อ่าน 2,182 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 204/2557: 17 ธันวาคม 2557
ย้ำ ไทยควรสร้างเขื่อนแม่วงก์!

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ผมดูงานเมืองทั่วโลกมาไม่ต่ำกว่า 150 เมือง แต่ขอยกประสบการณ์แค่ 3 เมืองมาชี้ให้ท่านเห็นว่า "เขื่อนแม่วงก์" จำเป็นอย่างไรสำหรับประเทศไทย ผมนำหลักคิดที่ไม่ "ดรามา" จากมุมมองในต่างประเทศมาให้พิจารณา จริงๆ ตอนแรกผมก็ไม่เอาเขื่อน แต่ไตร่ตรองจากข้อมูลรอบด้านแล้ว สร้างเขื่อนดีกว่า ผมมีภาพ 3 ภาพมาให้ดูให้ "ตาสว่าง" กันนะครับ

วิวกรุงโตเกียวจาก Tokyo Skytree

          ในปีนี้เอง ผมพาคณะอาจารย์ นักพัฒนาที่ดินและนักอุตสาหกรรมก่อสร้างไปดูงานอสังหาริมทรัพย์ที่กรุงโตเกียวถึง 75 คน ผมพาขึ้นตึกที่สูงที่สุดในกรุงโตเกียวคือ Tokyo Skytree ภาพนี้ ท่านจะเห็นความหนาแน่นของตึกรามบ้านช่องในกรุงโตเกียว เขาอยู่กันอย่าง "หนาแน่น" (High Density) แต่ไม่ "แออัด" (Overcrowdedness)
          ความหนาแน่นของประชากรในกรุงโตเกียวสูงถึง 6,100 คนต่อตารางกิโลเมตร สูงกว่ากรุงเทพมหานครที่ 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตรถึงเกือบเท่าตัว ยิ่งถ้ารวมนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการเข้ากับกรุงเทพมหานครด้วยแล้ว ความหนาแน่นของประชากรในภาคมหานครจะลดลงเหลือเพียง 1,900 คนต่อตารางกิโลเมตร นครที่หนาแน่นกว่าโตเกียวคือสิงคโปร์ (ราว 7,000 คนต่อตารางกิโลเมตร) และนครนิวยอร์ก (ราว 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร)
          นี่แสดงว่าคนอยู่กันอย่างหนาแน่นเพียงใดก็ได้ อยู่ที่การจัดระเบียบ ในกรุงเทพมหานครเสียอีกที่เรารู้สึกแออัดเพราะเติบโตแนวราบ หน่วยงานวางผังเมืองไทยเราพยายามไม่ให้กรุงเทพมหานครเติบโตไปในแนวดิ่ง ผลร้ายก็คือความเป็นเมืองแผ่ขยายออกไปในแนวราบ เดี๋ยวนี้บางนาที่ทำนาได้ดีกว่าอยุธยาก็หมดไปแล้ว ชนบทของอยุธยาเองก็ค่อย ๆ ถูกรุกทำลายไปเพระการวางผังเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ

          ลองมองภาพกรุงโตเกียวอีกครั้ง ท่านจะได้ข้อสังเกตอีก 3 ประการเป็นอย่างน้อย
          1. ประการแรก แทบไม่มีต้นไม้หรือสวนสาธารณะเลย ถ้าเป็นในไทยคง "ดรามา" กันใหญ่ว่าจะหายใจไม่ออก ไทยวางผังเมืองกระทั่งไป "ยึด" เอาที่ดินเอกชนที่บางกระเจ้ามาเป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ" โดยไม่ได้ขอ ไม่ได้ชดเชยให้พวกเขาสักบาท
          2. อาคารสร้างติดๆ กัน เพราะราคาที่ดินแพง จะมัวแต่มาถอยหน้าถอยหลังคงไม่ได้ ถ้าเป็นในกรุงเทพมหานคร พวกนักผังเมืองก็คงไม่ยอม บอกดูไม่งามตาและอาจไฟไหม้ได้ ทั้งที่ๆ กรุงโตเกียว เขามีท่อแก๊สอยู่ใต้ดินอีกต่างหาก ไทยเราจึงไม่ควรอ้างความไร้ประสิทธิภาพในการดับเพลิงมากีดขวางความเจริญ
          3. สะพานข้ามแม่น้ำสายต่างๆ ของเขามีถี่ยิบเลย ประมาณทุก 500 เมตร เช่นเดียวกับใจกลางกรุงปารีส แต่โดยเฉลี่ยประมาณทุก 1 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับกรุงโซล แต่ของไทยมีสะพานทุกระยะ 2 กิโลเมตร จึงทำให้ประชาชนที่อยู่ฝั่งธนบุรีเป็นเสมือน "ลูกเมียน้อย" กว่าจะเข้าคิวข้ามสะพานมาทำงานฝั่งกรุงเทพมหานครได้ ก็แทบแย่
          การที่นครต่าง ๆ ในญี่ปุ่นอยู่กันอย่างหนาแน่นตามชายฝั่ง ก็เพราะเขามีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อยู่ไม่ได้ ญี่ปุ่นมีขนาด 377,944 ตารางกิโลเมตร หรือราว 74% ของไทย แต่มีประชากรถึง 127 ล้านคน และ 92% ของประชากรอยู่ในเขตเมือง ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ชนบท บ้างก็รุกป่าซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ (บางส่วน) ไม่รู้เห็นเป็นใจ คงทำได้ยาก ประกอบกับงบการป้องปรามการบุกรุกทำลายป่าก็น้อย มีแต่งบปลูกป่าเอาหน้าเป็นหลัก
          ในญี่ปุ่นมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 3,116 แห่ง (http://goo.gl/7KL8so) ถ้าเป็นในไทยก็คงมีคน "ดรามา" กันใหญ่แล้วว่าสร้างไม่ได้ น้ำนั้นหนัก เดี๋ยวเกิดแผ่นดินไหว เขื่อนจะแตก และแต่ชาวญี่ปุ่นไม่ถูกใครใช้ความกลัวมาหลอกให้หลงทั้งที่อยู่ในแนวแผ่นดินไหว บนภูเขาเขาจึงสร้างเขื่อนมากมาย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง แต่ในขณะที่หน้าฝน ก็ยังพออุ้มน้ำไว้ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย
          เขื่อนจึงอุ้มน้ำไว้ได้ดีกว่าป่าแน่นอน! ป่าแม้จะซับน้ำไว้ได้บ้าง แต่ก็มักเกิดปรากฏการณ์น้ำป่าไหลหลาก ไหลลงไปทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากมายในแต่ละปีในประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในเขตป่าสมบูรณ์แท้ๆ ผมเคยยกตัวอย่างให้เห็นว่าที่นครเซียะเหมินอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเซี๊ยะเหมินที่ผมไปบรรยายให้กับนักศึกษาปริญญาเอกด้านการพัฒนาเมืองฟังนั้น บนภูเขา ๆ มีเขื่อนกักเก็บน้ำทั้งใหญ่เล็กไว้มากมาย การปล่อยให้น้ำจากฟ้าไหลลงทะเลไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ดูเมืองเซียะเหมิน มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเต็มภูเขาไปหมด

          ผมยังไปประเมินค่าโรงงาน วิจัยตลาดโรงแรมและประชุมสัมมนาที่เว้ ดานังและฮอยอันอยู่เป็นระยะ ๆ ภาพแบบ "Amazing" ที่หลายท่านคงไม่เชื่อสายตาตัวเองก็คือ การมีนาข้าวอยู่ริมทะเล เวียดนามก็คล้ายญี่ปุ่น มีขนาดเพียง 65% ของประเทศไทย แต่มีประชากรถึง 90 ล้านคน ลำพังการปลูกข้าวเลี้ยงประชาชนก็แสนเข็ญแล้ว แต่บัดนี้เวียดนามกลายเป็นประเทศส่งออกข้าวใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเช่นเดียวกับไทย
          นึกถึงภาพชาวนาเวียดนามที่ทำนาริมทะเลได้ปีละ 3 ครั้ง เรียกได้ว่าผืนนาแทบไม่มีวันพักเลย เทียบกับภาพชาวนาไทยที่ปลูกข้าวได้แค่หนเดียวเพราะขาดน้ำ แถมจะปลูกข้าวนาปรังอีกสักหนเพื่อที่จะ "ลืมตาอ้าปาก" ได้บ้าง ทางราชการกลับบอกว่า "ผิดกฎหมาย" (http://goo.gl/gfdYfB) ที่นาไทยจึงถูกใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

Amazing เวียดนาม: ทำนาถึงริมทะเล

          ย้อนมาถึงเขื่อนแม่วงก์ ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงที่จะสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ต่างลุ้นที่จะให้มีเขื่อนแม่วงก์กันแทบร้อยทั้งร้อย ทุกวันนี้พวกเขาเห็นน้ำจากลำน้ำเรวา ไหลทิ้งไปเปล่าๆ ปลี้ๆ โดยไม่มีเขื่อนกักเก็บ (ป่าเก็บน้ำได้ซะที่ไหน) แถมไหลไปท่วมอำเภอลาดยาวบ่อยๆ พอหน้าแล้ง ชาวนาก็ต้องขุดบ่อบาดาล เสียเงินนับหมื่น แถมน้ำที่ขุดได้ ณ ระดับความลึกถึง 60-120 เมตร ก็ยังดื่มไม่ได้เพราะมีสนิมเสียอีก
          การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงจะช่วยให้พวกเขามีน้ำกิน น้ำใช้มากขึ้น งานนี้ผมเชื่อชาวบ้านมากกว่าพวกต้านเขื่อน เพราะเขาอยู่ในพื้นที่มานาน รู้ทางไหลของน้ำดีกว่าใคร การสร้างฝาย ขุดบ่ออะไรที่เอ็นจีโอเสนอ เขาก็ทำกันมาแล้ว แต่ไม่ได้ผลเท่าการสร้างเขื่อน

          ถ้าวันนี้การสร้างเขื่อนแม่วงก์ถูกห้ามไว้ ต่อไปประเทศไทยก็แทบทำอะไรไม่ได้ เท่ากับถูก "มัดตราสังข์" จน "ง่อยเปลี้ยเสียขา" ในขณะที่เพื่อนบ้านโลดทะยานกันใหญ่แล้ว


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved