ดร.โสภณ ผู้สนับสนุนกระเช้าภูกระดึง โดยไม่มีประโยชน์แอบแฝง
  AREA แถลง ฉบับที่ 83/2559: วันอังคารที่ 08 มีนาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่เมื่อเร็ว ๆ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอผลการสำรวจที่พบว่าประชาชนในอำเภอภูกระดึงถึง 97% ต้องการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง (http://bit.ly/1povC3l) นั้น ปรากฏว่าได้มีขบวนการใส่ร้ายป้ายสีจากผู้สูญเสียผลประโยชน์ ดร.โสภณ จึงขอเรียนชี้แจงดังนี้:

            1. ในการสำรวจนี้ ดร.โสภณ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ไม่มีผู้ใดให้การสนับสนุน และยังเป็นผู้ออกสำรวจด้วยตนเองอีกด้วย ทั้งนี้มุ่งหวังที่จะใช้ความจริงมาขจัดอวิชชาโดยเฉพาะผู้เสียประโยชน์จากการสร้างกระเช้าที่มักอาศัยความกลัวและความปริวิตกที่ไร้เหตุผลมาลวงผู้อื่น
            2. ดร.โสภณ ไม่ได้เป็นนักพัฒนาที่ดิน ไม่ได้เป็นนายหน้า ไม่มีส่วนได้เสียกับการนี้แม้แต่น้อย ทั้งนี้เพื่อความเป็นกลางทางวิชาชีพโดยเคร่งครัด แต่ด้วยเป็นประธานศูนย์ข้อมูลฯ จึงอาสาทำการสำรวจนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
            3. ดร.โสภณ ประกอบสัมมาอาชีพเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเมือง และมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังหลายประเทศ ผู้เชี่ยวชาญในโครงการขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลกในด้านการวางแผนพัฒนาเมือง สาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์

            ดร.โสภณ เชื่อมั่นว่า จากประสบการณ์วิจัยที่ทำมากับมือโครงการกระเช้านี้จะเป็นประโยชน์ต่อ
            1. สัตว์ป่าและป่าไม้ ที่จะไม่ถูกผู้คนรบกวนจากการเดินเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และทำลายธรรมชาติ แยกทางเดินของสัตว์ป่าตลอดแนว  การมีกระเช้ายังทำให้มีรายได้มาใช้เพื่อการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าในป่าแห่งนี้ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ รวมทั้งการบำรุงรักษาป่าให้มากขึ้น
            2. ประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ที่มีเวลาจำกัดเพื่อที่จะขึ้นเขาเพียง 15 นาที และขึ้นลงในเวลา 2-3 ชั่วโมง สามารถไปชื่นชมธรรมชาติเบื้องต้นได้ สำหรับผู้ที่จะชมพระอาทิตย์ขึ้นลง ก็สามารถเดินทางแต่เช้า เช่นตี 4 หรือกลับออกมาไม่เกิน 2 ทุ่มเพื่อลดการนอนค้างคืนให้ได้มากที่สุด

            จากผลการสำรวจของกรมอุทยานฯ เองยังพบว่า
            1. นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซึ่งมาจากทั่วประเทศ ที่เคยมีประสบการณ์ขึ้นไปบนภูกระดึงแล้วเห็นด้วยที่จะให้สร้างกระเช้า
            2. ลูกหาบที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ต้องการให้สร้าง ส่วนใหญ่ก็ต้องการสร้าง โดยเฉพาะอดีตลูกหาบทุกคนที่ ดร.โสภณ ไปสัมภาษณ์ก็ล้วนเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้า
            3. ชาวภูกระดึง ก็เห็นควรที่จะให้สร้างกระเช้าแทบทั้งหมด

            เราจึงควรเคารพภูมิปัญญาชาวบ้าน การสร้างกระเช้านี้ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์เฉพาะชาวภูกระดึง แต่เป็สประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยตรง อย่างไรก็ตาม บางท่านก็ให้ความเห็นว่า ต้องให้ประชาชนทั่วประเทศมีประชามติ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ เวลาสร้างทางด่วน รถไฟฟ้าในเมืองก็ไม่เคยถามคนต่างจังหวัด เราควรเข้าใจความจริงเกี่ยวกับตัวเลขบางประการ

            1. การทำประชามติ ใช้เงิน 3,000 ล้านบาท แต่การทำกระเช้า ใช้เงินราว 630 ล้านบาทเท่านั้น
            2. การจ้างคนหามเสลี่ยงขึ้นไปบนภูกระดึง ใช้เงินถึง 4,000 - 5,000 บาทต่อคน ซึ่งสูงกว่าค่าขึ้นกระเช้าที่ไม่เกิน 500 บาทเท่านั้น เป็นต้น

            การรณรงค์สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจึงดำเนินการด้วยความโปร่งใส

            โปรดดูเพิ่มเติมคือ
            1. จดหมายของ ดร.โสภณ ถึงนายกฯ เพื่อรณรงค์ให้สร้างกระเช้าภูกระดึง http://bit.ly/1povC3l
            2. บทความของ ดร.โสภณ เรื่อง กระเช้าขึ้นภูกระดึง: อารมณ์และความจริง http://bit.ly/1nj4G3e
            3. Clip กระเช้าภูกระดึง เพื่อทุกคนและป่าไม้ www.youtube.com/watch?v=Jebl1k6keuQ
            4. Fanpage กระเช้าภูกระดึง เพื่อทุกคนและป่าไม้ www.facebook.com/phukradungcable

อ่าน 2,891 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved