อ่าน 2,720 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 201/2557: 15 ธันวาคม 2557
     ดัชนีความโปร่งใส: ยิ่งจน ยิ่งโกง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงดัชนีการทุจริต (Corruption Perception Index หรือ CPI) ขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในปี 2557 นี้ดัชนีความโปร่งใสของไทยดีขึ้นจาก 3.5 เต็ม 10 เป็น 3.7 (www.transparency.org/cpi2014/results) แสดงว่าประเทศไทยมีระดับความโปร่งใสดีขึ้น

          อย่างไรก็ตามดัชนีการทุจริตขององค์กรความโปร่งใสนานาชาตินี้ เป็นดัชนีที่ใช้ข้อมูลในรอบไม่เกิน 24 เดือนล่าสุด (http://goo.gl/cmikmI) ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วก็ใช้ข้อมูลของกลางปี 2557 หรือปลายปี 2556 ดังนั้นการที่ความโปร่งใสของไทยกระเตื้องขึ้นจึงอาจถือได้ว่าเป็นผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนผลงานความโปร่งใสของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะปรากฏให้เห็นในการแสดงดัชนีความโปร่งใสที่จะเผยแพร่ในปลายปี 2558 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า
          ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือความโปร่งใสหรือการทุจริตมีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรกับรายได้ประชาชาติต่อหัว ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำ จะมีการทุจริตมาก ส่วนประเทศที่มีความโปร่งใสมักมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง ถือได้ว่ามีระดับความยากจนไม่มากนัก ประชากรจะมีฐานะดีกว่า การทุจริตก็จะน้อยกว่าไปด้วยนั่นเอง เข้าทำนอง "ยิ่งจน ยิ่งโกง" "ยิ่งรวย ยิ่งไม่โกง"
          จากดัชนีความโปร่งใสของ Transparency International ในปีก่อนหน้า พบว่าในจำนวนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการสำรวจนี้ 178 ประเทศ พบว่ากลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสสูงสุดประกอบด้วย เดนมาร์ค นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ โดยได้คะแนนเท่ากันคือ 9.3 เต็ม 10 รองลงมาคือฟินแลนด์และสวีเดนที่ต่างได้คะแนน 9.2 กลุ่มที่สองที่ได้คะแนน 8-8.9 นั้นประกอบด้วย แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซแลนด์ ลักเซ็มเบอร์ก ฮ่องกง และไอร์แลนด์ (เรียงตามคะแนนสูงสุดลงมา)
          ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุด เรียงตามลำดับที่น้อยที่สุดขึ้นไปตามลำดับประกอบด้วย โซมาเลีย เมียนมาร์ อาฟกานิสถาน อิรัก อุสเบกิสถาน เตอร์กเมนิสถาน ซูดาน ชาด บูรุนดิ อิเควตอเรียลกีอานา และแองโกลาตามลำดับ ประเทศเหล่านี้มักเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญเท่าที่ควร คงมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และมีจำนวนมากเป็นประเทศในทวีปอาฟริกา รวมทั้งประเทศใหม่ที่แยกตัวจากอดีต สหภาพโซเวียต
          สำหรับในกรณีประเทศไทย ดัชนีการทุจริตที่แสดงคะแนนความโปร่งใสของไทยอยู่ที่ 3.5 เต็ม 10 ในปี พ.ศ. 2553 และในช่วงปี 2555-2557 ได้คะแนน 3.8 3.5 และ 3.7 ตามลำดับ หากพิจารณาจากแนวโน้มระยะยาว จะพบว่าความโปร่งใสของประเทศไทยดีขึ้น เพราะในปีแรกของการวัด คือปี พ.ศ. 2541 พบดัชนีอยู่ที่ 3.0 อาจสังเกตได้ว่า ดัชนีการทุจริตของไทยคงที่ ณ 3.2 ในช่วงปี พ.ศ.2542-2545 และเริ่มดีขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2546 – 2548 ตามลำดับ โดยดัชนีเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.8 จาก 10 ในปี พ.ศ.2548 อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็กลับลดลงในปี พ.ศ.2549 – 2550 สำหรับในช่วงปี พ.ศ.2551-2553 นั้นกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงสูงสุดคือในช่วงปี พ.ศ.2547-2548
          จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างดัชนีการทุจริต (CPI: Corruption Perceptions Index) กับรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita: Gross Domestic Products per capita) พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรอยู่พอสมควรโดยค่า R Square ที่แสดงความสัมพันธ์เชิงตัวแปรทั้งสองตัวแปร ได้ค่า 0.6756 ในปี 2553 และทั้งหมดอยู่ระหว่าง 0.6483 (ในปี พ.ศ.2552) ถึง 0.7491 ในปี พ.ศ.2545 และมีจำนวนประเทศในการวิเคราะห์ระหว่าง 81 - 175 ประเทศ
          หากประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปต้องรักษาความโปร่งใสให้ดีที่สุด เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะคงหานักลงทุนที่จะลงทุนในประเทศที่มีการโกงกันสะบั้นหั่นแหลกไม่ได้ และเมื่อมีการลงทุนเพิ่มเติม เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ไทยก็จะดีขึ้นตามลำดับ
          ดูอย่าง พม่า ลาว กัมพูชา ที่รายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำมาก เพราะความโปร่งใสน้อยเหลือเกิน การกระจายรายได้คงไม่ทั่วถึง ส่วนประเทศที่โปร่งใสสูงเช่นบรูไน สิงคโปร์ กลับมีความโปร่งใสสูง รายได้สูง มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
          กรณีนี้อาจดูขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า "ยิ่งรวย ยิ่งโกง" แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า "ยิ่งจน ยิ่งโกง" ในประเทศที่รวย อาจมีคนรวยโกงเหมือนกันแต่เนื่องจากมีกฎระเบียบต่าง ๆ เข้มงวด โอกาสโกงจึงน้อบ คนรวยที่โกง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ "โรคจิต" เช่น ไปขโมยของในห้างสรรพสินค้า แต่คนจนมีโอกาสที่จะโกงเพราะความจำเป็นเป็นพื้นฐาน


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved