ดร.โสภณ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้สร้างเขื่อนแม่วงก์
  AREA แถลง ฉบับที่ 59/2559: วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4


            ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้ประสานงาน กลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี วันนี้ เวลา 10.00 น. โดยในหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

--------------------------------------------------------------------

สถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

15    กุมภาพันธ์    2559

เรื่อง            โปรดสร้างเขื่อนแม่วงก์ตามความต้องการของประชาชน

กราบเรียน    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
                 นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

                 เนื่องด้วยกลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน ได้สำรวจความต้องการของประชาชนต่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79% ต้องการที่จะให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแม่วงก์ กลุ่มฯ จึงทำหนังสือนี้มาเสนอรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้:


คณะผู้สำรวจถ่ายภาพร่วมกันหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

              การสำรวจนี้ดำเนินการในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 16-17 มกราคม 2559 ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอลาดยาว เทศบาลตำบลลาดยาว อำเภอแม่วงก์ กิ่งอำเภอแม่เปิน อำเภอชุมตาบง และอำเภอโกรกพระ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในระดับหนึ่ง
              ทั้งนี้ในการสำรวจ เป็นการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ต่างๆ ข้างต้น โดยสุ่มกระจายไปในแต่ละท้องที่ของแต่ละอำเภอและเทศบาล ทั้งนี้ได้แบบสอบถามประมาณ 1,200 ชุด แต่ที่สามารถนำมาวิเคราะห์มี 1,096 ชุด ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
              ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79% เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณเขาสบกกที่เป็นเขตส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หากพิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปในแต่ละท้องที่ที่มีอยู่รวมกัน 356,476 คน จะพบว่า มีจำนวน 280,392 คนที่อนุมานได้ว่าเห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนนี้ แสดงว่าเขื่อนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง

              จะสังเกตได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอลาดยาวที่จะได้รับผลดีจากการมีเขื่อนแม่วงก์เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามสัดส่วนของประชาชนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนมีเพียงครึ่งเดียวในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์และเทศบาลตำบลลาดยาว ทั้งนี้เพราะประชาชนในเขตเมืองอาจไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นสำคัญ
              อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนในเขตอำเภอแม่วงก์ แม่เปิน ชุมตาบง และโกรกพระ จะไม่ได้รับผลดีโดยตรงต่อการสร้างเขื่อนนี้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะต่างก็มีอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในเขตกิ่งอำเภอแม่เปิน มีประสบการณ์ที่ดีกับการมีเขื่อน (อ่างเก็บน้ำ) คลองโพธิ์ ทำให้สามารถทำการเกษตรกรรมได้ดี และยังสามารถทำการประมงหาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

              ที่ผ่านมา กลุ่มฯ ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนมาก่อน โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ผลการสำรวจในครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556 มีผู้เห็นด้วย 69% ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 มีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 71% และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2559 มีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 79% การนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงเพิ่มขึ้น จนสามารถสรุปความต้องการเขื่อนแม่วงก์ได้อย่างชัดเจน

              สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น นอกจากที่ส่วนมากเป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีความเข้าใจผิดบางประการที่ได้รับข้อมูลที่บิดเบือนจากกลุ่มเอ็นจีโอ เช่น
              1. เกรงสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ทั้งที่แต่เดิมเป็นหมู่บ้านราว 200-300 ครัวเรือน พร้อมพื้นที่เกษตรกรรม (ยังมีต้นมะพร้าวเป็นหลักฐานอยู่) ชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการจัดที่ดินให้อยู่บริเวณหน้าทางเข้าอุทยานในทุกวันนี้ พื้นที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 0.1% ของผืนป่าตะวันตก ใหญ่กว่าสาทรที่เป็นเขตเล็กๆ ในกรุงเทพมหานครเพียง 2 เท่า ทุกฝ่ายควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาทำลายป่าและปลูกป่าในพื้นที่เขาหัวโล้นมากมายที่ป่าไม้ถูกทำลายในผืนป่าตะวันตกนี้
              2. สภาพป่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นป่าปลูกที่เพิ่งขึ้นใหม่เพื่อ "สร้างภาพ" ว่าเป็นป่าสมบูรณ์ ต้นไม้มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก ต้นไม้ใหญ่ก็มีอยู่น้อย บางส่วนเป็นตอไม้ที่ถูกตัดไม้มาหลายรุ่นแล้ว (ดูคลิปที่ bit.ly/1KPNpdm)  ปริมาณไม้ที่สูญเสียไปมีค่าน้อยกว่าค่าก่อสร้างเขื่อนมาก และยังสามารถนำมาชดเชยค่าก่อสร้างได้
              3. บ้างก็เข้าใจผิดว่าที่แก่งลานนกยูงมีนกยูงธรรมชาติอาศัยอยู่ทั้งที่เพิ่งนำมาเลี้ยง 'สร้างภาพ' เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง (ดูหลักฐานที่ on.fb.me/1KjBCUK) บ้างก็กลัวว่าจะทำร้ายสัตว์ป่าเช่นเสือซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะในพื้นที่สร้างเขื่อนยังมีจุดกางเตนท์ โดยรอบก็มีบ้านอยู่ทั่วไป ไม่เคยมีชาวบ้านพบเห็นเสือเลย (โปรดดู bit.ly/1VZab1S bit.ly/1jttgO9 และ bit.ly/1VYQE1u) มีแต่ข้อมูลด้านเดียวของผู้ค้านเขื่อนซึ่งอาจบิดเบือน

เสือตัวเล็กๆ เช่นนี้คงไม่สามารถเดินออกจากป่าลึกมาถึงพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์

              4. บ้างก็เข้าใจว่าป่าเป็นที่เก็บน้ำถาวรทั้งที่เกิดน้ำป่าไหลหลากประจำ เขื่อนต่างหากที่เป็นที่เก็บน้ำถาวรได้ยาวนานนับร้อยปี แต่กลับถูกบิดเบือน ทั้งที่ทั่วโลกกำลังสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น (bit.ly/1VYbyDu) เขื่อนเป็นนวัตกรรมเพื่อมนุษยชาติตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (on.fb.me/1PLuKMw)
              5. บ้างยังถึงขนาดบิดเบือนว่ามีโบราณสถานในพื้นที่สร้างเขื่อน ทั้งที่เป็นเพียงซากของสิ่งบูชาของชาวเขาที่ได้รับการโยกย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อการสร้างเขื่อนเมื่อราว 30 ปีก่อน (bit.ly/1Prlq4r)
              6. มีการใช้ความกลัวว่าหากมีการตัดไม้ทำเขื่อน จะตัดเกินไปบ้าง จะมีคนแอบล่าสัตว์ป่าบ้าง แต่ความจริงสามารถควบคุม/ตรวจสอบได้ ในทางตรงกันข้ามการปล่อยทิ้งรกร้างไว้โดยขาดการเหลียวแล อาจเปิดช่องให้แอบตัดไม้ทำลายป่าโดยเจ้าหน้าที่เช่นที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ (bit.ly/1SPdr3x และ bit.ly/1Tkdeoy เป็นต้น)

              หากสามารถก่อสร้างเขื่อนได้ จะเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ดูเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา ฯลฯ โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อ
              1. ป่าไม้ การที่จะมีผืนน้ำ 13,000 ไร่มาหล่อเลี้ยงแทนคลองเล็กๆ ในพื้นที่ ก็มีน้ำไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปี (bit.ly/1U21Xsf) การนำพื้นที่ 0.1% ของผืนป่ามาทำเขื่อน ก็จะยิ่งทำให้ป่าไม้ขยายตัว
              2. สัตว์ป่า เมื่อป่ารกชัฏ ก็จะมีอาหารให้สัตว์ป่าอยู่ได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็จะยิ่งมีมากขึ้นอีก
              3. ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาภัยแล้ง มีระบบชลประทานที่ดี สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลกก็สนับสนุนเพราะลดโลกร้อน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ในการทำน้ำประปา ประมง และท่องเที่ยว เป็นต้น

              ความสูญเสียจากการไม่มีเขื่อนแม่วงก์นั้นมีมหาศาล ประชาชนต้องขุดบ่อบาดาลเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นๆ บาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่อาจดื่มได้ (goo.gl/7h8Ljk) ในกรณีน้ำท่วม ชาวนาก็ต้องรีบเกี่ยวข้าวขายขาดทุนเหลือเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แต่ละปีรัฐบาลต้องชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่จากภัยแล้งและน้ำท่วมหลายร้อยล้านบาทต่อปี หากนำเงินเหล่านี้มาสร้างเขื่อนก็คงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชน ซึ่งหากประชาชนมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็ยิ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติได้มากกว่านี้

              กลุ่มฯ จึงขอกราบเรียนนำเสนอนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้
              1. ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยด่วน 
              2. เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม ให้มั่นใจในสิ่งที่กลุ่มฯ เสนอ รัฐบาลอาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมสื่อมวลชนให้เสร็จสิ้นใน 1 สัปดาห์โดยห้ามให้เอ็นจีโอหรือกลุ่มบุคคลอื่นใดใช้กฎหมู่ขัดขวางการตรวจสอบข้อเท็จจริง
              3. ให้ทำประชามติเพื่อให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน โดยรัฐบาลสามารถใช้อำนาจทำให้การทำประชามตินี้บริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการขัดขวางโดยผู้ใด กลุ่มฯ เชื่อมั่นว่าประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเองในการบริหารจัดการน้ำที่นำไปสู่การสร้างเขื่อนแม่วงก์ แทนการเสนอทางเลือกอื่น เช่นฝายที่เอ็นจีโอ เสนอเพื่อซื้อเวลา แต่ทำให้เป็นจริงไม่ได้ (bit.ly/1QBK1iX)

              จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ผู้ประสานงาน
กลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน

 

ฝายและคลองส่งน้ำที่ NGOs เสนอเพื่อเบี่ยงเบนการสร้างเขื่อน เป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ

สภาพป่าไม่สมบูรณ์ในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์

ไฟไหม้ป่าในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นเป็นประจำ

อ่าน 4,938 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved