอบการถึง 311 โครงการ รวม 34,203 หน่วย มูลค่าทั้งหมด 98,008 ล้านบาท พื้นที่เหล่านี้ได้แก่ กันตนา (ฝั่งตะวันตก) ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ติวานนท์-สรงประภา นครอินทร์
นวนคร-รพีพัฒน์ บางบัวทอง ปทุมธานี-ทล.345 รังสิต-นครนายก คลอง 1-7 รังสิต-บางพูน ราชพฤกษ์-ท่าอิฐ ลำลูกกา และอยุธยา (บางปะอิน-วังน้อย)
          นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมอีกส่วนหนึ่ง มีโครงการทั้งหมด 226 โครงการ ประกอบด้วยหน่วยที่ยังเหลือขายอยู่ 23,908 หน่วย รวมมูลค่า 76,511 ล้านบาท ในพื้นที่คลองสามวา-หนองจอก ปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี รังสิต-คลอง 7-15 รามฯ-มีนบุรี-สุวินทวงศ์ ลาดกระบัง และสายไหม เมื่อรวมทั้งหมด จะมี 537 โครงการ รวมจำนวนหน่วยที่ยังเหลือขายอยู่ 58,111 หน่วย มูลค่ารวม 174,519 ล้านบาท
          ณ มูลค่าที่รอขายอยู่ 174,519 ล้านบาท และอาจมีหน่วยขายที่ขายแล้วอีก 20% ที่คืนเงินเพราะน้ำท่วม ก็จะมีมูลค่ารอขายเพิ่มเป็น 227,614 ล้านบาท หากน้ำท่วมทำให้ยอดรับรายได้ล่าช้าไป 6 เดือน ณ อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อเดือน ก็จะเป็นเงิน ประมาณ 6,711 ล้านบาท และหากในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ต้องทำให้ต้นทุนโครงการเพิ่มขึ้นอีก 5% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยทั้งหมด 225,349 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินอีก 11,267 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 17,978 ล้านบาท เฉพาะที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน หากสถานการณ์เลวร้ายลงกว่านี้ มูลค่าความเสียหายจะสูงขึ้นอีก และยิ่งในส่วนของบ้านเรือนของประชาชน ความเสียหายจะยิ่งสูงกว่านี้ ซึ่งศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จะได้รายงานให้ทราบต่อไป
          อย่างไรก็ ความเสียหายเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการ ณ ระดับนี้คงไม่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือสถาบันการเงิน ตราบเท่าที่สาธารณูปโภคใจกลางเมืองยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม แต่หากเขตใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครถูกน้ำท่วม กิจการต่าง ๆ คงต้องปิดชั่วคราว ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นอัมพาตได้ จนอาจส่งผลต่อการติดลบของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งก็คือประเทศชาติและประชาชนยากจนลง ความสามารถในการซื้อบ้านก็จะลดน้อยลง ถึงเวลานั้นศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส คาดการณ์ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะตกต่ำลงเพราะขาดกำลังซื้อ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็จะพลอยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลำพังการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยใหม่ก็เป็นเพียงการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ไม่ได้ก่อผลต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved