ความเข้าใจผิดของรัฐบาลต่อคนจนนำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาด
  AREA แถลง ฉบับที่ 341/2558: วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ที่ผ่านมารัฐบาลอาจได้รับข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเคยสำรวจชุมชนแออัดทั่วประเทศ สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบัน และสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วอาเซียน จึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ
          1. องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนลงอย่างมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีคนยากจนอยู่ 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 88% อยู่ในเขตชนบท ที่เหลืออีก 12% อยู่ในเขตเมือง (http://bit.ly/1XWgW7B) หากสมมติว่าคนจนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นประมาณ 60% ของคนจนเมืองทั้งหมด ก็จะมีจำนวน 388,800 คน จากจำนวนประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมดประมาณเกือบ 10 ล้านคน หรือ 3.9% เท่านั้น
          2. ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดไม่ใช่จะเป็นคนยากจนเสมอไป เพราะจำนวนคนจน 388,800 คนข้างต้น ยังน้อยกว่าผู้อยู่อาศัยชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คนจนเหล่านี้อาจเป็นคนเร่ร่อน คนงาน คนรับใช้ตามบ้าน หรือบุคคลอื่นที่นายจ้างอาจจัดหาที่อยู่อาศัยให้ ฯลฯ ประชากรในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ไม่ใช่คนยากจน และมีคนที่เช่าบ้านในชุมชนแออัดอยู่ 30%
          3. จำนวนประชากรไทย ณ สิ้นปี 2557 มี 65.12 ล้านคน และมีจำนวนบ้านอยู่ 24.09 ล้านหน่วย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประชากรเพิ่มเพียง 0.5% ต่อปี แต่ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 2.65% ต่อปี หากนำอัตราเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย ณ 2.65% ต่อปี ก็จะคำนวณได้ว่าในปี 2560 จะมีบ้านเพิ่มขึ้น 1.33 ล้านหน่วย ไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านหน่วยดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอ้าง ทั้งนี้เป็นการเพิ่มโดยธรรมชาติ ตลอดช่วงที่ผ่านมา มีการสร้างบ้านกันเองในภาคเอกชนโดยรัฐบาลไม่ต้องหยิบยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือใด ๆ เลย แม้แต่บ้านเอื้ออาทรที่สร้างเสร็จเกือบ 300,000 หน่วย ก็ไม่ได้ช่วยตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนที่จัดหากันเองอยู่แล้ว (http://bit.ly/20L9Ghg) จะสังเกตได้ว่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ใช่ชุมชนแออัดที่แทบไม่ได้เกิดเพิ่มขึ้น มีแต่จะลดลงตามกาลเวลา
          4. การอ้าง "คนจน" ไปสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากมาย จึงไม่เหมาะสม ในประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาขาดแคลน ราคาที่อยู่อาศัยก็ไม่ได้ขึ้น แถมราคาค่าก่อสร้างในรอบ 1 ปีทีผ่านมาก็ลดลงประมาณ 6% ภาคเอกชนก็สามารถสร้างบ้านได้ดีอยู่แล้ว การสร้างที่อยู่อาศัยโดยภาครัฐจึงไม่จำเป็นนัก ในแง่หนึ่งการสร้างใหม่โดยภาครัฐอาจถือเป็นการเอื้ออาทรผู้รับเหมา บริษัทวัสดุก่อสร้างหรือเพื่อให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบได้มีงานทำไป และในบางกรณี ก็ควรระมัดระวังเรื่องการรั่วไหลของเงินด้วยเพราะงบประมาณค่อนข้างสูงอีกด้วย
          โปรดสังวร

อ่าน 1,566 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved