ฟัง ดร.สมคิด แบบ "ฟังหู ไว้หู"
  AREA แถลง ฉบับที่ 114/2560: วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.สมคิดมักบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะดีในปี 2560 แต่ที่แย่ที่ผ่านมาเพราะเศรษฐกิจโลก แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นได้ ปี 2560 ต้องระวังให้มาก แต่ ดร.สมคิดอาจไม่เตือน

            ตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "Push Forward ส่องเศรษฐกิจ 4.0 ปีไก่ทอง" (http://bit.ly/2mAcUo4) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขออนุญาตมองต่างมุม ดร.โสภณ กล่าวว่า ในแง่หนึ่ง โดยที่รัฐบาลปัจจุบันบริหารประเทศอยู่ เราทุกคนก็ควรให้กำลังใจ หวังว่าจะนำพาเศรษฐกิจให้เจริญขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ควรจะติงหากรัฐบาลวิเคราะห์และเดินไปผิดแนวทาง

            ดร.สมคิดมักอ้างว่าที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำนั้น เป็นเพราะเศรษฐกิจโลก แต่จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจโลกเลย หลังรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงอย่างชัดเจน และประเทศต่างๆ ในอาเซียน (ยกเว้นประเทศที่ร่ำรวยอยู่แล้วคือบรูไนและสิงคโปร์) ต่างก็มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น (http://bit.ly/2dgVECC)

            ส่วนเศรษฐกิจปี 2560 ที่คาดว่าจะเติบโตถึง 3.6% นั้น นับเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็ต้องฟังหูไว้หู เพราะอาจตั้งไว้ "เผื่อต่อ" ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะเติบโต 5.5% ต่อมาก็ลดเป้าเหลือ 4% เหลือ 3.5% และที่เป็นจริงคือ 2.8% (http://bit.ly/2cElj5u) ส่วนในปี 2559 ที่ได้ 3.2% นั้น แต่เดิมก็คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% (http://bit.ly/2mkq8Ju) ดังนั้นที่คาดการณ์ว่าในปี 2560 เศรษฐกิจจะเติบโต 3.6% อาจจะเหลือเพียง 3% ก็เป็นไปได้

            หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าที่เศรษฐกิจในปี 2559 และ 2560 จะเติบโตมากกว่า 3% ก็เพราะการอัดฉีดเงินของภาครัฐ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการใช้จ่ายเงินแบบนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริง อาจเกิดปรากฏการณ์ "รวยกระจุก จนกระจาย" ก็เป็นไปได้ ดร.โสภณ เคยให้ข้อสังเกตไว้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจชนบทอาจกระทำไม่ได้มากนัก (http://bit.ly/2dHwLNe) เพราะมาตรการต่าง ๆ อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร

            ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงาน (http://bit.ly/1Yii2cU) ให้เห็นว่า

            1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2559 เพิ่มขึ้นเพียง 0.4%

            2. อัตราการใช้กำลังการผลิตรวม ลดลงจาก 65.8% ในปี 2558 เหลือ 65.6% ในปี 2559

            3. ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจาก 125.3 ในปี 2558 เป็น 123.7 ในปี 2559 หรือลดลง 0.5%

            4. มูลค่าการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งประเทศ การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งประเทศ และการขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งประเทศ (หน่วย) ในปี 2559 ต่างหดตัวลงกว่าปี 2558

            5. แม้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมจะเพิ่มขึ้น 4.0% ในปี 2559 แต่ที่เพิ่มก็เน้นกลุ่มยางพาราโดยกลุ่มยางดิบชั้น 3 เพิ่มขึ้น 7.7% แต่ในภาคส่วนอื่นกลับยังทรุดตัวลง เช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ ลดลงถึง 19.6% ดังนั้นเศรษฐกิจทั้งประเทศจึงยังแย่อยู่

            6. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั้งประเทศ ยังติดลบ 0.04% แสดงว่าเงินยังฝืดอยู่มาก

            7. สำหรับตัวเลขผู้สมัครงานใหม่ ตำแหน่งงานว่าง การบรรจุงาน ลดลงต่อเนื่อง แสดงว่าเศรษฐกิจจริงยังไม่ฟื้น และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 1%

            จากตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวนัก การกระตุ้นผ่านมาตรการและการลงทุนภาครัฐ อาจจุดประกายได้ระดับหนึ่ง แต่ทิศทางการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่ชัดเจน ดังนั้นหากเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตดังหวัง ก็อาจทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นพากัน "ลงเหว" ได้ในปี 2560

            การลงทุนต่าง ๆ จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ

อ่าน 6,954 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved