สุดยอดครูของ ดร.โสภณ พรโชคชัย
  AREA แถลง ฉบับที่ 20/2562: วันพุธที่ 16 มกราคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ก็เป็นศิษย์มีครู เนื่องในวันครู 16 มกราคม 2562 ดร.โสภณจึงขอเขียนสุดยอดครูของตนเองลงไว้ใน AREA แถลงฉบับนี้ ทุกท่านจะได้เห็นตัวอย่างของสุดยอดครูที่น่านับถือ ดร.โสภณมุ่งหวังให้ทางราชการพัฒนาครู จัดหาครูดี ๆ เพื่อการพัฒนาเด็กและพัฒนาชาติ

โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา

            โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยาเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงมากที่ครูคนที่สองในชีวิตของผม คือแม่ผมซึ่งในสมัยนั้นยังเป็น "สาวโรงงาน" เก็บเงินส่งผมเรียน เพราะค่าเทอมแพงกว่าโรงเรียนของรัฐอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับความรู้ที่ได้ (ครูคนแรกของผมก็คืออาม่าหรือคุณยายแสนใจดีและแสนวิเศษของผมนั่นเอง)

            ครูพร้อมพรรณ ศิริพัฒน์ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยาที่ผมศึกษาอยู่ในสมัยชั้นเตรียมประถมจนถึงประถมศึกษาปีที่ 7 (พ.ศ.2507-2514) ปีนี้อายุ 92 ปีแล้ว ยังแข็งแรง ท่านเป็นยอดคนที่ผมเคารพ เป็นครู เป็นแม่ที่ยิ่งใหญ่สุดคนหนึ่งที่ชีวิตของผมได้มีโอกาสพานพบ เทวดาเดินดินแท้ๆ ในสมัยที่ผมเรียน เห็นท่านเป็นครูที่องอาจ มุ่งมั่นมาก วินัยเข้ม การเรียนก็เข้มเช่นกัน  ถือเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงที่ใครๆ ต่างอยากส่งบุตรหลานไปเรียน ในขณะนี้ยังสอนอย่างดี แถมมีทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนยากจนอีกด้วย

 

            ครูสมชาย บุญปลอด ครูภาษาอังกฤษท่านนี้เป็นครูที่ผมเคารพรักที่สุดในสมัยเด็กๆ ท่านมีความเสียสละมาก ตอนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ครูนัดให้นักเรียนในห้องมาเรียนพิเศษในวันเสาร์ ทั้งที่ท่านก็ไม่ได้ค่าจ้างอะไรเลย ทางโรงเรียนก็ไม่ได้สั่ง  แต่ด้วยความรักและความหวังดีต่อเด็ก จึงนัดนักเรียนมาเรียน ขากลับนั่งรถประจำทาง ในสมัยนั้นผมโตเร็วกว่าเพื่อน กระเป๋ารถมาเก็บค่าโดยสารกับผมอยู่คนเดียว ครูสมชายก็ช่วยออกค่าโดยสารให้กับผมอีกต่างหาก  ทราบในภายหลังว่าครูท่านเสียชีวิตไปแล้ว เลยไม่มีโอกาสไปกราบคุณครูเลย

โรงเรียนเทพศิรินทร์
 

            ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์แห่งนี้ ผมมีคุณครูที่ผมเคารพยิ่งและพึงยกย่องให้โลกรู้อยู่หลายท่าน ท่านเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งของคุณครูรุ่นปัจจุบัน ผมขออนุญาตเล่าถึงคุณครูของผมตามลำดับอักษร สำหรับนามสกุล ครูผู้หญิงบางท่านก็คงเปลี่ยนไปบ้างแล้ว คุณครูเหล่านี้สอนผมตั้งแต่ชั้น ม.ศ.1 ปี 2515 จนถึง ม.ศ.4 ปี 2518 จากนั้นผมก็สอบเทียบเข้าธรรมศาสตร์

            ครูกมล พุกทอง ผมจำได้ว่าท่านเป็นครูหนุ่มรูปงามสูงสง่า แต่ที่ผมประทับใจสุด ๆ ก็คือการเป็นคนใจเย็น มุ่งสอนให้รู้เรื่อง ถ้าผมจำไม่ผิดท่านสอนวิชาคณิตศาสตร์ ผมเรียนแล้วสบายใจ รู้เรื่องดี ท่านยังแต่งตั้งให้ผมเป็นหัวหน้า ผมจำได้ว่าผมเป็นหัวหน้าห้อง 2/7 4/11 และรองหัวหน้าห้อง 1/3 และ 3/1 อีกด้วย ท่านยังเป็นครูที่ใฝ่รู้จริง ภายหลังท่านเขียนตำราคณิตศาสตร์ สถิติอยู่หลายเล่ม

 

 

            ครูจิราพร ภัทรเสน ท่านสอนภาษาอังกฤษ เป็นครูที่ระเบียบจัดแต่มีจิตใจประเสริฐเหลือล้น แม้บรรดาศิษย์จะทโมน ท่านก็ตักเตือนด้วยความหวังดี ครั้งหนึ่งผมเห็นครูตรวจให้คะแนนผมน้อยกว่าความจริงไปนิดหน่อย (ไม่ได้เต็ม) เลยรีบไปท้วงครู ท่านก็แก้ไขให้ และย้อนให้ผมเห็นว่า เรื่องแค่นี้ทำตาโตเท่าไข่ห่านเลย (ตื่นเต้นไปได้) ทำให้ผมรู้สึกว่าบางทีเราต้องมองออกจากผลประโยชน์ของตัวเราบ้าง

 

 

 

            ครูนิรมล อัศนุวัฒน์ ท่านเป็นครูคนดีที่สุดอีกท่านหนึ่ง สอนด้วยความใจเย็น มีโน้ตประกอบการบรรยายทุกครั้ง เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าครูท่านนี้เป็นคนที่เอาใจใส่การเรียนของนักเรียนมากกว่าเอาใจใส่ต่อความก้าวหน้าของตนเอง ไม่ไต่เต้า ท่านเป็นครูน้อย ร่างเล็ก แต่มีน้ำใจอันยิ่งใหญ่ต่อลูกศิษย์ ผมได้เรียนรู้ทั้งความรู้และวัตรปฏิบัติที่ดีจากครูท่านนี้

 

 

            ครูประชา ปฏิสัมพิทา ท่านเป็นครูที่แท้อีกท่านหนึ่ง ผมทราบว่าภายหลังท่านได้เป็นถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครองของโรงเรียนของเราด้วย ครูประชาเป็นครูที่ใจเย็นซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของครูที่จะให้ความรู้ศิษย์ แต่ก็ใช่ว่าครูดุจะไม่ดีนะครับ ขอเพียงแต่ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์กับเด็ก ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ก็เป็นความเมตตายิ่งต่อลูกศิษย์แล้ว

 

 

 

            ครูประพันธ์ มงคลวีราพันธ์ ท่านสอนวิชาภาษาไทยให้ผม ถือเป็นครูที่ดุ ท่านร่างเล็ก แต่ดูมีพลังมาก แข็งแรง สุขภาพดี สอนสั่งศิษย์ด้วยความปรารถนาดี ท่านมุ่งสอนจนนักเรียนรู้เรื่อง เน้นประสิทธิผลของการสอน คือมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางนั่นเอง ไม่ใช่สอนไปตามเวลาที่มี ไม่ใช่แบบพระตีระฆังไปวันๆ ต่างจากบางวิชาที่นักเรียนค่อนห้อง เรียนไม่เข้าใจ ตกเกือบหมด

 

 

 

            ครูประเสริฐ เทียนสวัสดิ์ ท่านเป็นครูรูปร่างสูงโปร่ง สุภาพ เอาการเอางาน ผมเรียนวิชาธุรกิจศิลป์ที่ท่านสอน ซึ่งน่าสนใจมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปสอบเข้าโรงเรียนบพิธพิมุขในชั้น ม.ปลายด้วยหวังจะได้จบ 2 โรงเรียนให้ดูเท่ ผมสอบเข้าได้อันดับต้นๆ เลย แต่ตกสัมภาษณ์! เพราะผมผ่าไปบอกครูที่สัมภาษณ์ว่าปกติเด็กเทพฯ ไม่ค่อยไปสอบที่อื่นหรอก โรงเรียนเราดีอยู่แล้ว ท่านเลยสั่งสอนให้ผมตกสัมภาษณ์ไปเลย (ฮา)

 

 

            ครูพิจิตรา จารุวณิช สุดยอดครูอีกท่านที่สอนจนผมได้เป็นที่หนึ่งของโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแทนไปตอบคำถามและสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่เนือง ๆ ในวัยเด็ก พวกเรามักอยากเป็นหมอหรือวิศวกร เช่นหมอวิทย์ หมอวันชัย หรือวิศวกรอย่างคุณสิทธิ คุณวันชาติ ที่ขับเคี่ยวกันมา แต่เหมือนถูกแกล้งตอน ม.ศ.3 ผมไม่ได้ที่หนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ ผมเลยประท้วงชีวิตไปเรียนศิลป์ฝรั่งเศสได้แค่ 1 เทอม แล้วไปสอบเทียบศิลป์คณิต

 

 

            ครูวันทนีย์ สุนทรวิจิตรา อีกหนึ่งในสุดยอดคุณครูของผม บ้านท่านก็อยู่แถวถนนดินแดง ใกล้ตลาดศรีดินแดง พญาไท แถวบ้านของผมเหมือนกัน ท่านสอนวิชาภูมิศาสตร์ จนผมเรียนรู้ชมชอบการสำรวจค้นคว้าต่าง ๆ ในโลกกว้าง จนผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมในด้านระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ การสร้างแบบจำลองทางสถิติเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินที่เชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศ

 

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
            นี่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความภูมิใจของผม เพราะ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” (แต่อาจารย์ยุคนี้คิดแบบนี้ไหมหนอ)
            ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโสสาขาเศรษฐศาสตร์ ท่านเป็นอาจารย์หนุ่มในสมัยผมเรียนปี 1 เป็นอาจารย์ยอดนิยม มีคนเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของท่านถึง 700 คน ผมชอบเพราะท่านมีหลักวิชาและมีความรู้เข้มข้น ผมเป็นนักศึกษาหนึ่งในเจ็ดคนที่อาจารย์ยกให้ได้เกรด  ‘A+’ แต่แรกผมก็กะจะเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์เมื่อธรรมศาสตร์ในสมัยนั้นให้นักศึกษาเลือกคณะตอนขึ้นปี 2 แต่ผมมีอุบัติเหตุเลยไม่ได้ตามเรียนกับท่านต่อ แต่ผมก็ยังไปเลือกเรียนเสรีในวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบัน และสถาบันการคลัง

 


            รองศาสตราจารย์จิรา สาครพันธ์ ท่านเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ที่สำรวจชุมชนแออัดมาตั้งแต่ปี 2513 (สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ ป.6) ท่านเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และยังเคยเป็นนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ สมัยผมเรียนอยู่ ผมไม่ชอบหรือมีอคติกับอาจารย์ท่านนี้เพราะหลงเชื่ออาจารย์อีกกลุ่ม แต่ภายหลังทราบความดีงามของท่านเมื่อผมจบและทำงาน รวมทั้งได้พบผลงานวิจัยของท่าน ผมจึงตามไปกราบเท้าที่บ้านท่านในอีกเกือบสิบปีถัดไป


            ศาสตราจารย์ยุพา วงศ์ไชย ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนดียิ่งในด้านนโยบายสังคม และถือเป็นอาจารย์ที่มีพระคุณกับผมโดยตรง สมัยผมเรียนหนังสือ ก็ได้ทำสารนิพนธ์กับท่าน ได้ทำวิจัยกับท่าน ผมเขียนงานวิจัยตั้งแต่ชั้นปริญญาตรีได้ก็เพราะท่าน พอจบการศึกษาที่ธรรมศาสตร์ท่านก็ยังเป็นคนพาผมไปทำงานที่ โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกต่างหาก


 

 


            รองศาสตราจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์ อดีตคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาประเมินค่าทรัพย์สินเมื่อปี 2529 และยังเชิญผมไปสอนวิชาเดียวกันในปี 2542 โดยเป็นอาจารย์คนแรกของโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีเมตตาสูงมาก ขณะนี้ท่านยังให้ความกรุณาเป็นประธานโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ผมเป็นผู้อำนวยการด้วย

 


 


            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑร อ่อนดำ อาจารย์คณะสังคมวิทยา ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาการศึกษาสังคมชนบท สิ่งที่ผมเคารพท่านมากที่สุดคือท่านอยู่ฝ่ายประชาชนคนเล็กคนน้อย ไม่นิยมเผด็จการ แถมยังสอนสนุก เข้าใจง่าย และอารมณ์ดีที่สุดในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ผมจึงถือว่าท่านมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้ ผมก็แทบไม่ได้พบท่านในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ข่าวว่าท่านไม่สบายอยู่ในขณะนี้

 

 

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย

            ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียนั้น เป็นสถาบันสอนระดับปริญญาโทและเอกที่เป็นสถาบันนานาชาติ อาจารย์และนักศึกษาไทยมีน้อย ส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศ สถาบันนี้มีอาจารย์สุดยอดระดับโลกอยู่หลายท่าน แต่ที่ผมเคารพเป็นพิเศษ ได้แก่:

            ศาสตราจารย์ ดร.ชโลโม แองเจล ท่านเป็นคณบดีชาวยิวของผมเอง ท่านเป็นสถาปนิก ปัจจุบันนี้ท่านอาศัยอยู่ในนครนิวยอร์ก และยังสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาอยู่บ่อยๆ ถือเป็นสุดยอดศาสตราจารย์ในชีวิตของผม นอกจากท่านจะสอนวิชาการวางแผนพัฒนาเมืองให้ผมแล้ว ท่านยังสอนวิชาการเงิน สอนวิชาการวางแผน สอนวิชาการบริหารงานในภาคปฏิบัติ เพราะในภายหลังท่านยังเป็นนายจ้างของผมในโครงการสำรวจวิจัยอีกหลายโครงการ ต่อมาผมทำปริญญาเอก ท่านก็ยังให้คำปรึกษากับผมอีก ทุกวันนี้ผมก็ยังได้ติดต่อกับท่านเป็นครั้งคราว

 

            ศาสตราจารย์ ดร.คาร์ล อี เวบเบอร์ ท่านเป็นคณบดีชาวเยอรมันต่อจาก ดร.แองเจล วิชาที่ท่านสอนจนขึ้นในที่สุดก็คือวิชาวิจัย ซึ่งผมใช้ประกอบอาชีพอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ผมจำได้ว่าตอนผมเรียนกับท่าน ท่านเป็นคนที่เข้มงวดมาก ผมสอบได้ A แทบทุกวิชายกเว้นวิชาวิจัยของท่าน ผมไม่ยอมเพราะมั่นใจว่าจะต้องได้ A จึงขอดูคะแนนสอบ ปรากฏว่าผมก็ตอบได้หมด แต่ตอนเก็บคะแนน ผมเข้าสายหลายหน ทำให้คะแนนไม่เต็มร้อย ได้แค่ 89.5% จึงได้แค่ B+ ท่านจึงเป็นอาจารย์ที่สอนวินัยให้กับผมไปในตัวด้วย ทุกวันนี้ผมก็ยังได้ติดต่อกับท่านเป็นระยะๆ บ้างครับ

 

            ศาสตราจารย์เรย์มอนด์ ดับบลิว อาเชอร์ ท่านเป็นอาจารย์ชาวออสเตรเลียที่ประสิทธิประสาทวิชาที่ดิน กฎหมายที่ดิน การบริหารที่ดินให้กับผมอย่างเต็มที่  ถือเป็นอาจารย์ที่เข้มงวดที่สุดในบรรดาศาสตราจารย์ทั้งหลาย  แต่ผมก็ได้ A จากท่านทุกวิชา ยกเว้นสอบมหาบัณฑิต ท่านไม่ยอมให้ Excellent กับผม แต่คณะอาจารย์ที่ปรึกษาอีก 3 ท่านไม่ยอม ท่านจึงยอมให้  เหลือเชื่อว่าหลังจากผมเรียนจบปริญญาโทจากท่านเมื่อปี 2527 แล้ว ท่านยังตามมาสอนหรือให้ความรู้กับผมถึงบริษัทอยู่บ่อยๆ เพราะบ้านอยู่ไม่ไกลกันนัก  เสียดายท่านเพิ่งเสียชีวิตไปในวัย 90 เมื่อปีที่แล้ว

            อาจารย์จูน กอนซาเลซ ท่านเป็นชาวฟิลิปปินส์  สมัยผมเรียนปริญญาโท นอกจากผมจะทำวิทยานิพนธ์แล้ว ยังทำสารนิพนธ์อีก เพราะชอบงานวิจัย ท่านสอนผมทำคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ชั้น Punching Cards โดยเป็นเครื่อง Main Frame โดยในสมัยนั้นศูนย์คอมพิวเตอร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่ท่านเมตตาสอนพิเศษกับผมคือนอกจากใช้ SPSS แล้ว ยังสอนโปรแกรม Quantification Theory 4 ให้กับผมเพื่อใช้วิเคราะห์ตัวเลขอย่างเป็นระบบขึ้นไปอีก ท่านสอนให้พิเศษด้วยความเมตตาในฐานะครูโดยแท้

 

สถาบันอื่นๆ

            ยังมีอาจารย์จากสถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ประสิทธิประสาทความรู้ให้กับผม และเป็นครูที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ ซึ่งอาจจะไม่สามารถแสดงนามของทุกท่านได้หมด

            ศาสตราจารย์เดวิด เอ โดวอล ท่านเป็นชาวอเมริกัน ท่านสอนให้ผมใช้โปรแกรมสุดล้ำในยุคปี 2529 ตั้งแต่ Harvard Graphics / Mapping แถมยังเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยที่สอนผมอีกหลายต่อหลายเรื่องในงานวิจัยระดับนานาชาติ ที่สำคัญท่านยังชักชวนให้ผมไปเรียนต่อกับท่านโดยให้เลือกว่าจะไป Harvard หรือ Berkeley ที่ท่านสอนอยู่ แต่ในขณะนั้นผมรู้สึกว่าจบปริญญาโทก็พอแล้ว  และก็อยากมีชีวิตแต่งงานและอยู่กับครอบครัวมากกว่าไปเรียนอีก 3-5 ปี  แต่ภายหลังท่านก็ยังเมตตาเป็นประธานตรวจดุษฎีบัณฑิตให้กับผม

 

            ศาสตราจารย์อาร์โล ดี วูลเลอรี่ ท่านเป็นอาจารย์ชาวอเมริกันอีกท่านหนึ่ง เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น ณ นครบอสัน  ท่านประสิทธิประสาทวิชาการประเมินค่าทรัพย์สินใหักับผมเป็นอย่างดีที่สุด จนผมสามารถนำมาประกอบวิชาชีพจบจนถึงทุกวันนี้  และทุกวันนี้ที่ผมไปสอนที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ยังปรับใช้ความรู้จากอาจารย์ท่านนี้อยู่ บ้านท่านอยู่ที่นครฟีนิกซ์ มลรัฐแอริโซนา ท่านยังเมตตาให้ความรู้ผมอยู่เนืองๆ แต่เสียดายท่านเสียชีวิตในวัย 89 ปี หรือเมื่อราว 12 ปีก่อนนี้

            ที่ผมมีวันนี้ได้ในแง่ของวิชาความรู้ก็เพราะได้ครูอาจารย์เหล่านี้แหละครับ ทั้งครูน้อย ครูใหญ่จนถึงศาสตราจารย์ ผมไม่ลืมบุญคุณครูที่ให้โอกาสผมได้มีวันนี้ ท่านเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ครูที่แท้ ให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ด้วยใจ ไม่ได้หยิบยื่นผลประโยชน์ใด ๆ ให้ศิษย์หรือไม่ได้หวังประโยชน์ใด ๆ จากศิษย์ ท่านให้ความรู้อันไพศาล จึงเป็นครูที่ลูกศิษย์จดจำได้ไม่รู้ลืม  เราต้องการครูอย่างนี้มาก ๆ เพื่อพัฒนาสังคมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น เพื่อให้คลื่นลูกหลังไล่ทันคลื่นลูกหน้า ประเทศชาติจึงจะเจริญครับผม

อ่าน 3,980 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved