อ่าน 4,281 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 183/2557: 18 พฤศจิกายน 2557
ขอสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อคน ป่าและสัตว์ป่า

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่มีข่าวการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และคณะนักวิจัยที่สำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ขอแถลงสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยมีรายละเอียดดังนี้:

          1. ประชาชนในพื้นที่ต้องการเขื่อนแม่วงก์ ต้องฟังคนในพื้นที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ
          รัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่เสียงของเอ็นจีโอ ผลการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ก็พบว่า จำนวนประชาชนในพื้นที่ที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 226,993 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยได้ลดลงเหลือ 90,721 คน เทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 71% ต่อ 29% นั่นเอง การที่มีประชาชนเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะกระแสต้านเขื่อนลดลง
          เกษตรกรหลายรายในเขตอำเภอลาดยาวแสดงความคิดเห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากทุกปีทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายมาก อย่างเช่นในปีล่าสุดนี้เมื่อน้ำป่าเริ่มไหลหลากมา เกษตรกรจำนวนมากก็ต้องเกี่ยวข้าวขึ้นมาก่อนเวลาอันสมควร และขายได้ในราคาเกวียนละเพียง 3,000 - 4,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประกันเป็นเงินเกวียนละ 13,000 บาท นับเป็นการขาดทุนและความสูญเสียของเกษตรกรเหล่านี้
          ในกรณีเขื่อนแม่วงก์นี้ประชาชนได้สรุปบทเรียนมานับ สิบ ๆ ปีแล้วว่าเขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งได้ ก็ควรที่จะสร้าง เพราะได้ประโยชน์ต่อประชาชนถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หาไม่บริษัทต่างชาติจะย้ายหนี ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย หรือนำเงินไปช่วยเยียวยาในกรณีประสบเภทภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

          2. รายงาน EHIA EIA ก็ระบุชัดว่าการสร้างเขื่อนมีข้อดีมากกว่า
          รายตามรายงานระบุข้อดีของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไว้ดังนี้:
          1. จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาตรเก็บกักประมาณ 258 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมงน้ำจืด รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น
          2. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด
          3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทีดินด้านการเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40%
          4. การยกระดับรายได้ของเกษตร ซึ่งเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝน และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งผลผลิตพืชฤดูแล้ง
          5. เพิ่มผลผลิตด้านสัตว์น้ำและการประมงน้ำจืด ประมาณปีละ 165 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดปีละ 7.13 ล้านบาท รวมทั้งทำให้นิเวศน์ด้านท้ายน้ำในลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
          6. อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยในปี พ.ศ.2542 มีไฟป่าเกิดขึ้นถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่
          7. ทำให้สมบัติของดินโดยรอบอ่างเก็บน้ำและในพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติรวมทั้งพืชเกษตรกรรม
          8. สัตว์ป่าจะได้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำในด้านการเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร
          9. มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว
          10. ทำให้สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้มดีขึ้น
          ข้างต้นคือผลสรุปรวบยอดจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งถือเป็นผู้ที่รู้จริงจำนวนมาก ที่เด่น ๆ ได้แก่ ผศ.ดร.บญส่ง ไข่เกษ (คุณภาพน้ำ) ดร.สกุล ห่อวโนทยาน (สจล.ลาดกระบัง: ชลประทาน) ผศ.สารัฐ รัตนะ (ม.เกษตรฯ: การจัดการอุทยานฯ) รศ.ดร.ปรีชา ธรรมานนท์ (วนศาสตร์ ม.เกษตรฯ: ป่าไม้/จัดการลุ่มน้ำ) รศ.ดร.วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (ม.เกษตรฯ: สัตว์ป่า) รศ.ดร.ประทักษ์ ตาบทิพย์วรรณ (ประมง ม.เกษตรฯ: นิเวศวิทยา) ดร.เสถียร รุจิรวนิช (จุฬาฯ: การมีส่วนร่วม) ดร.โกมล ศิวบวร (มหิดล: ผลกระทบต่อสุขภาพ) ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ (ม.เกษตรฯ: สิ่งแวดล้อม) ดร.กิจจา จิตรภิรมย์ (ว.ราชสีมา: ระบาดวิทยา) รศ.ดร.ชวเลข วณิชเวทิน (วิศวฯ ม.เกษตรฯ: คมนาคม) เป็นต้น
          ส่วนข้อเสียนั้นสามารถแก้ไขได้ เช่น
          1. ในข้อที่เสียป่า 12,300 ไร่นั้นเป็น 2.2% ของอุทยานฯ หรือ 0.1% ของผืนป่าตะวันตกทั้งหมด เป็นอดีตป่าเสื่อมโทรม คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ แต่ก็ส่งผลให้เกิดแหล่งน้ำสำหรับสัตว์เพิ่มขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้น อาจทำให้ป่าไม้โดยรอบหนาแน่นกว่าเดิมชดเชยส่วนที่เสียไปได้ รวมทั้งประโยชน์ที่จะตกแก่ประชาชนถึงราว 50,000 คน
          2. ในส่วนของอาคารที่ทำการ ไม่กี่อาคาร ที่เป็นไม้ก็คงสามารถรื้อไปสร้างใหม่ได้ ส่วนที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก็คงต้องสูญเสียไป แต่คงมีมูลค่าน้อย
          3. ในส่วนของต้นไม้ ซึ่งก็คงซ้ำซ้อนกับข้อแรก และต้องโปร่งใสนำไม้ที่ตัดได้มาขายเพื่อลดต้นทุนให้กับโครงการ และระมัดระวังไม่ให้เงินรั่วไหล หรือมีการตัดไม้เกินจำนวน ซึ่งทางราชการต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และเป็นช่องทางเชิงสร้างสรรค์ของ NGOs ที่จะทำงาน "ปิดทองหลังพระ" ส่งอาสาสมัครเข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
          4. ในส่วนของแหล่งโบราณคดี 6 จุด ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีได้อย่างไรในพื้นที่ป่าแห่งนี้ แต่ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการก่อสร้างทางหลวง ก็เคยมีการยกย้ายเจดีย์แล้วสร้างใหม่ข้าง ๆ ให้พ้นจากเขตทางมาแล้ว ที่เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงการณ์ก็ย้ายวัดมาแล้ว ก็ไม่ทำให้วัฒนธรรมสูญหายแต่อย่างใด
          5. ในส่วนของแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิม คงไม่เป็นปัญหานัก เพราะเมื่อมีเขื่อน ก็จะเกิดแหล่งท่องเที่ยวอื่น มากกว่า 3 แก่งนี้ โดยเฉพาะกรณีนกยูง ก็เป็นนกยูงที่จับมาเลี้ยง พวกเอ็นจีโอก็นำมาสร้างภาพต่อ
          6. ในส่วนของการชดเชย ทางราชการก็คงรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่ในต้นทุนของโครงการไว้แล้ว และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
          สาธารณชนจึงควรมองเห็นภาพเชิงซ้อน/ซ่อนเร้นให้ชัดว่า ในขณะที่มีการเสนอสร้างเขื่อนบนที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ ก็มีการตั้งแง่ให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่นให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น (พ.ศ.2537) ให้ทำประชาพิจารณ์ (พ.ศ.2541) ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ (พ.ศ.2546) เป็นต้น เขื่อนก็ไม่ได้สร้างสักที ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นทุกวันเพื่อให้ฝ่ายต้านเขื่อนมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าสร้างเขื่อนแต่แรกก็คงไม่มีข้ออ้างเรื่องป่านี้ สาธารณชนพึงทราบว่า แม้แต่เสือก็ไม่มีในบริเวณที่สร้างเขื่อนมีแต่ในบริเวณอื่น นกยูงที่แก่งลานนกยูงก็จับมาเลี้ยงสร้างภาพ แรกๆ ยังถูกสุนัขกัดตายไปก็มี

          ความพยายามในการฉ้อฉลเหล่านี้ทำลายประโยชน์ของประชาชนคนเล็กคนน้อยที่จะมีเขื่อนไว้ป้องกันน้ำท่วม แก้ฝนแล้ง ระบบชลประทาน ระบบประปา ระบบผลิตไฟฟ้า การประมง การท่องเที่ยว ฯลฯ การสร้างเขื่อนยังเป็นผลดีต่อป่าไม้ที่จะมีน้ำให้ป่าไม้เขียวชอุ่ม มีน้ำไว้ดับไฟป่า เมื่อป่าสมบูรณ์ สัตว์ป่าก็สมบูรณ์ มีน้ำ มีอาหารเพียงพอ เขื่อนยังเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ทำให้สัตว์ป่ามีมากขึ้น เช่นกรณีเขื่อนเชี่ยวหลานที่สัตว์ป่ากลับมาชุกชุมกว่าเดิมก่อนสร้างเขื่อนเสียอีก

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved