อ่าน 3,386 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 151/2556: 25 ตุลาคม 2556
         ถ้าได้สร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี พ.ศ.2525 ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ถ้าได้สร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี พ.ศ.2525 ด้วยเงินเพียง 3,761 ล้านบาท ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว ถ้าในอีก 30 ปีข้างหน้าถึงจะสร้าง จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นถึง 43,128 ล้านบาท
          ในส่วนต่อไปนี้เป็นการคำนวณทางการเงินเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ถึงการสูญเสียโอกาสในการไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอดีต และในอนาคตจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น
          1. ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน {1}
          2. ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา
          3. หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการด้วยเงิน 3,761 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% เป็นระยะเวลา 15 ปี ก็เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท หรือ =8%/(1-(1/(1+8%)^15))*3,761 และตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี
          4. หากยิ่ง "ซื้อเวลา" ออกไป และหากสร้างในอีก 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2586) ค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 43,128 ล้านบาท หรือ = (((1+4.08%)^30)*13,000)หรือแพงขึ้นเป็น 3.32 เท่า (332%) ทั้งนี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมคือ 4.08% ยิ่งปล่อยนานวันไป ประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย
          5. ถ้าต้องมีเงิน 43,128 ล้านบาท ในการก่อสร้างเขื่อนในอีก 30 ปีข้างหน้า นับแต่วันนี้ไปอีก 30 ปี รัฐบาลต้องเริ่มสะสมเงินปีละ 759 ล้านบาท หรือเดือนละ 63 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% ต่อปี หรือ = 4.08%/(((1+4.08%)^30)-1)*43,128 จึงจะได้เงินจำนวนดังกล่าว นี่คือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการ "เตะถ่วง" โครงการอย่างไม่สิ้นสุด
          6. หากสมมติให้ผลตอบแทนจากเขื่อนเป็นเงิน 5% ของ 3,761 ล้านบาทหรือ 188 ล้านบาทต่อปี และเก็บกินมาได้แล้ว 23 ปี (31 ปีที่ผ่านมาลบด้วย 8 ปีในการก่อสร้าง) ก็จะได้เม็ดเงิน ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% เป็นเงินถึง 6,952 ล้านบาท หรือ = ((((1+4.08%)^23)-1)/4.08%)*(3,761*0.05) นี่คือโอกาสที่สูญเสียไปจากการไม่ได้สร้างเขื่อนแม่วงก์
          ที่ผ่านมามีการ "เตะถ่วง" โครงการมาโดยตลอด เช่น พอจะสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2525 ก็ปรากฏว่า
          พ.ศ.2532 ให้ไปศึกษา EIA
          พ.ศ.2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น เช่น เขาชนกัน
          พ.ศ.2541 ให้ทำประชาพิจารณ์
          พ.ศ.2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน
          พ.ศ.2556 ก็อ้างว่าต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรมแม่วงก์ที่จะเอามาสร้างเขื่อน ที่ทั้งปลูกทั้งฟื้นฟูมามีอายุ 5-18 ปีแล้ว ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมที่เคยมีชาวเขา 200 กว่าครัวเรือนอยู่แล้ว ห้ามสร้างเขื่อนอีก {3}
          การตัดสินใจอย่างรวดเร็วและชัดเจน ฝ่ามายาคติ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศชาติโดยรวม

อ้างอิง:
{1} โปรดดู http://maha-arai.blogspot.com/2013/09/blog-post_25.html
{2} มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=840
{3} ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมเพื่อต้านเขื่อนแม่วงก์: www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement589.htm


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved