นักบินล้อโหม่งโลกฆ่าปู ข้อคิด CSR กับนักวิชาชีพ
  AREA แถลง ฉบับที่ 207/2559: วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2559 มีข่าวว่าผู้ช่วยนักบินล้อเล่นกับเพื่อนนักบินด้วยกันเกี่ยวกับการนำเครื่องบินโหม่งโลกเพื่อฆ่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีนี้ถือเป็นข้อคิดสำคัญทางด้าน CSR สำหรับนักวิชาชีพ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้บรรยายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ในระดัปริญญาเอกในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งในวิสาหกิจต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้แต่งหนังสือ "CSR ที่แท้" ให้ข้อคิดต่อข่าว "พาที เดือด! กรุ๊ปแชทผู้ช่วยนักบินแซว "ปู" แนะให้ทำ CFIT" (bit.ly/1XQvRTW) โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า ผู้ช่วยนักบินของสายการบินแห่งหนึ่งได้โพสต์รูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะระหว่างเดินขึ้นเครื่อง จากนั้น มีข้อความต่อว่า "มีเหยื่อ ออน บอร์ด" และต่อมีบุคคลเข้ามาแสดงความเห็นแนะนำให้ทำ CFIT (ศัพท์ทางการบิน ย่อมาจากคำว่า Controlled Flight Into Terrain หมายถึง การที่เครื่องบินพุ่งชนพื้นดินหรือภูเขาด้วยการควบคุมของนักบิน)" 


ที่มา: http://news.sanook.com/2010762

            กรณีคือความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติวิชาชีพ ถือว่าขาดมาตรฐานและจรรยาบรรณ หรือ Soft Laws ที่ดีพอของนักวิชาชีพ กรณีนี้เคยเกิดขึ้นกับแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่มีข่าวบอกว่าจะไม่รักษาให้กับตำรวจที่มารักษาที่โรงพยาบาลในกรณีที่ไปปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร หรือกรณีกัปตันการบินไทยไม่ยอมนำเครื่องขึ้นบินเพราะมี ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนที่นักบินเองเห็นว่าเป็นพรรครัฐบาลที่สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในช่วงปี 2551 เป็นต้น กรณีนี้ถือว่าผิดจรรยาบรรณเป็นอย่างยิ่งเพราะแม้แต่ในสนามรบ แพทย์ทหารยังต้องรักษาทหารฝ่ายตรงข้ามเพื่อมนุษยธรรม


ที่มา: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000119642


ที่มา: http://hilight.kapook.com/view/29701

            หลายท่านอาจจะงงว่า CSR เกี่ยวอะไรกับนักวิชาชีพ อันที่จริงแก่นแท้ของ CSR ก็คือการที่วิสาหกิจปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่เอาเปรียบ ไม่ฉ้อฉลต่อทุกฝ่าย ดังนั้นนักวิชาชีพทั้งในรูปบุคคลหรือวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะนักวิชาชีพ บุคคล หรือวิสาหกิจทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติตามนี้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็คง ‘ไม่มีขื่อ ไม่มีแป’ และกลายเป็น ‘ซ่องโจร’ ไปในที่สุด และกฎหมายข้างต้นถือเป็นกฎหมายแท้ ๆ หรือเรียกว่า Hard Law

            แต่ในสังคมนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Soft Laws หรือ ‘กฎหมายอย่างอ่อน’ ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย Hard Laws ข้างต้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรรยาท มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณธุรกิจหรืออะไรทำนองนี้ ซึ่ง Soft Law นี้เกี่ยวข้องกับวงการนักวิชาชีพโดยตรง ในวงวิชาชีพต่าง ๆ มี Soft Laws ซึ่งสังคมทั่วไปก็เคยได้ยินอยู่บ้าง เช่น จรรยาบรรณแพทย์ มรรยาททนาย มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ดังนั้นนักวิชาชีพที่มี CSR ก็คือนักวิชาชีพที่มีการปฏิบัติตาม Soft Laws โดยเคร่งครัดจนสร้างความไว้วางใจและความเชื่อถือต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม

            Soft Laws กับ Hard Laws สัมพันธ์กันตรงไหน ทั้งสองอย่างมี จุดบรรจบกัน เช่น ในกรณีการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในการประกอบวิชาชีพ นักวิชาชีพมักต้องมีการศึกษาหาความรู้ต่อเนื่อง โดยกำหนดไว้ว่าควรเป็นเวลากี่ชั่วโมงต่อปี จึงจะสามารถต่ออายุสมาชิกได้ นักวิชาชีพใดที่ไม่ได้ใส่ใจศึกษาก็จะไม่ได้รับการต่ออายุสมาชิกเป็นต้น เหตุผลที่วิชาชีพต่าง ๆ กำหนดให้นักวิชาชีพทำการศึกษาต่อเนื่องก็คือการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งๆ ขึ้น ไม่ใช่ว่าพอจบสาขาวิชาที่เรียนมาในระดับปริญญาตรีเพียง 4 ปี แต่ไม่เคยทำการศึกษาต่อเนื่องเลย แล้วก็ให้บริการไปเรื่อยๆ โดยไม่พัฒนาองค์ความรู้

            ทำไมจึงมีการบังคับใช้หลักนิติรัฐโดยห้ามละเมิด หรือมีการวางและบังคับใช้ Soft Law โดยเคร่งครัด เหตุผลก็คือเพื่อผู้บริโภคนั่นเอง เพราะในทางกฎหมายก็ถือว่า อำนาจเป็นของปวงชน ในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ หรือแม้แต่ในทางการตลาดก็ถือว่า ‘ลูกค้าคือพระเจ้า’ ดังนั้นนักวิชาชีพจึงต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก

            ประชาชนนี้ไม่ใช่สิ่งลอย ๆ แต่หมายถึงผู้บริโภค ลูกค้าของเรานั่นเอง หากประชาชนวางใจใช้บริการ ก็ย่อมถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจ การถือประชาชนเป็นที่ตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาธุรกิจหรือวิชาชีพให้ดีขึ้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่ประชาชนก่อน ไม่ใช่ที่ประโยชน์ของนักวิชาชีพ

            การควบคุมทางวิชาชีพ ได้แก่:

            1. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หลายท่านคงจำภาพยนตร์เรื่อง ‘โหมโรง’ ได้ ในภาพยนตร์ดังกล่าว มีเรื่องใบอนุญาตเล่นดนตรี ซึ่งตามท้องเรื่องดูน่าขัน แต่ในความเป็นจริงนับเป็นความน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากมีการออกใบอนุญาตในวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยนั้น วิชาชีพต่าง ๆ ก็จะมีการพัฒนา โดยทั่วไปในแต่ละวิชาชีพก็จะมีการจัดระดับ นักวิชาชีพก็จะพยายามเพิ่มพูนความรู้เพื่อการยกระดับตนเองอยู่เสมอ

            2. การควบคุมการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ เพื่อให้นักวิชาชีพปฏิบัติงานโดยยึดถือมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพโดยเคร่งครัด หาไม่จะถูกลงโทษในสถานต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมดทางทำมาหากินในวิชาชีพอีกต่อไป

            อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรควบคุมวิชาชีพ เพราะถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีผู้ให้บริการ เช่น สถาบันการศึกษา หากองค์กรวิชาชีพจัดการศึกษาเสียเอง ก็เท่ากับผู้บริหารองค์กรทำธุรกิจกับการจัดการศึกษา ทำให้ขาดความเป็นกลางในการควบคุมทางวิชาชีพไป

            ในการควบคุมวิชาชีพต่าง ๆ รัฐบาลต้องออกหน้ามาควบคุม โดยเสนอกฎหมายให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพต่าง ๆ และจัดตั้งสภาวิชาชีพตามกฎหมาย เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี เป็นต้น ในแต่ละวงการเช่น แพทย์ อาจมีแพทยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรืออื่นๆ แต่เพื่อการควบคุมวิชาชีพที่เป็นกลาง จึงต้องตั้งสภาวิชาชีพ

            สมาคมวิชาชีพ ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมนักวิชาชีพได้ เพราะสมาคมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าปล่อยให้กรรมการสมาคมซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งหนึ่ง มาคอยตัดสินหรือควบคุมบริษัทคู่แข่งอื่น ก็ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรม สมาคมวิชาชีพอาจทำหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพ จัดงานสังสรรค์ หรืออื่น ๆ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ

            สภาวิชาชีพจะประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลซึ่งถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนนักวิชาชีพ ผู้แทนผู้ใช้บริการ ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

            การควบคุมวิชาชีพจึงเป็นเครื่องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของนักวิชาชีพโดยแท้ ในสังคมไทย ยังมีนักวิชาชีพอีกมากที่รัฐบาลยังไม่ได้ควบคุม โดยเฉพาะนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และอาจสร้างความเสียหายได้ในวงกว้าง เช่น ตัวแทนนายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน เป็นต้น

            ประเทศที่ขาดการควบคุมทางวิชาชีพ ย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทำให้ปัญหาการฉ้อโกงทั้งในสังคมและการฉ้อโกงชาติเกิดขึ้นอย่างดกดื่น การควบคุมและพัฒนานักวิชาชีพย่อมทำให้นักวิชาชีพมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยมิชอบ และจะเป็นการช่วยสังคมตรวจสอบความถูกต้องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

            รัฐจึงควรควบคุมแลพัฒนาวิชาชีพให้รับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง

อ่าน 11,666 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved