อย่าปั้นตัวเลข GDP ที่เติบโตดูดี แต่มีความเหลื่อมล้ำสูง
  AREA แถลง ฉบับที่ 24/2559: วันอังคารที่ 19 มกราคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          การ "ปั้น" ตัวเลขของรัฐบาล ที่จะทำให้ GDP สูง ๆ นั้น อาจกลับมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนซุกอยู่ใต้พรมก็ได้ เกิดอาการ "รวยกระจุก จนกระจาย" หายนะประเทศจะมาเยือน

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามจะ "ปั้นตัวเลข" อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP (Gross Domestic Products) แต่ในขณะนี้อาจเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำมาก ดังนั้นตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูดี อาจไม่สะท้อนภาวะที่แท้จริง
          ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือสาธารณรัฐบอตสวานาที่ ดร.โสภณ เคยไปประเมินค่ากาสิโนเมื่อปี 2558 ประเทศนี้อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้  ประเทศนี้กลายเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษและได้รับเอกราช เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2509 มีกรุงคาโบโรเน (Gaborone แต่ออกเสียง ค ควาย)  บอตสวานามีพื้นที่ 600,370 ตารางกิโลเมตร (มีขนาดใหญ่กว่าไทยเล็กน้อย) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และพื้นดินกว่าร้อยละ 70 ถูกครอบคลุมโดยทะเลทรายกาลาฮารี
          ประชากรของบอตสวานามี 2 ล้านคน โดยประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ของบอตสวานาติดเอดส์ถึง 23% ถึงประมาณ 3 แสนคนเศษๆ ในขณะที่ไทยมีประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ติดเอดส์ 1.1% แต่มีจำนวนมากกว่า 4 แสนคน ประชากรอยู่ในกรุงกาโบโรนถึงราว 6 แสนคน นอกนั้นกระจายตามพื้นที่อื่นๆ แต่ส่วนมากของพื้นที่เป็นทะเลทราย มีพื้นที่เพาะปลูกไม่ถึง 1% ของพื้นที่ทั่วประเทศ
          ที่น่าสนใจก็คือ ตั้งแต่ได้รับเอกราช บอตสวานาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเจริญเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในโลก และสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นจากหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมาเป็นประเทศรายได้ระดับกลางซึ่งมีจีดีพีเฉลี่ย 16,516 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 สูงกว่าไทยเกือบเท่าตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ค่าจ้างได้ขั้นต่ำ เป็นเพียง 40% ของไทย แสดงว่ามีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นอย่างมาก
          เป็นธรรมดาสำหรับประเทศยากจน (แต่จีดีพีสูงเพราะมีความเหลื่อมล้ำ) ที่อาจมีอาชญากรรมอยู่ตามสมควร ในเวลามืดค่ำ ไม่มีใครเดินอยู่ข้างถนน เพราะไม่ปลอดภัย ทุกคนปิดบ้านเงียบ แต่มีเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เวลาไปไหนต้องมองหน้าผู้คน (อย่างเป็นมิตร ไม่ใช่มองหน้าหาเรื่อง)  แสดงความระแวดระไว หาไม่จะถูกโจรเข้าโจมตีได้ สังเกตได้ว่าแม้แต่กลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษาตัวเล็ก ๆ ก็เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยได้ (ในเวลากลางวัน) อย่างไรก็ตามประเทศนี้ไม่ได้มีสถิติอาชญากรรมากเช่นอาฟริกาใต้ที่มีผู้คนคลาคร่ำกว่า
          ดอกเบี้ยเงินฝากของที่นั่นก็พอ ๆ กับบ้านเราคือ 2.25% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้คือ 9% ซึ่งถือว่ามีช่วงห่างมากกว่าเราเสียอีก การที่ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากมาก ๆ แสดงถึงการเป็น “เสือนอนกิน” ของธนาคาร เช่นที่เห็นอยู่ในประเทศไทยของเราในขณะนี้ ส่วนการซื้อบ้านก็สามารถกู้เงินได้ถึง 90% ของมูลค่าบ้าน ผ่อนได้ 15-20 ปีแบบบ้านเรา
          หากเทียบสัดส่วนระหว่างราคาที่ดินกับราคาบ้าน ประเทศไทยจะมีสัดส่วนเป็น 2:1 คือถ้าบ้านหลังละ 3 ล้าน ราคาในส่วนของที่ดินจะเป็นราว 2 ล้าน ส่วนของบ้านจะเป็น 1 ล้านบาท แต่ที่บอตสวานาจะตรงข้ามเลย ส่วนของที่ดินเท่ากับ 1 ส่วนของบ้านเท่ากับ 5 คือที่ดินที่นั่นมีมาก ประชากรน้อย ที่ดินแทบไม่มีราคา แต่ตัวบ้านต้องใช้แรงงานสร้าง มีราคาค่างวดมากกว่านั่นเอง ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา จะคล้ายบอตสวานา คือค่าที่ดินเป็น 1 ค่าก่อสร้างเป็น 2 ตรงข้ามกับประเทศไทย เพราะสหรัฐมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลกว่าไทยมาก ส่วนถ้าเป็นอินเดีย จะยิ่งกว่าไทย คือค่าที่ดินเป็น 7 ค่าสร้างบ้านเป็น 1 เพราะที่ดินที่อินเดียหายาก มีประชากรมากมายเหลือเกินนั่นเอง
          อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่สร้างรายได้ให้รัฐบาลถึงร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด ในต้นพุทธทศวรรษที่ 2550 มีการค้นพบแร่ยูเรเนียมในบอตสวานาและโครงการเหมืองแร่ยูเรเนียมมีกำหนดจะเริ่มในปี พ.ศ. 2553 บริษัทเหมืองแร่ข้ามชาติหลายแห่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำพื้นที่ในบอตสวานาโดยหวังที่จะมีโอกาสทำเหมืองเพชร ทอง ยูเรเนียม ทองแดง หรือแม้แต่น้ำมัน
          ในประเทศไทยในอนาคตคาดว่าจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อาจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม กลายเป็นปรากฏการณ์เชิงลบที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ดังนั้นแม้ GDP จะสูง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเครื่องชี้ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศหากกลายเป็นว่าประเทศชาติมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าคงจะไม่เติบโตมากนัก
          ทุกวันนี้บ้านราคาปานกลางขายได้น้อยลง ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็คือบ้านราคาแพงสำหรับคนที่มีฐานะดี ในปี 2559 นี้ก็ยังไม่เห็นว่าสินค้าเกษตรต่าง ๆ จะดีขึ้น การลงทุนต่าง ๆ จะเด่นชัดมากนัก ดังนั้นความเหลื่อมล้ำจึงอาจเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยิ่งทำให้คนรวย ๆ ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน กักตุนเก็งกำไรบ้านและที่ดินให้เช่าหรือรอขายกันมากมาย ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์
          นอกจากนั้นประเทศไทยยังไม่มีภาษีมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างเพียงพอ หรือมีภาษีก็นำไปใช้ในงานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่างบประมาณแผ่นดินถูกใช้ไปในด้านเงินเดือนถึงราวหนึ่งในสาม และถูกใช้ไปเพื่อรายจ่ายประจำอีกส่วนหนึ่ง รวมกันแล้วถึงราว 70% ของงบประมาณ จึงเหลือเงินเพื่อใช้ในการลงทุนและการพัฒนาประเทศน้อยมาก
          ดังนั้นตัวเลข GDP ปีนี้จึงไม่น่าจะสูงดังที่คาดหวัง (ส่งเดช) กันไว้ และยังมีช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ถ่างห่างออกไปมากขึ้นอีกในอนาคต

อ่าน 2,990 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved