12 ข้อต้องรู้ คนรวยสุดขีดมันเป็นยังไง
  AREA แถลง ฉบับที่ 94/2562: วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            จากการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีไทย 50 ท่านแรกของ Forbes  (https://bit.ly/2GyKpVW) เราได้ข้อคิดหลายอย่างจาก "คนรวยสุดขีด" เหล่านี้ ซึ่งสามัญชนทั่วไปแม้แหงนจนคอตั้งบ่าก็ยังคงนึกไม่ออกว่าพวกเขารวยกันขนาดไหน  รวยแล้วไง มีที่ยืนในประวัติศาสตร์หรือไม่

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มาเผยความรวยของอภิมหาเศรษฐีไทยกัน

            1. ณ ปี 2561 คนรวยอันดับหนึ่งของแผ่นดินไทยคือครอบครัวเจียรวนนท์ ซึ่งรวยถึง 30,000 ล้านดอลลาร์หรือ 939,600 ล้านบาท หรือเกือบหนึ่งในสามของงบประมาณแผ่นดินไทย แต่ความรวยนี้ก็ยังเป็นเพียงราวหนึ่งในสี่ของคนรวยอันดับหนึ่งในโลกคือนายเจฟ บีซอส แห่งอเมซอน (https://bit.ly/2o1LEn1) โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 16 เท่า (https://bit.ly/1guHvfU) แต่มีอภิมหาเศรษฐีที่มีความรวยขนาดหนึ่งในสี่ของคนรวยอันดับหนึ่งของโลกที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา จึงถือว่า "ไม่ธรรมดา"

            2. ทรัพย์สินของของครอบครัวทั่วประเทศตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 เป็นเงิน 36,540,927 ล้านบาท (https://bit.ly/2nHWXRf) สำหรับครัวเรือนประมาณ 25,723,807 ครัวเรือน (https://bit.ly/2J1DIfL) แสดงว่าครัวเรือนหนึ่งมีทรัพย์สิน 1,420,510 บาท  แสดงว่าทรัพย์สินของตระกูลเจียรวนนท์เท่ากับทรัพย์สินของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยถึง 661,453 ครัวเรือน หรือประมาณ 3% ของครอบครัวไทยทั้งหมด

            3. อภิมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกนี้ มีสินทรัพย์รวม กัน 5,092,319 ล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินไทยที่ 3 ล้านล้านบาทถึง 70% หรือเกือบเท่าตัว  ทรัพย์สินของ 50 อภิมหาเศรษฐีนี้เพิ่มจาก 876,585 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน หรือรวยเพิ่มขึ้น 6 เท่าโดยเฉลี่ย ปีหนึ่งรวยขึ้นประมาณ 19%  สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือว่าทำไมรวยเอาๆ ได้ขนาดนี้  เมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะกรุงเทพมหานคร ครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 17% หรือเพียง 1.6% ต่อปี (https://bit.ly/2foScXj) เท่านั้น ถ้าเป็นตัวเลขทั่วประเทศ คงมีรายได้เพิ่มน้อยกว่านี้  การที่อภิมหาเศรษฐีรวยเร็วขนาดนี้ แสดงถึงอาการ "รวยกระจุก จนกระจาย" อย่างชัดเจน

            4. ทรัพย์สินของอภิมหาเศรษฐี 50 รายนี้มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินของครัวเรือนไทยรวมกันถึง  3,584,852 ครัวเรือน หรือประมาณ 14% ของทรัพย์สินของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งทรัพย์สินของอภิมหาเศรษฐี 50 รายนี้ มีค่าเป็น 1/7 ของทรัพย์สินของครัวเรือนไทยทั่วประเทศเลยทีเดียว  นี่จึงชี้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

            5. ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2561) คนที่รวยเร็วที่สุดก็คือนายวิชัย ศรีวัฒนประภา (เจ้าของคิงเพาเวอร์ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 27 ตุลาคม 2561) โดยทรัพย์สินเพิ่มจาก 5,951 ล้านบาท เป็น 162,864 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27 เท่าตัว หรือมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 39% โดยก่อนเสียชีวิตถือเป็นคนรวยอันดับที่ 5 ของประเทศไทย   เป็นสิ่งที่น่าทึ่งว่าการทำธุรกิจขายสินค้าปลอดภาษีและอื่นๆ สร้างความร่ำรวยได้ขนาดนี้เลยหรือ  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ควรจะแบ่งกำไรจากสัมปทานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่านี้หรือไม่

            6. สำหรับ 5 อันดับแรกของอภิมหาเศรษฐีนั้นได้แก่ครอบครัวเจียรวนนท์ จิราธิวัฒน์ อยู่วิทยา นายเจริญ สิริวัฒนภักดี และนายวิชัย ศรีวัฒนประภา โดยเป็นธุรกิจด้านอาหาร ศูนย์การค้า เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำเมา และร้านค้าปลอดภาษี นี่แสดงว่าธุรกิจเหล่านี้มีกำไรมหาศาล  ถ้าลดราคาลงบ้าง หรือเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย คงจะเป็นอานิสงส์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติได้มหาศาล

            7. ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจสื่อสารมวลชน อันได้แก่ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ส่วนมากมีความมั่งคั่งลดลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงประมาณ 3% ต่อปี หรือความมั่งคั่งลดลงประมาณหนึ่งในสี่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าธุรกิจเหล่านี้อยู่ในห้วง "ขาลง" เพราะการปฏิวัติด้วยระบบอินเตอร์เน็ต  ทำให้การเสพสื่อแบบเดิมๆ ลดลง

            8. จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้ต่อครัวเรือนทั่วประเทศคือเดือนละ 26,946 บาท หรือปีละ  323,357 บาท (https://bit.ly/2nHWXRf) โดยที่ครัวเรือนหนึ่งมีทรัพย์สิน 1,420,510 บาท (ตามข้อ 2) แสดงว่ารายได้ต่อปีของครัวเรือนไทยมีสัดส่วนเป็น 23% ของทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่   แต่สำหรับกรณีอภิมหาเศรษฐี 50 รายนี้ อาจสมมติให้มีสัดส่วนเป็นเพียง 10% เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่อาจเป็นอสังหาริมทรัพย์หรืออื่นใดที่สะสมไว้นานแล้ว ทำให้รายได้ของอภิมหาเศรษฐี 50 รายที่มีทรัพย์สิน 5,092,319 ล้านบาท ควรมีรายได้ประมาณ 509,232 ล้านบาท หรือ 10% ของมูลค่าทรัพย์สิน  หากให้รายได้เหล่านี้ต้องเสียภาษีเพียง 10% (หลังจากหักลดหย่อนแล้ว) ก็ควรจะเก็บภาษีจาก 50 ครัวเรือนนี้ประมาณ 50,923 ล้านบาท  อย่างไรก็ตามในที่นี้ไม่มีตัวเลขการเสียภาษีจริง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเก็บได้มากเท่านี้

            9. ทรัพย์สิน 5,092,319 ล้านบาทนี้ ถ้ามีการโอนเป็นมรดกให้ลูกหลานปีละประมาณ 5% หรือเป็นเงิน 254,616 ล้านบาท และหากต้องเสียภาษีประมาณ 20% เยี่ยงในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ปีหนึ่งจะได้ภาษีมรดกเข้าหลวง ทำให้เกิดความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำได้ถึง 50,923 ล้านบาทอีกเช่นกัน เงินจำนวนนี้นำไปสร้าง "สะพานเกียกกาย" ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ราคา 13,500 ล้านบาท) ได้เกือบ 4 สะพาน หรือสร้างสะพานถนนจันทน์-เจริญนคร (ราคา 4,000 ล้านบาท) ได้เกือบ 13 สะเพาน (https://bit.ly/2SmnRt5)

            10. อภิมหาเศรษฐี 50 รายนี้ มีอยู่ 22 รายไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในฐานะอภิมหาเศรษฐี 40 รายแรกเมื่อ 10 ปีก่อน แสดงว่าเพิ่งรวยขึ้นมาไม่นาน  ในทางตรงกันข้ามอภิมหาเศรษฐีเมื่อ 10 ปีก่อน ก็หายหน้าหายตาไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน  นี่แสดงให้เห็นว่า "สมบัติผลัดกันชม"  อย่างไรก็ตามโอกาสที่คนรวยจะรวยขึ้นหรือรักษาฐานะไว้ ย่อมมีมากกว่าโอกาสที่คนจนจะรวยขึ้นมาได้ ซึ่งคงเป็นหนึ่งในหลายๆ ล้านคนที่ประสบความสำเร็จ

            11. ธุรกิจสัมปทาน และธุรกิจกึ่งผูกขาด จะมีโอกาสที่จะมีกำไรมากเป็นพิเศษ และมีโอกาสเติบโตสูงมาก รวมทั้งธุรกิจใหม่ๆ เช่นกัน  บางธุรกิจอาจต้องมี "ปลอกคอ" อาจต้อง "จ่าย" ให้กับผู้มีอิทธิพลทั้งทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ ดังนั้นความสำเร็จของธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทยจะจริงแท้แค่ไหนต้องดูที่การขยายตัวไปต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้วยอาศัย "เส้น" คงมีน้อยมาก ต้องใช้ฝีมือจริงๆ

            12. อันที่จริงคนรวยไม่มีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงคนรวยๆ ในแต่ละยุคสมัย แม้จะร่ำรวยมหาศาลเพียงใด  ยกเว้นคนรวยที่บริจาคแบบทุ่มสุดตัว เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี (https://bit.ly/2H03Jus) ผู้สร้างวัดเชตวัน และเศรษฐีอื่นในสมัยพุทธกาล แต่ปุถุชนทั่วไปมักทำบุญประมาณ 2.69% ของรายได้ (https://bit.ly/2D3xuF7) เชื่อว่าอภิมหาเศรษฐีคงไม่อาจบริจาคเงินรายได้ถึง 2.69% ต่อปีเพื่อการทำบุญหรือทำดีอย่างแน่นอน  ยิ่งประเทศไทยไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและระบบภาษีทรัพย์สินเช่นในประเทศตะวันตก แต่มีกฎหมายที่มีข้อยกเว้นมากมายให้คนรวย จึงทำให้คนรวยยิ่งแทบไม่ต้องเสียภาษีหรือไม่ต้องบริจาคมากมายเพื่อเลี่ยงภาษีเช่นเศรษฐีในประเทศตะวันตก

            การเป็นเศรษฐีนั้นยาก การเป็นอภิมหาเศรษฐีนั้นยิ่งยากใหญ่ การจะรักษาความเป็นเศรษฐียิ่งยากขึ้นไปอีก  ยิ่งถ้าจะให้เป็นเศรษฐีที่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ ยิ่งยากอย่างเป็นที่สุด หากไม่ทำความดีอย่างยิ่งใหญ่สุดตัว


อ่าน 14,060 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved