อ่าน 2,852 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 154/2557: 8 ตุลาคม 2557
เตือนภัยธุรกิจอสังหาฯ ปี 2558:
หนี้ครัวเรือน ส่งออก-ท่องเที่ยวทรุด แบงค์ให้กู้ไม่ยั้ง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ถึงแม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 มากกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่มีความอึมครึมทางการเมือง แต่ก็มีสัญญาณเตือนภัยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2558 เกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายและแผน สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ นักลงทุนและผู้ซื้อบ้าน พึงสังวร
          ในตัวเลขช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม - สิงหาคม 2557) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ประมาณการตัวเลขเปิดใหม่ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ตลอดทั้งปี 2557 ไว้ว่า น่าจะมีหน่วยขายเปิดใหม่ 101,901 หน่วย รวมมูลค่า 308,566 ล้านบาท หรือหน่วยละ 3.028 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีหน่วยเปิดใหม่ 131,645 หน่วย ที่มูลค่า 385,447 ล้านบาท จะพบว่าในปี 2557 ทั้งปีนี้ จะมีหน่วยขายเปิดลดลงประมาณ 23% และมูลค่าการพัฒนาลดลงประมาณ 20%
          ตามหลักแล้วปี 2558 น่าจะดีกว่าปี 2557 เพราะความวุ่นวายทางการเมืองคงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลและ คสช. ยังประกาศกฎอัยการศึกอยู่ ทำให้การเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่อาจเกิดขึ้นได้ และจากประสบการณ์หลังการตกต่ำเพราะน้ำท่วมปี 2554 ก็พบว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ของปีถัดไปคือปี 2555 และ 2556 เติบโตเป็นอย่างมาก ดังนั้น ดร.โสภณ จึงคาดการณ์เบื้องต้นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2558 น่าจะดีกว่า
          อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณเตือนภัยเกิดขึ้นชัดเจน ดังนี้
          1. เนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึก จึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ประกอบการการท่องเที่ยวพัทยาเริ่มสะท้อนภาพการทรุดหนักของการท่องเที่ยวแล้ว แม้รัฐบาลจะพยายามชี้แจงว่ากฎอัยการศึกของไทย อาจแตกต่างจากกฎอัยการศึกของสากลที่เขาใช้กันในภาวะสงครามระหว่างประเทศหรือสงครามภายในประเทศ แต่กฎอัยการศึกของไทยไว้ควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในระดับสงครามแต่อย่างใด จากข้อมูล 8 เดือนแรกของปี 2557 นักท่องเที่ยวลดลงถึง 16% หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จำนวนนักท่องเที่ยวคงหายไป 4 ล้านคน และในความเป็นจริงควรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 ล้านคน ดังนั้นก็เท่ากับนักท่องเที่ยวหายไป 6 ล้านคน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวเป็นอย่างหนัก
          2. หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้โอกาสการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์จะลดลง กำลังซื้อที่คาดว่าจะมีก็อาจ "เหือดหาย" ไปในปี 2558 ก็ได้  บริษัทพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่คาดการณ์ว่าจะเปิดตัวโครงการมากมายในปี 2558 อาจ "ผิดแผน" และต้องปรับตัวใหม่ก็ได้
          3. การส่งออกคงไม่เจริญเติบโต ทำให้เศรษฐกิจไม่มีเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งหดตัวลง ประเทศจะเจริญได้ต้องอาศัยการส่งออก ไม่ใช่อาศัยนโยบาย "อัฐยายซื้อขนมยาย" อย่างเด็ดขาด การส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเพียงนโยบายชั่วคราวแบบ "ไฟไหม้ฟาง"
          4. การอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งในปัจจุบันแข่งขันกันปล่อยกู้กันอย่างมาก สถาบันการเงินหลายแห่งให้กู้สูงถึง 100% หรือ 110% ของมูลค่าตลาด ซึ่งหากเกิดวิกฤติเงินฝืดขึ้นมา ก็อาจทำให้สถาบันการเงินล้มลงเช่นในยุคก่อนได้
          หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างได้ผลชะงัด นอกเหนือจากการโปรยเงินให้กับภาคเกษตรต่าง ๆ เช่น ชาวนา ชาวสวนยาง และต่อไปคงมีชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวไร่อ้อย ชาวสวนผัก ชาวปศุสัตว์ ฯลฯ คงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคด้วยการลงทุนจากต่างประเทศบนพื้นฐานสัญญาที่เป็นธรรม โดยไม่กลายเป็นเช่น "ค่าโง่ทางด่วน" ในอดีตที่ผ่านมา


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved