โปรดทราบ ส.ป.ก.4-01 แปลงเป็นโฉนดไม่ได้ ยกเว้น. . .
  AREA แถลง ฉบับที่ 23/2562: วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

มีหลายท่านถามว่า ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เอามาแปลงเป็นโฉนดได้หรือไม่ ตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ทำไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้น  ทั้งนี้เป็นคำแถลงของทางราชการ (https://bit.ly/2AOYJoK) การที่จู่ๆ นักการเมือง (รัฐบาล) จะแปลงที่ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด นับเป็นการ "ปล้นชาติ" และเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม ทำให้ผลประโยชน์ของชาติเสียหาย AREA แถลงฉบับนี้จึงนำมานำเสนอ ดังนี้:

            ที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด ยกเว้นหากมีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น ส.ค.๑ น.ส. ๒ และ น.ส.๓ ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินสามารถนำไปออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ แต่ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่สามารถนำไปออกโฉนดที่ดินได้

            กรณีเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ทับซ้อนกับพื้นที่มี ส.ค.๑ น.ส. ๒ น.ส.๓ หรือนอกเขตปฏิรูปที่ดินที่สามารถออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือโฉนดที่ดินได้ ประสงค์จะออกเอกสารสิทธิในที่ดินของกรมที่ดิน ต้องนำเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ มาคืน ส.ป.ก.จังหวัด พร้อมยื่นเรื่องขอให้ ส.ป.ก.จังหวัด ยกเลิกเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ฉบับดังกล่าว

            โดย ส.ป.ก.ได้มีบันทึกข้อตกลงกับกรมที่ดิน เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้

            ๑. กรณีที่มีผู้ยื่นคำขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะทำการตรวจสอบเอกสาร ดำเนินการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์เสร็จแล้ว จะสำเนาหลักฐาน เช่น คำขอออกเอกสารสิทธิ หลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน แผนที่๑:๕๐,๐๐๐ ใบไต่สวนหรือแบบบันทึกการสอบสวนและพิสูจน์ทำประโยชน์เฉพาะราย รายงานผลการรังวัด (ร.ว.๓) และรูปแผนที่กระดาษบาง (ร.ว.๙) ที่ได้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแล้วให้ ส.ป.ก.พิจารณาก่อนว่าจะคัดค้านการออกเอกสารสิทธิในที่ดินนั้นๆ หรือไม่

            ๒. เมื่อ ส.ป.ก.ได้รับเอกสารจากสำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วให้ ส.ป.ก. แจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดทราบโดยเร็ว และให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินต่อไป เว้นแต่ว่า ส.ป.ก.จังหวัด เห็นว่าหลักฐานดังกล่าวแตกต่างไปจากข้อมูลที่ ส.ป.ก.มีอยู่ อันเป็นเหตุให้คัดค้านได้ว่า ส.ป.ก.มีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ยื่นคำขอออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ให้ ส.ป.ก.จังหวัด คัดค้านโดยแจ้งเป็นหนังสือพร้อมแสดงเหตุผลและหลักฐานไปยังสำนักงานที่ดินภายในกำหนดเวลาตามประกาศการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินแล้วแต่กรณี ทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามอำนาจหน้าที่

            ๓. กรณีที่ราษฎรยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน โดยใช้แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) มาเป็นหลักฐาน เมื่อสำนักงานที่ดินส่งเรื่องพร้อมหลักฐานให้ ส.ป.ก.จังหวัด แล้ว ส.ป.ก.จังหวัดส่งเรื่องพร้อมเอกสารหลักฐานให้แก่ ส.ป.ก.ส่วนกลางเพื่อตรวจสอบกับระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ เพื่อตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่แปลงนั้นเมื่อ ส.ป.ก.ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจะได้แจ้ง ส.ป.ก.จังหวัดเพื่อประกอบการพิจารณาแจ้งผลแก่สำนักงานที่ดินต่อไป (ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาตามนโยบาย เพื่อให้มีความรอบคอบในการป้องกันการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ โดยใช้ ส.ค.๑)

            ๔. เมื่อดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนงานที่กำหนดแล้ว หาก ส.ป.ก. มิได้คัดด้านการขออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินข้างต้น และแจ้งสำนักงานที่ดินแล้ว ส.ป.ก.จังหวัด จะนำรายชื่อและแปลงที่ดินดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เพื่อเพิกถอนมติการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และยกเลิกเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ฉบับดังกล่าว

            ตามขั้นตอนการดำเนินงาน ในการยื่นเรื่องถึง ส.ป.ก.จังหวัด จนถึงการยกเลิกเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ จะใช้ระยะเวลาประมาณ ๖ – ๘ เดือน ขึ้นอยู่ว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเมื่อใด และ ส.ป.ก.จังหวัด นำเรื่องการเพิกถอนเอกสารนั้นเข้าพิจารณา

ที่มารูปภาพ https://siamrath.co.th/files/styles/750/public/img/20190113/9414bfe53873f7f444ca91293e514d413c48a19e671efd599ba51fde2ff4f544.jpg?itok=cNd_1lv9

อ่าน 141,688 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved