วัดธรรมกาย กับ พรบ.ควบคุมอาคาร
  AREA แถลง ฉบับที่ 10/2560: วันพฤหัสบดีที่ 05 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าว อบต.คลองสาม สั่งห้ามใช้โบสถ์วัดธรรมกาย และสั่งยึดรั้ววัดธรรมกาย แถมห้ามเคลื่อนย้าย!?! ในกรณีนี้ถือว่าวัดธรรมกายผิดกฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคารหรือไม่ เราท่านพึงทราบเพื่อจะได้ทำให้ถูกต้องต่อไป

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข่าว "ธรรมกายฟ้องนายก อบต.คลองสาม กรณีห้ามใช้โบสถ์ ชี้สะเทือนใจชาวพุทธ (http://bit.ly/2i9lus8) และมีข่าวรื้อรั้วของวัดธรรมกายว่า "ติดป้ายกำแพงวัดธรรมกาย “ห้ามเคลื่อนย้ายของกลาง” สร้างไม่ขออนุญาต ทนาย-พระโต้ทำเพื่อศาสนาไม่ผิด" (http://bit.ly/2j3vq6K) ความจริงในด้านข้อกฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคารเป็นอย่างไรกัน


(ที่มา: http://bit.ly/2hRk2Ne)

 


(ที่มา: http://bit.ly/2j3vq6K)

            ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (http://bit.ly/2hPqFwr) กำหนดในมาตรา 4 ว่า “อาคาร” หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้าสำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึง

            (๑) อัฒจันทร์หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน

            (๒) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอด เรือ รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะหรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย

            (๓) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

            (ก) ที่ติดหรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะและมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตรหรือ มีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม

            (ข) ที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้วระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดหรือมีน้ำหนัก เกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

            (๔) พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถสำหรับอาคารที่กำหนดตามมาตรา ๘ (๙)

            (๕) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

            โดยนัยนี้ กำแพงวัด ก็ถือเป็นอาคารประเภทหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นตามมาตรา ๗ ยังระบุว่า "ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎระทรวงยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไข ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเกี่ยวกับอาคาร ดังต่อไปนี้. . . (๔) โบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนาซึ่งมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างไว้แล้วโดยเฉพาะ

            ดังนั้นโบสถ์ของวัดธรรมกาย จึงสามารถสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาต รวมทั้งรั้วของวัดที่สร้างบนที่ดินของวัดเพราะถือเป็นการสร้างเพื่อการศาสนาโดยตรง จึงถือได้ว่าไม่น่าที่วัดธรรมกายจะดำเนินการผิดกฎหมายแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นตัวโบสถ์ก็สร้างมาก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายเสียอีก สำหรับรั้วทั้งหลายนั้นกฎหมายกำหนดว่าสูงได้ไม่เกิน 3 เมตรตามที่วัดธรรมกายสร้างไว้ และวัดก็มีพื้นที่กว้างขวางมาก การสร้างกำแพงล้อมรอบบนที่ดินของวัดเอง จึงเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว

            ข้อนี้อาจเป็นเรื่อง "การเมือง" ซึ่งเพราะ "นายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายก อบต.คลองสาม กล่าวว่า. . .เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เรียก อบต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุมกรณีวัดพระธรรมกาย . . .ถ้าเราไม่แจ้งความวัดพระธรรมกาย เราก็โดนตำรวจแจ้งข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แทน  เรื่องนี้เราพูดไม่เข้าคายไม่ออก เราจำเป็นต้องแจ้งทั้งที่เราไม่อยากแจ้ง ไม่แน่ใจว่าทางชุมชนจะเข้าใจหรือไม่ว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำ เป็นไปตามที่ทางวัดแถลงว่าอุโบสถสร้างก่อนปี 2522 สร้างก่อนที่จะมี อบต.ในปี 2530 เสียด้วยซ้ำ พอเขาฟ้อง เราก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง อ่วมอรทัยไม่รู้จะทำอย่างไร. . .กรณีวัดพระธรรมกายเป็นการแจ้งความก่อน ซึ่งปกติไม่เคยมีการเร่งรัดแบบนี้ เพราะ อบต.ต้องอยู่กับชุมชน. . ." (http://bit.ly/2iHjZ7Y)

            เรื่องการเมืองเป็นอย่างไร คงไม่ใช่สิ่งที่ ดร.โสภณ จะนำเสนอถึงในที่นี้ เพียงแต่นำเสนอให้เห็นถึงข้อกฎหมายที่สาธารณชนพึงทราบ

อ่าน 13,760 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved