ชุมชนป้อมมหากาฬ ต้องรื้อด่วน!!!
  AREA แถลง ฉบับที่ 270/2559: วันจันทร์ที่ 08 สิงหาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวของผู้อยู่อาศัยจำนวนหนึ่ง ที่บุกรุกเอาสมบัติของส่วนรวมไปใช้ส่วนตัวมาหลายชั่วรุ่น แถมยังมีสื่อดรามาให้ท้ายอีก เลิกเอาเปรียบสังคมได้แล้ว

            มาตีโต้ความเห็นของนักวิชาการและพวกองค์กรสิทธิ์ฯ กันตามบทความ "3 นักวิชาการย้ำโบราณสถานอยู่ร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬได้" (http://bit.ly/29EP7xw) และข่าว "องค์กรสิทธิที่อยู่อาศัยสากล ส่งจม.ถึงผู้ว่าฯกทม.กรณีรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ" (http://bit.ly/2aziHKg) คนเหล่านี้หลับตาพูดส่งเดช ใช้แนวคิดแบบความดีไร้รากหรือไม่ มีแต่ข้อเสนอที่ไร้เหตุผล เห็นแก่ตัว เข้าข้างผู้เอาเปรียบสังคมหรือไม่ ลองมาวิเคราะห์กันดู

วิพากษ์ความคิด ผศ.ดร.ประภัสสร์

            ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ศิลปากร กล่าวว่า "ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนชานพระนครมรดกการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิม ลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนป้อมฯ สืบถอดมาเป็นเวลาพันปีบนดินแดนไท" นี่เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย กรุงเทพมหานครเพิ่งตั้งมี 234 ปี อาณาจักรสุโขทัยเพิ่งเริ่มเมื่อ 767 ปีมานี้เอง ในคำฟ้องของชาวบ้านเองก็ยังอ้างว่าบางส่วนของพวกตนอยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เท่านั้น (http://bit.ly/2a1Zlti)

            ท่านยังว่า ‘การที่บอกว่าชุมชนอยู่กับโบราณสถานไม่ได้เราก็ต้องเอาเครื่องมือทางโบราณคดีเหล่านี้มาต่อกรมายันได้ หลายแห่งในโลกนี้ให้ความสำคัญมรดกทางวัฒนธรรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้’ นี่ก็เป็นการพูดแบบเลื่อนลอย ที่ว่า "จับต้องไม่ได้" เป็นคำอ้างส่งเดชที่ "พิสูจน์ไม่ได้" ด้วยหรือไม่ โดยนัยนี้ถ้าจะหาทางเข้าข้างผู้บุกรุก ก็ควรให้มีเหตุผลมากกว่านี้

วิพากษ์ความคิด ผศ.พิพัฒน์

            ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "การรื้อชุมชนป้อมมหากาฬจะทำให้สูญเสียโบราณคดีที่มีชีวิต ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้แต่ต้องมีกระบวนการในการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการรื้อถอน การจัดการตัวข้อมูลความรู้ทำป้ายข้อมูลชุมชนปรับตัวพร้อมกันไปกับการเปลี่ยนแปลง" ข้อนี้อาจารย์คงละเลยความจริงที่ว่าพวกชาวบ้านไม่มีสิทธิอยู่ การที่รัชกาลที่ 3 พระราชทานที่ดินให้ข้าราชบริพารอยู่ แล้วพวกชาวบ้านก็มาเช่าที่ดินต่อ แต่ตอนนี้แม้แต่ข้าฯ เหล่านั้นก็ย้ายออกไปแล้ว แต่ผู้เช่ายังไม่ยอมไป อย่างนี้มีมโนธรรมหรือไม่

            ที่ อ.พิพัฒน์ บอกมี "ตัวอย่างของเมืองโบราณในต่างประเทศอย่างเช่น กรุงโรม ลอนดอน. . .เป็นการอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่อยู่ร่วมกับโบราณสถานที่สำคัญ" อาจารย์ไม่ได้ยกตัวอย่างชื่อโบราณสถานให้ชัดเจน แต่เชื่อว่าที่เขาอยู่นั้น ไม่ได้อยู่อย่างบุกรุกไร้สิทธิเป็นแน่ อันที่จริงชาวบ้านควรตระหนักว่าตน "อยู่ฟรี" มาหลายชั่วรุ่นแล้ว เอาเปรียบสังคมมามากแล้ว ควรรู้จักพอเสียที

องค์กรสิทธิที่อยู่อาศัยสากล ตาบอด!

            เมื่อเร็วๆ นี้ สมาพันธ์ผู้อยู่อาศัยระหว่างประเทศส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าฯ กทม. แสดงความห่วงกังวลถึงแผนการรื้อชุมชนซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการไล่ที่และหาแนวทางแก้ปัญหาที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน แถมยังกล่าวหา กทม.ว่า ไม่มีข้อเสนอเงินชดเชยเพิ่มเติมที่เหมาะสม และว่าเงินชดเชยเดิมที่เสนอมาจะน้อยเกินกว่าที่จะสามารถใช้จ่ายสำหรับความต้องการพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ

            ประเด็นหลักคือชาวชุมชนไม่มีสิทธิใดๆ เลย นี่เป็นการกระทำผิดกฎหมายบุกรุกโดยตรง ชาวชุมชนส่วนมากก็ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว แต่หวนย้ายกลับเข้ามาอยู่ใหม่อีก พฤติกรรมเช่นนี้สมควรแล้วหรือ อย่างไรก็ตามในจำนวนบ้านพักอาศัยที่ ในแง่ตรงกันข้าม การกระทำของชาวบ้านส่วนหนึ่งนี้ เป็นการนำเอาสมบัติของแผ่นดินที่เป็นของส่วนรวมไปใช้เป็นของส่วนตัวอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่

เลิกดรามา มาหาทางออกที่ดี

            บางคนชอบอ้างวัฒนธรรมชุมชนแบบส่งเดช ถ้ารื้อชุมชนไปแล้ว จะเป็นการทำลายวัฒนธรรมชุมชน บ้างก็ไพล่ไปบอกว่าเป็นการ "ทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพ" ดังหัวข้อเสวนาข้างต้น แต่แท้จริงแล้วก็ต้องการจะครอบครองที่ดินของส่วนรวมไปใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ อย่างนี้ถือเป็นความไม่สง่างาม ที่สำคัญการกล่าวอ้างนี้เลื่อนลอยเป็นอย่างยิ่ง  ดูอย่างวัฒนธรรมจีน อินเดีย หรือแม้แต่ไทยเราเอง ที่คนไทยย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ไม่ตาย กลับกระจายไปทั่วโลกเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีทางออกที่พึงเข้าใจ ดังนี้:

            1. ทำความเข้าใจกับประชาชนที่หลงเหลืออยู่ราว 56 ครัวเรือน ซึ่ง 42 หลังได้รับค่ารื้อถอนไปแล้ว (http://bit.ly/2aVZH7m) โดยเฉพาะในส่วนที่ยังไม่ยอมย้ายออกที่มีเพียงจำนวนหนึ่งให้เข้าใจว่าตนเองไม่ได้มีสิทธิในการครอบครองสมบัติของส่วนรวม และได้ครอบครองมานานแล้ว ควรคืนแก่สังคมได้แล้ว

            2. สำหรับครอบครัวที่ยากไร้ ไม่มีที่พักพิง ให้กรุงเทพมหานคร จัดหาที่อยู่อาศัยให้อยู่ชั่วคราวในบริเวณใกล้เคียง โดยอาจเช่าห้องเช่าทั่วไปให้อยู่ด้วยงบประมาณเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลาประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นต้องจัดหาที่อยู่อาศัยเอง จะให้รัฐบาลเลี้ยงดูไปชั่วชีวิต เอาเปรียบสังคมไม่ได้ เว้นแต่หากเป็นคนชรา ไร้ที่พึง ก็จัดให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์คนชราต่อไป

          ช่วยกันคิดเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อย่าให้ใครเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบคนอื่น

อ่าน 6,127 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved