อ่าน 1,325 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 60/2555: 28 พฤษภาคม 2555
มาบตาพุด ต้องย้ายชาวบ้านออกนอกพื้นที่

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้อพยพโยกย้ายออกนอกพื้นที่ชั่วคราว แนวทางการแก้ไข ควรให้ประชาชนอพยพโดยสมบูรณ์เพื่อความปลอดภัยและเพื่อการขยายอุตสาหกรรมของชาติ
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เคยศึกษาเกี่ยบกับสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดเมื่อปลายปี 2552 โดยได้สุ่มตัวอย่างประชาชนไว้ถึง 1,107 คน
          ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาในเชิงนโยบายก็คือประชากรส่วนใหญ่ (65.3% หรือสองในสาม) ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป มีเพียงหนี่งในสามที่เห็นว่าควรหยุดขยายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามหากนับรวมผู้ที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความเห็น 22.2% แล้ว จะพบว่า ประชากรที่เห็นว่าควรหยุดขยายตัวมีอยู่ 26.6% หรือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรที่เห็นควรให้อุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดควรจะขยายตัวต่อไป (51.1%)
          ที่ผ่านมามักมีการอ้างอิงว่ามลพิษในมาบตาพุด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ นานา การศึกษานี้จึงได้สำรวจความเห็นของประชาชนในประเด็นนี้ โดยพบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตตามผลกระทบจากมลพิษในเขตมาบตาพุดมีอยู่ทั้งหมด 504 ราย หรือประมาณ 12.86% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้แยกเป็นสาเหตุจากการทำงานในสถานประกอบการ 92 ราย หรือ 2.35% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เหลืออีก 412 รายหรือ 10.52% ป่วยหรือเสียชีวิตจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ 
          ในการพิจารณาผลกระทบจากมลพิษ ควรพิจารณาแยกกลุ่มผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษในสถานประกอบการออกก็เพราะผลกระทบจากมลพิษในกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้มักเป็นผลจากความประมาทและการขาดการควบคุมอาชีวะอนามัยที่ดีในสถานประกอบการ ดังนั้นในการพิจารณาถึงมลพิษในมาบตาพุดจึงควรเน้นเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยซึ่งมีอยู่ประมาณ 10.52% ของประชากรทั้งหมดเป็นสำคัญ
          อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบการเจ็บป่วยจากทุกกลุ่มพบว่า ส่วนมาก (11.82%) มักเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ภูมิแพ้ เป็นต้น กลุ่มที่เชื่อว่าป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษ มีเพียง 0.69% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษมีไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อทั่วไปที่ว่ามลพิษได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในบริเวณมาบตาพุด
          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สาเหตุหลักของการตายของประชาชนในจังหวัดระยอง ในปี 2548 เป็นเพราะสาเหตุภายนอกการป่วยและการตาย(เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย) ถึง 15% รองลงมาคือสาเหตุจากโรคมะเร็งและเนื้องอก 12.7% และสาเหตุจากโรคติดเชื้อและปรสิต 12.6% อย่างไรก็ตามสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งและเนื้องอกในจังหวัดระยองกลับมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับทั่วประเทศ
          ในมาบตาพุดยังไม่มีพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ (Contamination Area) จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เช่น กรณีพื้นที่ปนเปื้อนอันเนื่องมาจากสนามบินเก่า เหมืองแร่ หรืออื่น ๆ ในการประเมินค่าทรัพย์สิน พื้นที่ปนเปื้อนเหล่านี้มักจะมีมูลค่าต่ำหรือติดลบเพราะต้องบำบัดให้พ้นจากสภาพปนเปื้อน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษยังไม่ปรากฏให้เห็น ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะบำบัดให้พื้นที่ปลอดพ้นจากมลพิษ
          อย่างไรก็ตาม ประชากรราวสองในสาม (64.2%) เชื่อว่าในมาบตาพุดน่าจะมีมลพิษมากกว่าในตัวเมืองระยอง แต่ก็มีประชากรเพียง 48.5% ที่คิดจะย้ายออกจากมาบตาพุดหากในอนาคตมีมลพิษมากกว่านี้หรือมากเกินไป การที่ประชากรยังจะอยู่ในพื้นที่ก็เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและความเคยชินในการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยประชากรที่อยู่อาศัยเกินกว่า 10 ปี ส่วนมากจะไม่คิดย้ายออกจากพื้นที่
          โดยที่มีความจำเป็นในการขยายตัวของอุตสาหกรรมในมาบตาพุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ของ ประชาชนไทยทั่วประเทศ ในกรณีนี้อาจมีความจำเป็นต้องซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดิน อาคารและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบางส่วนจากประชาชน โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้กับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อมาเป็นพื้นที่ขยายตัวของอุตสาหกรรม และอาจเป็นพื้นที่กันชนกับพื้นที่อยู่อาศัย อันจะเป็นการป้องกันการได้รับผลกระทบจากมลพิษของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามการซื้อหรือเวนคืนนี้ ควรจะจ่ายสูงกว่าราคาประเมินเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของทางราชการ และยังควรซื้อเท่ากับราคาตลาด หรืออาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับผลกระทบย้ายออกโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
          คณะนักวิจัยเชื่อว่าประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมยินดีที่จะย้าย ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้เช่าซึ่งย้ายที่อยู่อาศัยได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ย้ายออกไปแล้ว จากการสังเกตยังพบว่า เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่ดินชายหาดที่ตั้งอยู่ติดเขตอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งย้ายออกไปซื้อบ้านและที่ดินที่อยู่ห่างไกลออกไป และหากมีมลพิษมากจริงในอนาคต ประชาชนย่อมคำนึงถึงสุขภาพของตน ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีซื้อหรือเวนคืน ณ ราคาตลาด หรือสูงกว่าราคาตลาดตามสมควร โดยไม่ใช้ราคาเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการซื้อหรือเวนคืน ประชาชนย่อมยินดีย้ายออก ดั้งนั้นโอกาสในการจัดการพื้นที่ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ย่อมสามารถดำเนินการได้
          นอกจากนี้ระบบการคมนาคมขนส่งในมาบตาพุดก็สะดวก การย้ายห่างออกไปอีกประมาณ 10-20 กิโลเมตร ให้พ้นจากพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ น่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังสามารถคำนวณเป็นค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมได้อีกด้วย

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved