อ่าน 3,524 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 147/2556: 18 ตุลาคม 2556
เขื่อนในโลกนี้สร้างดีหรือไม่

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/dr.sopon4

          เรื่องเขื่อนแม่วงก์ของไทยกำลังมาแรง บางคนอ้างอิงว่าทั่วโลกเขาทุบเขื่อนกันแล้ว นางคลินตันมากล่าวในอาเซียนก็ยังบอกว่าสหรัฐอเมริกามีบทเรียนที่ไม่ดีต่อการสร้างเขื่อน ตกลงเราควรเลิกสร้างเขื่อนหรือไม่ มาดูประสบการณ์จริงจากทั่วโลกกัน
          กรณีนางคลินตันมาพูดนั้น {1} คงเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ต้องฟังหูไว้หู เนื่องจากมีวาระ (ซ่อนเร้น) ทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งเกี่ยวพันกับอำนาจของสหรัฐอเมริกาเอง นักวิชาการบางท่านก็บอกในทำนองว่า สหรัฐอเมริกายังรื้อเขื่อนทิ้งแต่ไทยกลับยังจะสร้างเขื่อน {2} โดยในบทความดังกล่าว ระบุว่าสหรัฐอเมริกา มีเขื่อนถึง 70,000 แห่ง แต่ได้รื้อเขื่อนใหญ่น้อยไปบ้างแล้ว
          ตัวอย่างที่ครึกโครมคือเขื่อน Condit {3} ซึ่งก่อสร้างมาราว 100 ปีแล้ว ใช้ผลิตไฟฟ้าจนแสนคุ้มแล้ว มีปัญหารั่วจนซ่อมไม่คุ้มและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากปล่อยทิ้งไว้  และที่บอกว่ายังจะมีการรื้อเขื่อนอีกมากมายนั้น คงเป็นเขื่อนขนาดเล็ก ๆ หรือฝายทดน้ำ แต่ก็ยังมีเขื่อนใหญ่ที่ล้าสมัย และรบกวนสิ่งแวดล้อมเช่นกัน กรณีเช่นนี้ถือเป็นการยกเอาข้อยกเว้นที่นำมาถือเป็นสรณะไม่ได้ ในสหรัฐอเมริกายังมีโครงการเวนคืนเพื่อการก่อสร้างเขื่อนอีกมากมายเช่นกัน


ภาพที่ 1: พวกฝายเล็ก ๆ ก็เอามาอ้างว่ามีการรื้อเขื่อน (ใหญ่ๆ) เพื่อสร้างกระแสว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่เอาเขื่อนแล้ว: http://newswatch.nationalgeographic.com/2013/03/14/65-dams-removed-to-restore-rivers-in-2012/

          นอกจากนี้ในภูมิภาคนี้ ก็มีข่าว "เวียดนามล้มเขื่อนกว่า 300 แห่ง พบทำลายป่ากระทบสิ่งแวดล้อมสาหัส"{4} ซึ่งฟังดูประหนึ่งว่าการสร้างเขื่อนเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ในความเป็นจริง นี่อาจเป็นหนึ่งในข่าวลวง เพราะเวียดนามมีเขื่อนอยู่ไม่กี่เขื่อน และยังกำลังวางแผนเปิดเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 12 แห่ง {5} 
          ในกรณีการเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกานั้น เขายังใช้ถ่านหิน แก๊สและน้ำมันผลิตไฟฟ้า 76% ของไทย 89% เขาใช้เขื่อนน้ำผลิตไฟฟ้า 8% ไทยใช้ 11% และใช้พลังงานสายลม-แสงแดดอีก 5% แต่ของไทย 0.2% เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเขาใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 10% ของไทยไม่มี


ภาพที่ 2: ที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: http://nuclearinfo.net/Nuclearpower/CurrentReactors

          เราพึงเปรียบเทียบให้ชัดว่า สหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าไทย 18 เท่า มีความหนาแน่นของประชากรเพียง 34 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ไทยสูงถึง 131 คน แล้วไทยจะผลิตไฟฟ้าจากสายลม-แสงแดดได้พอใช้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอเมริกา ผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 10% แต่ไทยไม่กล้าผลิต เวียดนามก็กำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ของไทยทำไม่ได้


ภาพที่ 3: แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนาม
ที่มา: www.world-nuclear.org/info/Country-Profiles/Countries-T-Z/Vietnam/#.UlHnz6I5Oic

          ประเทศไทยกำลังถดถอย เพราะประเทศอื่นกำลังพัฒนา เช่นเวียดนาม มีการวางแผนไว้ถึงระยะ พ.ศ.2573 ว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง แต่ของไทย ไม่กล้าแม้แต่จะคิด เพราะถูกกีดขวางไปหมด จะใช้น้ำมันก็ไม่ได้ ถ่านหินก็ไม่ได้ พลังน้ำก็ไม่ได้ ต้องใช้สายลม-แสงแดดเป็นหลัก ประเทศเช่นนอร์เวย์ ลาว นิวซีแลนด์ ผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติได้ แต่ประเทศที่มีประชากรมาก เช่น สวีเดน เขมร ไทย เวียดนาม คงผลิตได้ไม่เพียงพอ


ภาพที่ 4: แผนที่แสดงโครงการเวนคืนเพื่อก่อสร้างเขื่อนในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: http://www.usbr.gov/projects/DynamicMap.jsp

          บางท่านอาจยกตัวอย่างญี่ปุ่นว่ายังรักษาป่าไว้ถึง 67% ของพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ความจริงก็คือญี่ปุ่นที่มีขนาดเพียง 71% ของไทยนั้น มีพื้นที่เพาะปลูกได้เพียง 12% เท่านั้น {6} ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา-ภูเขาสูง บุกรุกขึ้นไปอยู่คงไม่ไหวเองต่างหาก ญี่ปุ่นมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 3,076 แห่ง และกำลังจะสร้างเพิ่มอีกมาก ขณะที่ไทยมีเพียง 218 แห่ง (ถ้ารวมอ่างเก็บน้ำใหญ่น้อย ไทยอาจมีมากกว่านี้ แต่นี่ใช้มาตรฐานเดียวกัน) เท่านั้น {7} ยิ่งกว่านั้นเขายังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตไฟฟ้า


ภาพที่ 5: โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าใครกลัวนิวเคลียร์ ก็ไม่ควรไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกเลย
ที่มา: www.japanfocus.org/-Sachie-MIZOHATA/3648

          โดยสรุปแล้วทั่วโลกยังมีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนมากกว่าการทุบทิ้ง แต่ในกรณีเขื่อนแม่วงก์จะดีหรือไม่ก็คงต้องพิจารณากันให้ถ้วนถี่ เพราะที่รายงาน EIA ไม่ผ่านสักทีก็เพราะมีการเรียกร้องให้ศึกษาเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความรอบคอบ แต่อย่าให้กลายเป็นการศึกษาที่เพิ่มประเด็นโดยไม่สิ้นสุดก็แล้วกัน


ภาพที่ 6: ญี่ปุ่นมีเขื่อน-อ่างเก็บน้ำมากมาย 3,076 แห่ง
(ที่มา: http://atlas.gwsp.org/index.php?option=com_content&task=view&id=207&Itemid=68 และhttp://maps.ontarget.cc/dams/en.html)

อ้างอิง
{1} Clinton urges Mekong nations to avoid US dam mistakes: www.bangkokpost.com/news/asia/302366/clinton-urges-mekong-nations-to-avoid-us-dam-mistakes
{2} สฤณี อาชวานันทกุล. เศรษฐศาสตร์การรื้อเขื่อน โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1842 และดูที่ https://www.facebook.com/ThaiDecommissionPakMunDam/posts/477562968975461
{3} เขื่อน Condit: http://en.wikipedia.org/wiki/Condit_Hydroelectric_Project
{4} เวียดนามล้มเขื่อนกว่า 300 แห่ง พบทำลายป่ากระทบสิ่งแวดล้อมสาหัส ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 ตุลาคม 2556 20:46 น. http://www.manager.co.th/indochina/viewnews.aspx?NewsID=9560000124147
{5} Dams in Vietnam. http://www.internationalrivers.org/resources/planned-dams-in-vietnam-4079
{6} โปรดดูข้อมูลของ CIA www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ja.html
{7} โปรดดู www.icold-cigb.net/GB/World_register/general_synthesis.asp?IDA=206


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved