อ่าน 3,297 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 85/2556: 8 กรกฎาคม 2556
ข้อสังเกตอสังหาริมทรัพย์เมืองตรัง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตรังเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีอนาคตการพัฒนาที่ดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการเป็นศูนย์กลางภาคใต้ตอนล่างฟากตะวันตก

          เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 6-7 กรกฎาคม 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปสำรวจและบรรยายตลาดอสังหาริมทรัพย์ ณ จังหวัดตรัง และได้พบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ตรังมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังนี้:

          จังหวัดตรังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเป็นเงิน 119,041 ล้านบาท ณ ปี พ.ศ.2553 ซึ่งมีการขยายตัวเป็นอันดับที่ 9 จาก 14 จังหวัดภาคใต้นับแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา คือขยายตัวประมาณ 27% ในเวลา 5 ปี ในขณะที่ทั่วภาคใต้ขยายตัวประมาณ 30% ในปี พ.ศ.2555 มีดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 31% ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 19% ส่วนดัชนีค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นเพียง 4% ในขณะที่ดัชนีรายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐลดลงถึง 32%

          พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในจังหวัดตรังเพิ่มขึ้น 24% ในปี พ.ศ.2555 และดูท่าว่าในปี พ.ศ.2556 น่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% อย่างไรก็ตามรายได้จากภาคการเกษตรลดลงเนื่องจากการลดลงของราคายางและราคาปาล์ม แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดตรัง เนื่องจากราคาสินค้าภาคการเกษตรค่อนข้างขึ้นลงไปตามตลาดโลก

          ในรายละเอียดการก่อสร้างในปี พ.ศ.2555 พบว่า มี 149,175 ตารางเมตรในเขตเทศบาล และ 117,992 ตารางเมตรนอกเขตเทศบาลโดยส่วนมากจะเป็นที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารบ้านแถว เช่น ทาวน์เฮาส์ จำนวน 41,141 ตารางเมตรในเขตเทศบาลด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างอาคารชุด 1 โครงการขนาดเล็ก เพียง 1,182 ตารางเมตร ซึ่งแสดงว่าอาคารชุดเพิ่งเกิด ทั้งนี้ในขณะนี้มีโครงการอาคารชุด กำลังขายอยู่ในท้องตลาด 1 โครงการ และมีผู้จองซื้อจำนวนครึ่งหนึ่งของหน่วยขายแล้ว

          การพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วนมากเป็นโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ในเขตนอกเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางไปสนามบิน มีอยู่ประมาณ 10 โครงการและมีสภาพดี อย่างไรก็ตามในพื้นที่อื่นที่อยู่นอกเมืองก็มีการก่อสร้างโครงการจัดสรรอยู่เช่นกัน ปัญหาการล้นตลาดของตลาดที่อยู่อาศัยคงไม่พบในเขตจังหวัดตรัง เพราะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และเพิ่งเริ่มต้นที่จะมีโครงการอาคารชุดเกิดขึ้น

          สำหรับสนามบินจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ทางใต้ของตัวอำเภอเมืองตรังในตำบลทุ่งนางหวัง มีพื้นที่ 1,659 ไร่ ห่างไป 8 กิโลเมตร โดยสามารถเดินทางถึงได้ในเวลาประมาณ 15 นาทีท่านั้น สนามบินนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากแต่เดิมที่การบินไทยทิ้งจังหวัดตรังไป ปรากฏว่าการเดินทางต่าง ๆ ลำบากมาก แต่ปัจจุบัน มีสายการบินแอร์เอเซีย และนกแอร์ ให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวและการติดต่อธุรกิจต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

          สนามบินมีแผนที่จะขยายรันเวย์ฝั่งทิศตะวันตก ของท่าอากาศยานตรังในวงเงิน 96 ล้านบาท และเตรียมขยายอาคารผู้โดยสารอีก 80 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถขยายการรับรับผู้ผู้โดยสารจากชั่วโมงละ 300 คน เป็นชั่วโมงละ 400 คน สนามบินในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้วันละ 2,424คน ซึ่งหากมีการขยายสนามบินทั้งรันเวย์และอาคารผู้โดยสาร ก็จะทำให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

          หากในอนาคตตรังสามารถพัฒนาจนดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น มีการพัฒนาการอุตมศึกษาเพิ่มขึ้น และมีรายได้จากภาคการเกษตรและการแปรรูปอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยิ่งเติบโตมากขึ้นอีก

หมายเหตุรูป
1 ภาพถ่ายทางอากาศของสนามบินตรัง

2 โรงภาพยนตร์เพชรรามาที่ร้างและเสนอขายในเขตเมืองตรัง

3 บรรยายการบรรยายของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ณ จังหวัดตรัง

4 ศูนย์การค้าพร้อมโรงแรมขนาดใหญ่ในจังหวัดตรัง

5 โรงแรมสมัยใหม่ในจังหวัดตรัง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved