สร้าง 100 เขื่อนแม่วงก์เลย
  AREA แถลง ฉบับที่ 366/2559: วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          น้ำท่วมและฝนแล้งเป็นของคู่กัน เป็นของคู่แผ่นดินไทย หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ประชาชนและประเทศชาติก็ยังต้องเผชิญชะตากรรมต่อไป

          ตามที่มีความพยายามในการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อกักเก็บน้ำ และได้รับการคัดค้านจากพวกเอ็นจีโอเป็นระยะ ๆ  แต่จริง ๆ การคัดค้านคงไม่ได้ผล หากผู้มีอำนาจไม่เอนเอียงไปเข้าข้างพวกเอ็นจีโอ แต่เอนเอียงไปเข้าข้างประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79% ที่ต้องการให้มีเขื่อนแม่วงก์ (http://bit.ly/2c17hdD) ยิ่งถ้าถามเกษตกรรม เกือบทั้งหมดต้องการเขื่อน เราต้องเชื่อมั่นใจภูมิปัญญาของประชาชนว่าเขาคิดถูกต้องแล้ว

          การไม่มีเขื่อนแม่วงก์สร้างปัญหาอะไรบ้าง ประชาชนต้องขุดบ่อบาดาลเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นๆ บาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่อาจดื่มได้ (goo.gl/7h8Ljk) ในกรณีน้ำท่วม ชาวนาก็ต้องรีบเกี่ยวข้าวขายขาดทุนเหลือเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แต่ละปีรัฐบาลต้องชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่จากภัยแล้งและน้ำท่วมหลายร้อยล้านบาทต่อปี หากนำเงินเหล่านี้มาสร้างเขื่อนก็คงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชน ซึ่งหากประชาชนมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็ยิ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติได้มากกว่านี้

          การมีเขื่อนแม่วงก์ จะเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ดูเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา ฯลฯ โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวม การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงจะเป็นประโยชน์ต่อ:

          1. ป่าไม้ การที่จะมีผืนน้ำ 13,000 ไร่มาหล่อเลี้ยงแทนคลองเล็กๆ ในพื้นที่ ก็มีน้ำไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปี (bit.ly/1U21Xsf) การนำพื้นที่ 0.1% ของผืนป่ามาทำเขื่อน ก็จะยิ่งทำให้ป่าไม้ขยายตัว

          2. สัตว์ป่า เมื่อป่ารกชัฏ ก็จะมีอาหารให้สัตว์ป่าอยู่ได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็จะยิ่งมีมากขึ้นอีก

          3. ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาภัยแล้ง มีระบบชลประทานที่ดี สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลกก็สนับสนุนเพราะลดโลกร้อน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ในการทำน้ำประปา ประมง และท่องเที่ยว เป็นต้น

          ดูอย่างสหรัฐอเมริกา ก็สร้างเขื่อนรูปหัวใจ เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ "เลี้ยว" กลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น "Wrong Message" แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว "This is now. We are back". (http://bit.ly/1T8MoiE)

รูปเขื่อนรูปหัวใจในมลรัฐมิสซูรี่

ที่มา: https://thaisocialwork.files.wordpress.com/2016/03/59-109-3.jpg


ดูอย่างในประเทศจีน ญี่ปุ่น เขาก็สร้างเขื่อนกันทั่วไปหมดโดยดูภาพ

เขื่อนทั่วญี่ปุ่น

ที่มา: https://thaisocialwork.files.wordpress.com/2016/03/59-109-2.jpg

เขื่อนทั่วภูเขาในเซียะเหมิน (http://bit.ly/1NVrkL4)

ที่มา: http://www.area.co.th/images/img_press/areapress163-2556_02.jpg

          อันที่จริง เราสามารถสร้างเขื่อนแบบนี้ได้ทั่วประเทศไล่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาภาคใต้ เก็บเก็บน้ำไว้ สมมติอย่างเขื่อนแม่วงก์ราคา 13,000 ล้านบาท สร้างสัก 100 เขื่อนก็แค่ 1.3 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้มาจากภาคเอกชนด้วยก็ได้  ชาวบ้านช่วยกันสมทบก็ยังได้ ให้ภาคเอกชนสร้างแล้วใช้เป็นที่ผลิตไฟฟ้า ท่องเที่ยว กีฬา ประมง ทำน้ำประปา ฯลฯ ก็ยังได้ แทนที่จะให้น้ำไหลลงทะเล ก็นำมาใช้ประโยชน์ ในหน้าน้ำก็กักเก็บน้ำไว้ป้องกันน้ำท่วม ในหน้าแล้งก็ปล่อยน้ำมาทำการเกษตร

          คิดอย่างมีบูรณาการให้ได้เพื่อชาติ เริ่มที่การสร้างเขื่อนแม่วงก์

อ่าน 5,020 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved