เขื่อนดีจริง เขื่อนภูมิพลคือข้อพิสูจน์
  AREA แถลง ฉบับที่ 433/2559: วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            พวกเอ็นจีโอมักกล่าวหาว่าเขื่อนเป็นสิ่งไม่ดี แต่ความจริงดียิ่ง พิสูจน์ได้จากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนอื่น ๆ ถ้าไม่ดีจริง เขาไม่สร้างเขื่อนมาเมื่อ 2,000 ปีก่อน และล่าสุดธนาคารโลกยังสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาด สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะ

            เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2496 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาแล้วเสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เขื่อนนี้เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 (http://bit.ly/2fxBm74)

            เขื่อนภูมิพลสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนโค้งที่สูงเป็นอันดับ 27 ของโลก ในหลวง ร.9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วย งานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า

            คุณูปการของเขื่อนภูมิพลในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2507-2557) ก็คือ การสร้างความเจริญให้กับประเทศด้วยการเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ มีหน้าที่หลักในการกักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค และเป็นตัวช่วยสำคัญในการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ทั้งยังมีผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในรอบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลได้พัฒนาและผลิตไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 64,580.63 ล้านหน่วย ชดเชยการนำเข้าน้ำมันเตาได้กว่า 15,466.75 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 342,418.16 ล้านบาท

            เขื่อนภูมิพลยังระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 270,951 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และชัยนาท กว่า 10 ล้านไร่ ส่งเสริมอาชีพประมงให้สามารถจับสัตว์น้ำได้กว่า 13,150 ตัน คิดเป็นมูลค่า 427.37 ล้านบาท อีกทั้ง ยังส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าชมเขื่อนมากกว่า 27 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่อาศัยรอบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลจำนวนมาก (http://bit.ly/2fOyBxh)

            อันที่จริง เขื่อนเป็นนวัตกรรมตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์แล้ว เขื่อนสิ่งดีๆ ที่มนุษย์ใช้ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อมนุษยชาติมาช้านานแล้ว มรดกโลกเขื่อนตูเจียงเอี้ยน (Dujiangyan) ที่เมืองตูเจียงเอี้ยน มณฑลเสฉวน ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2542 โดยสร้างมากกว่าสองพันปีแล้วตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ นอกจากเป็นเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเขื่อนที่ยังคงใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน http://goo.gl/fGzqCS

            เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ “เลี้ยว” กลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น “Wrong Message” แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว “This is now. We are back”. (http://goo.gl/SLSYt6)

            มีบางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ทั่วโลกเขาเลิกสร้างเขื่อนกันแล้ว อันนี้เป็นการ “แหกตา” กันทั้งเพ จากตัวเลขล่าสุดพบว่า ปริมาณเขื่อนที่จะสร้างใหม่มีมากกว่าปริมาณเขื่อนที่ถูกรื้อทิ้ง และที่รื้อทิ้งก็เพราะอายุร่วม 100 ปีแล้ว หมดอายุขัยทางเศรษฐกิจ และที่น่าตกใจก็คือที่เขารื้อเขื่อนก็เพราะเขาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานอื่น โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งในกรณีประเทศไทยกลัวกันจนลนลาน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เราต้องไปซื้อไฟฟ้ามาใช้จากประเทศลาว

            ส่วนที่เวียดนาม ก็มีบางคนบอกว่า เขาเลิกสร้างเขื่อนไปหลายเขื่อนแล้ว แต่ในความเป็นจริง เขื่อนที่เลิกไปนั้น มักสร้างไม่ได้มาตรฐานโดยนักลงทุนจากประเทศจีน แต่ปริมาณเขื่อนขนาดกลางขนาดเล็กคล้ายเขื่อนแม่วงก์ของไทยที่มีขนาดเล็กกว่าเขื่อนภูมิพลถึง 50 เท่านั้น มีสร้างกันมหาศาลในเวียดนามและที่น่าตกใจอีกเช่นกันก็คือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของเวียดนามก็จะเสร็จในไม่ช้า เขาวางแผนที่จะสร้างนับสิบโรง โดยโรงที่อยู่ใกล้ไทยที่สุดตั้งอยู่ห่างเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าระเบิด (เถิดเทิง) ขึ้นมาเมื่อไหร่ ไทยก็คงไม่รอด! แต่เราไม่ควรกลัว เพราะถ้ากลัว เราคงต้องไม่ไปเที่ยวเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรปอันแสนโรแมนติก เพราะที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับร้อยๆ แห่ง

            การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคืนธรรมชาติให้ดีขึ้น เพราะน้ำคือชีวิต น้ำจะทำให้ป่าไม้รกชัฏ มีแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า สามารถใช้น้ำดับเพลิงได้ เพราะที่ป่าแม่วงก์เกิดไฟไหม้ปีละนับร้อยหน สัตว์ป่าก็จะแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ที่สำคัญสำหรับประชาชนคนเล็กคนน้อย ก็จะมีเขื่อนไว้ป้องกันน้ำท่วม แก้ภัยแล้ง ผลิตไฟฟ้า ประมง ท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ยิ่งพูดถึงความคุ้มค่าก็แทบไม่ต้องพูดถึง ทุกวันนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วม ฝนแล้งแก่ชาวบ้านใกล้เคียงนับร้อยนับพันล้านบาทต่อปี เทียบกับค่าสร้างเขื่อน 13,000 ล้าน จึงนับว่าคุ้มมาก

            สร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อพี่น้องประชาชนเถอะ ราว 80% ของประชาชนต้องการเขื่อน (http://bit.ly/2c17hdD) ฟังประชาชนส่วนใหญ่บ้าง หรือจะฟังเอ็นจีโอในฐานะเจ้าของประเทศ?

อ่าน 9,371 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved