อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัย
  AREA แถลง ฉบับที่ 193/2559: วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยเป็นประเด็นท้าทายสำหรับประเทศไทยที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน โอกาสทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร

          ในวันนี้ (อังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) ได้จัดการเสวนาวิชาการรายเดือนครั้งที่ 166: ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย ดร.โสภณ จึงนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำเสนอถึงโอกาสการลงทุนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้

กลุ่มอายุของประชากรในอาเซียนและประเทศสำคัญๆ
ประเทศ/อายุ (ปี) 0-14 15-24 25-54 55-64 >65
ไทย 17% 15% 47% 11% 10%
สิงคโปร์ 13% 17% 50% 10% 9%
อินโดนีเซีย 26% 17% 42% 8% 7%
เวียดนาม 21% 17% 45% 8% 6%
มาเลเซีย 28% 17% 41% 8% 6%
เมียนมาร์ 26% 18% 43% 7% 5%
ฟิลิปปินส์ 34% 19% 37% 6% 4%
บรูไน 24% 17% 47% 8% 4%
กัมพูชา 31% 20% 40% 5% 4%
ลาว 34% 21% 36% 5% 4%
ญี่ปุ่น 13% 10% 38% 13% 27%
สหภาพยุโรป 16% 11% 42% 13% 19%
ออสเตรเลีย 18% 13% 42% 12% 15%
ฮ่องกง 12% 11% 46% 15% 15%
สหรัฐอเมริกา 19% 14% 40% 13% 15%
จีน 17% 14% 48% 11% 10%
ทั่วโลก 26% 16% 41% 9% 8%
ที่มา: CIA: www.cia.gov/library/publications/resources/the-world-factbook/fields/2010.html#th

          ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงวัย (อายุตั้งแต่ 65 ปี) มากที่สุดในอาเซียน โดยมีสัดส่วนสูงถึง 10% สูงกว่าสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น และสูงกว่าอันดับที่ 3 คืออินโดนีเซีย ที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยเพียง 7% เวียดนามกับมาเลเซียมีสัดส่วนเท่ากันคือ 5%-6% ส่วนกัมพูชา บรูไน ฟิลิปปินส์ และลาวมีสัดส่วนผู้สูงวัยเพียง 4%  แต่ที่น่าห่วงคือ ประชากรในกัมพูชา ฟิลิปปินส์และลาวที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีนั้นมีสูงถึงหนึ่งในสาม ประชากรส่วนนี้เป็น "ภาระ" ในการเลี้ยงดูสำคัญในปัจจุบัน แต่ในอนาคตอีก 10-15 ปีข้างหน้า ก็คงกลายเป็นพลังการผลิตที่สำคัญของประเทศเหล่านี้

          อาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยน้อยนั้น ส่วนมากเป็นประเทศที่ยากจน มีภัยสงครามมาก่อน ทำให้จำนวนประชากรสูงวัยมีจำนวนจำกัด ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยมาก มักเป็นประเทศที่มั่งคั่ง เช่นในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป มีสัดส่วนประชากรสูงวัยสูงถึง 15%-19%  แต่หากมีมากเกินไปเช่นญี่ปุ่น ที่มีถึง 27% หรือราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งประเทศ ก็จะกลายเป็น "ภาระ" เพราะผู้สูงวัยส่วนมากไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว

          แม้ในปัจจุบันไทยจะเป็นอันดับหนึ่งของการมีประชากรสูงวัยมากที่สุด แต่หากดูจากกลุ่มอายุ ก็เชื่อว่าในอนาคตไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนประชากรสูงวัยของสิงคโปร์น่าจะแซงหน้าประเทศไทย  สิงคโปร์ก็จะมีสภาพคล้ายคลึงกับฮ่องกงที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยเป็นอันมาก ประสบการณ์ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยของสังคมสูงวัยในไทย จึงควรศึกษาแบบอย่างจากฮ่องกง สิงคโปร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น

          ในฮ่องกงมีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย โดยแบบปกติเป็นห้องชุดในชั้นล่างสุด (เพื่อความสะดวกในการเดินทาง) หรือห้องชั้นบนเหนือห้องชุดที่ชั้นล่างสุดเป็นห้องประกอบการพาณิชย์ หรือเป็นห้องชั้นล่างในบ้านพักอาศัย ส่วนแบบที่ออกแบบสำหรับผู้สูงวัยโดยตรงซึ่งจะเป็นโครงการที่อยู่รวมกันโดยผู้สูงวัย และในอาคารจะมีระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ระบบฉีดน้ำดับเพลิง ระบบควัน พื้นที่ไม่ลื่น ซักล้าง ทางเดินที่มีมือจับ ห้องน้ำผู้สูงวัย-ผู้พิการ ฯลฯ

          ส่วนในสิงคโปร์ การเคหะแห่งชาติของสิงคโปร์ก็มีการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลกลุ่มนี้เช่นก้น ทั้งนี้จะมีทั้งแบบแยกและแบบที่ออกแบบสำหรับคนในครอบครัวเดียวกัน และมีมาตรฐานที่แน่ชัด เพราะในอนาคตจำนวนประชากรสูงวัยก็จะมีมากขึ้น สำหรับการผ่อนชำระ ก็สามารถผ่อนชำระได้ตามวัยที่แตกต่างกัน เช่น อายุ 60 ปี หรือ 70 ปี ในระยะเวลาการผ่อนหรือเช่าที่แตกต่างกันเช่น 10 หรือ 20 ปี เป็นต้น

        อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งที่พึงศึกษาเพื่อเตรียมการพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งรองรับผู้สูงวัยจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และอื่น ๆ ที่จะเดินทางมาพำนักในประเทศไทย ซึ่งจะค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่านั่นเอง

อ่าน 2,466 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved