ป่าเขา. . .มิได้มีไว้เลี้ยงงูเงี้ยวเขี้ยวขอ
  AREA แถลง ฉบับที่ 21/2560: วันอังคารที่ 10 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ป่าเขา มิได้มีไว้เพื่อเลี้ยงดูงูเงี้ยวเขี้ยวขอ แต่มีไว้เพื่อทำประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อประชาชนเป็นสำคัญ มาดูประสบการณ์อันอุดมและชาญฉลาดในอาเซียนกัน จะได้ "ตาสว่าง" ไม่อนุรักษ์ธรรมชาติส่งเดช

            ครั้งแรกที่ผมไปที่เก็นติ้งไฮแลนด์ในมาเลเซียเมื่อปี 2533 หรือ 26 ปีก่อน แต่เขาก็เปิดมาก่อนผมไปตั้ง 19 ปี คือเปิดในปี 2514 หรือ 55 ปีมาแล้ว เก็นติ้งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 1,800 เมตร และอยู่ในรัฐปาหัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปทางเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง บนนั้นอากาศหนาวเย็น ลมแรง สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเหมาะแก่การท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง บนยอดเขายังมีโรงแรมให้พัก มีห้องพักรวมกันถึง 6,300 ห้อง มีสวนสนุก ร้านค้า ภัตตาคาร กระเช้าไฟฟ้าสะดวก ปลอดภัยที่คนชราและผู้พิการสามารถขึ้นไปชื่นชมธรรมชาติได้เช่นกัน และอื่น ๆ รวมทั้งกาสิโน ทั้งที่อยู่ในประเทศมุสลิมก็ตาม

            ขนาดของเก็นติ้งคือ 30,625 ไร่ หรือราว ๆ 49 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าเขตทวีวัฒนาของกรุงเทพมหานครเพียงเล็กน้อย การที่มาเลเซียยินดีให้พัฒนาโครงการนี้ก็เพราะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่มองเห็นว่าเก็นติ้งจะสามารถสร้างรายได้ได้มหาศาล ในขณะนี้มูลค่าของเก็นติ้งน่าจะเป็นเงินราว 6 แสนล้านบาท หากสามารถสร้างรายได้ๆ ปีละ 5% ของมูลค่าก็เท่ากับปีละ 30,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 55 ปี ณ ดอกเบี้ยปีละ 4% ก็เท่ากับสามารถสร้างเงิน ณ มูลค่าปัจจุบันสูงถึง 663,258 ล้านบาทเข้าไปแล้ว (http://bit.ly/2hYoY0M) ยิ่งถ้ารวมรายได้ของประชาชนโดยรอบ คงสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างเหลือคณานับ

            ในทางตรงกันข้ามถ้ามาเลเซียปล่อยไว้เลี้ยงดูงูเงี้ยวเขี้ยวขอ ก็คงเป็นความสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก  กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เห็นแก่สิงสาราสัตว์ หรือธรรมชาติ เพียงแต่เราเอาที่ดินบางส่วน (ป่าและเขา) มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่เหลือที่ส่วนใหญ่ไว้เพื่อการอนุรักษ์ ยิ่งถ้ามีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ยิ่งมีเงินทองและทรัพยากรมาใช้เพื่อการพัฒนาฟื้นฟูธรรมชาติยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม ยิ่งปล่อยป่าไม้ทิ้งไว้ตามยถากรรมและไม่มีใครเข้าไปดูแล ยิ่งเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเสียเอง

            ท่านทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปีพื้นที่ป่าไม้ของไทยหายไปปีละ 1 ล้านไร่ (http://bit.ly/2hTgMSE) หรือราวๆ 100 เท่าของพื้นที่ ๆ จะใช้สร้างเขื่อนแม่วงก์ การสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็เพื่อให้ป่าไม้มีน้ำเขียวชอุ่ม สัตว์ป่าจะได้สมบูรณ์เพราะป่าปก ประชาชนจะได้ประโยชน์มีเขื่อนไว้กักเก็บน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง มีน้ำเพื่อการชลประทาน ผลิตไฟฟ้าโดยไม่สร้างมลภาวะเพราะใช้น้ำ สามารถทำประมงและการท่องเที่ยวได้อีก ฯลฯ แต่พอจะสร้างก็ถูกคนส่วนน้อยนิด ปั่นหัวไม่ให้สร้างไปเสีย ตั้งแต่ปี 2525 จนปัจจุบัน ตั้งแต่ย้ายชาวบ้าน 200 ครัวเรือนออกมาตั้งอยู่หน้าทางเข้าเขื่อนจนต้นไม้ค่อย ๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ยังไม่ได้สร้างทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ราว 78% ต้องการให้สร้าง

            ตัวอย่างที่จะทำให้เรา "ตาสว่าง" ขึ้นมาอีกอันหนึ่งก็คือ "บานาฮิลล์" ที่นครดานัง ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามที่ผมเพิ่งเดินทางไปประเมินค่าทรัพย์สินเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในแต่ล่ะวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อนั่งกระเช้าชมความสวยงามดั่งสวรรค์ของเขาบานาฮิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร ที่นี่มีโรงแรมที่พัก สวนสนุก ศาลเจ้า สวนไม้ดอกนานาพันธุ์ ฯลฯ ทั้งนี้บานาฮิลล์เป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองแล้ว

            สิ่งที่เร้าใจมากและทำให้เราตาสว่างมากเช่นเดียวกับที่เก็นติ้งก็คือกระเช้าไฟฟ้าเพราะทำให้เห็นทัศนียภาพที่สวยงามเป็นอย่างยิ่ง กระเช้านี้เป็นกระเช้าที่ยาวที่สุดโดยยาวถึง 5 กิโลเมตร วิ่งโดยไม่หยุดแวะพักและยังเป็นกระเช้าที่สูงที่สุดในโลกจากระดับน้ำทะเลคือสูงถึง 1,300 เมตร ระหว่างนั่งกระเช้าสู่ยอดเขาบานาฮิลล์ จะผ่านเขากว่า 20 ลูก โดยไม่ได้ทำลายธรรมชาติเหมือนอย่างที่พวกเอ็นจีโอในประเทศไทย "ดรามา" ว่าจะทำลายธรรมชาติหากสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง กระเช้าที่ลังกาวีก็สวยงามยิ่ง (http://bit.ly/2h8w1pu) ผมเองไปสำรวจภูกระดึงยังพบว่าประชากรถึง 97% ต้องการให้สร้าง (http://bit.ly/1povC3l) แต่แพ้เสียงส่วนน้อยที่มีพลังอำนาจมากกว่า

            ในการบริหารรัฐกิจนั้น เราต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นมงคล เป็นสรณะ การเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่การบีฑาส่ำสัตว์ แต่เป็นการเกื้อหนุนกันและกันมากกว่า การเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนั้น ต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์ของนายทุนเป็นหลัก แต่เห็นแก่ประชาชนเจ้าของประเทศส่วนใหญ่ แม้แต่กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ ประชาชนในพื้นที่ต่างก็สนับสนุน ที่ค้านก็มีแต่เป็นส่วนน้อยมาก ตลอดเวลาที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ในช่วงปี 2509-2538 ก็มีรีสอร์ตเกิดขึ้นมากมาย แสดงว่าไม่ได้มีมลภาวะ ในมาเลเซียก็เช่นกัน  แต่พวกเอ็นจีโอมักขายความกลัว ทำให้อะไรต่าง ๆ ชะงักงัน เป็นการสร้างบาปต่อประเทศโดยแท้

            ในสิงคโปร์ที่มีขนาดเพียง 3 เท่าของเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เขาก็ยังเจียดพื้นที่มาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในประเทศ แต่ของไทยกลับทำไม่ได้ ที่สำคัญประเทศนี้เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน เช่น หากใครมาซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไร จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโอนให้รัฐ 15% ของมูลค่าที่ซื้อ เช่น ซื้อห้องชุดราคา 10 ล้านบาท ก็ต้องจ่ายภาษี 1.5 ล้านบาท ในฐานที่มา "เก็งกำไร" และหากจะขายบ้านที่ซื้อไว้ภายใน 1 ปี แสดงว่ามุ่งทำกำไรโดยแท้ ก็ต้องเสียภาษี 15% ของกำไร เช่น ใน 1 ปี เกิดขายได้ 11 ล้านบาท จากที่ซื้อมา 10 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 150,000 บาท จากกำไร 1 ล้านบาทนั่นเอง

            รัฐบาลที่ดี รัฐบาลของประชาชน จะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เห็นแก่ประชาชนส่วนน้อย เช่น พวกนายทุนนักพัฒนาที่ดิน ไม่ใช่เหมือนบางประเทศที่พอนายทุนขายบ้าน เกิดขายบ้านไม่ออก รัฐบาลก็จัดรายการส่งเสริมการขายโดยการตัดเนื้อตัวเอง เช่น ลดภาษีให้ กระตุ้นให้ซื้อกันใหญ่ นัยก็คือเอาทรัพยากรต่าง ๆ ไปลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินรายใหญ่ ๆ โดยให้ความเสี่ยงกระจายไปสู่ผองชน ให้ชาวบ้านรับซื้อบ้านไปคนละหลังสองหลัง เพื่อให้นายทุนขายบ้านได้คล่องขึ้น

            นึกแล้วสะเทือนใจ อันที่จริงยอดเขาของไทยเราก็มีการพัฒนาเหมือนกัน แต่วัดดังๆ ที่ไปบุกรุกอยู่บนนั้น เราต้องมีวิสัยทัศน์การพัฒนาให้แจ่มชัดเพื่อประเทศไทย เพื่อลูกหลานไทย

เก็นติ้งไฮแลนด์

ที่มา: http://static.asiawebdirect.com/m/kl/portals/kuala-lumpur-ws/homepage/genting-highland/pagePropertiesImage/genting-highlands.jpg

 

บานาฮิลล์

ที่มา: http://danangbackpackershostel.com/wp-content/uploads/2016/07/DJI00305_zing_1.jpg

 

กระเช้าลังกาวี

ที่มา: http://www.langkawi.sg/wp-content/uploads/2016/02/Family-ride-at-Langkawi-Cable-Car.jpg

อ่าน 9,305 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved