ที่ดินพระธรรมกาย พุทธะอิสระ พระพยอม
  AREA แถลง ฉบับที่ 35/2560: วันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในขณะนี้มีข่าวเกี่ยวกับที่ดินวัดธรรมกายสาขาโน่นนี่ ถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมาย ถูกสั่งปิด สั่งห้ามใช้สถานที่บ้าง เรามาดูกันว่า วัดต่าง ๆ ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง แม้แต่ที่ดินของพุทธะอิสระ และพระพยอม ก็อาจถูกตรวจสอบ แล้วเราจะหาทางออกกันอย่างไรดี จึงจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ที่ธรรมกายเขาใหญ่

            เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายไพโรจน์ บัวน่วม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบที่ดินของศูนย์ฯ (http://bit.ly/29rRJkJ) พบว่า มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 480-0-61 ไร่ (480.1525 ไร่) พบมีเอกสารสิทธิจำนวน 13 แปลง แยกเป็นโฉนดที่ดิน 3 แปลง เนื้อที่ 62-3-95 ไร่ และ น.ส.3 ก.จำนวน 10 แปลง เนื้อที่ 230-3-08 ไร่ รวมมีเอกสารสิทธิที่ดินจำนวนเนื้อที่ 293-3-03 ไร่ ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 186-1-58 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด พื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น นิคมสร้างตนเองลำตะคองยืนยันว่าเป็นพื้นที่ในเขตนิคมฯ ตามแผนที่แนบท้ายประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

            นอกจากนี้เอกสารแสดงสิทธิเดิมก่อนนำมาออกโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก.ดังกล่าว ทั้งหมดมีที่มาจากเอกสาร น.ค.3 ของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการตามขั้นตอนและกฎระเบียบของทางราชการ ฉะนั้นเบื้องต้นจึงยืนยันได้ว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวข้างต้นได้มาโดยชอบตามกฎหมาย ประเด็นที่พึงพิจารณาเพิ่มเติมจึงอยู่ที่ว่าอยู่ในเขตป่าไม้หรือเป็นที่ ส.ป.ก.หรือไม่

            จากการสำรวจพบว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2515 ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแต่อย่างใด จึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเขตป่าไม้หรือเป็นที่ ส.ป.ก. ทั้งนี้ได้ตรวจสอบกับที่ทำการนิคมสร้างตนเองลำตะคองเมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ดินของศูนย์ฯ นี้ตั้งอยู่ในระวางที่ดินเลขที่ 7004, 7006, 7204 และ 7206 โดยมีแนวเส้นเขตป่าไม้อยู่ห่างออกไปจากแปลงที่ดิน (http://bit.ly/29wpKRf)

ที่ดินวัดดังๆ บนยอดเขา

            วัดถ้ำเสืออยู่ในตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวต่างประเทศ ทั้งความโดดเด่นของวัดและชื่อเสียงของ "หลวงพ่อจำเนียร" ประธานสงฆ์วัดถ้ำเสือที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาช้านาน สภาพโดยทั่วไปของ วัดถ้ำเสือมีลักษณะ เป็นสวนป่า เป็นโพรงถ้ำ มีเพิงผาและแหล่งถ้ำธรรมชาติ เช่น ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำลอด ถ้ำช้างแก้ว ถ้ำลูกธนู ถ้ำงู ถ้ำเต่า ถ้ำมือเสือ เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


ที่มา: http://www.chillpainai.com/src/wewakeup/scoop/img_scoop/scoop/ssru-NEW/14/TPUN/tp3.jpg

 


ที่มา: http://travel.mthai.com/app/uploads/2015/01/20140623_3_1403509542_757121.jpg

            วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ที่ “ดอยปู่ยักษ์” บ้านทุ่งทอง ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นแหล่งท่องเที่ยว “อันซีน” เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก มีลักษณะเป็นผาหินสูงชัน บนยอดของภูเขาที่สูงที่สุดนั้น มีรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ วัดจะมี 2 ชั้น วัดชั้นล่างสามารถขับรถไปจอดหน้าวัดได้เลย ส่วนวัดชั้นบนที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ต้องขับรถขึ้นไป 3 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

            ยิ่งกว่านั้นที่ผ่านมาก็มีข่าว 'ระนอง'ตัดยอดเขาเตียน สร้างเจดีย์ ‘ชาวบ้าน’ เดือดฝนชะซัดโคลน (http://bit.ly/2h90G5W) โดยข่าวกล่าวว่า "ชาวบ้านสุดทนวัดป่าชัยมงคลปรับพื้นที่ยอดเขาหลังวัดเหี้ยนเตียนเป็นหน้ากลอง ทำให้ฝนชะดินโคลนไหลเข้าบ้านเรือนประชาชนรอบวัด บ่อปลาเล้าไก่เสียหาย น้ำประปาหมู่บ้านเริ่มมีสีขุ่น ผอ.สำนักพุทธศาสนาจังหวัดระนองยันมีการขออนุญาตใช้พื้นที่ถูกต้อง แต่ทางเทศบาลยืนยันยังไม่มีการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้าง ตรวจสอบพบมีการปรับพื้นที่เพื่อทำถนนกว้าง 40 เมตร ไปถึงพื้นที่ก่อสร้างเจดีย์ มีต้นไม้ใหญ่กว่า 300 ต้น ถูกตัดโค่นกองอยู่ตลอดเส้นทาง ขณะที่คนงานก่อสร้างยังทำงานต่อเนื่องทั้งที่เจ้าอาวาสรับปากชะลอโครงการก่อสร้างไว้ก่อน" (วัดป่าชัยมงคล หมู่ 3 ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง)


ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/537488

ที่ดินของพุทธะอิสระ

            ตามข่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 (http://bit.ly/29BNSEf) "พุทธะอิสระ" กล่าวถึงกรณีที่มีการนำภาพที่อ้างว่าเป็นการครอบครองที่ดินป่าสงวน ที่บ้านใหม่วังผาปูน ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งระบุว่า เป็นของพระพุทธะอิสระ มาเผยแพร่ทางโลกสังคมออนไลน์ว่า "อาตมาได้ปรารภ. . .อยากให้ภาคเหนือมีป่า มีน้ำใช้ตลอดปี. . .ไปเจรจากับชาวบ้านบริเวณป่าที่ถูกบุกรุก ว่า ขอคืนพื้นที่ในส่วนของต้นน้ำ โดยจ่ายเงินให้กับคนที่ครอบครองที่ดิน ที่ส่วนใหญ่เป็นครู และข้าราชการ เพื่อดำเนินการปลูกป่าให้กับรัฐบาล. . . . ความจริงแล้วไม่ได้มี 3,000 ไร่ อย่างที่มีการออกข่าวมีเพียง 300 ไร่เท่านั้น และจ่ายไป 3 ล้านกว่าบาท . . . ได้มีการทำสัญญากับทางกรมป่าไม้ ว่าจะฟื้นฟูป่า. . . 10 ปีก็จะคืนที่ดินให้กับกรมป่าไม้ แต่ยอมรับว่าพื้นที่ป่าดังกล่าว ไม่มีเอกสารสิทธิจริงและเป็นป่าสงวนแห่งชาติ"


ที่มา: http://www.dailynews.co.th/admin/upload/20160712/news_ubPEqBntql102927_533.jpg

            กรณีข้างต้นผมขอให้ข้อสังเกตว่า:

            1. การได้มาซึ่งที่ดินของ "พุทธะอิสระ" นี้ มาจากการซื้อขายกับผู้ครอบครองรายก่อนที่บุกรุกมาเช่นกัน

            2. การซื้อขายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกระทั่งเอกสารสิทธิ์ใดๆ และเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

            3. กรณีที่ว่ามีสัญญากับกรมป่าไม้ ก็ไม่อาจตรวจสอบได้ หากมีสัญญาจริง ก็ควรนำมาแสดงให้เห็นชัดเจน

            ยิ่งกว่านั้น การอ้างว่าการปลูกป่านี้จะสามารถช่วยให้มีน้ำใช้ตลอดปีนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ นอกจากนั้นบริเวณภูเขาหัวโล้นนี้ ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าต้นน้ำที่ชัดเจน (คงต้องไปตรวจสอบ) เพราะเป็นที่ปลูกข้าวโพดและพืชไร่เดิมที่ซื้อมาจากชาวบ้าน สำหรับขนาดที่ดินที่ว่ามี 300 ไร่นั้น จากการดูจากวีดีทัศน์ของ "พุทธะอิสระ" (http://bit.ly/29ChbBv) น่าจะมีมากกว่านี้ ซึ่งข้อนี้ควรได้รับการตรวจสอบเช่นกัน

ที่ดินของพระพยอม

            พระพยอมเป็นพระนักปฏิบัติดีปฏิบัติของท่านหนึ่ง แต่หากถูกหาเรื่องขุดคุ้ย ก็อาจกลายเป็นประเด็นได้เช่นกัน เช่น ในกรณีที่ดินสาขาของท่านบางแห่ง แห่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มูลนิธิสวนแก้วสาขาซอโอ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก พื้นที่ประมาณ 342 ไร่ พระพยอมบอกว่าเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2542 โดยซื้อที่ดินเป็นเงินถึง 16.9 ล้านบาท (ไร่ละเพียง 50,000 บาท) และมีสิ่งก่อสร้างอีก 65 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 81.9 ล้านบาท (http://bit.ly/2iu4k8S)

            ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับที่ดินในบริเวณบ้านซอโอ ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตากนั้น เป็นที่ดินตามใบ ภบท.5 เกือบทั้งหมด ที่ดินประเภทนี้ซื้อขายไม่ได้ และขณะนี้กำลังมีการออกเป็นใบ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งวัดก็ไม่สามารถรับบริจาคมาทำสำนักสงฆ์ แต่อย่างใด การที่พระพยอมสามารถซื้อที่ได้ในราคาถูกเช่นนี้ ก็คงเป็นการซื้อขายที่ดินประเภท ภบท.5 เป็นสำคัญ หากมีการตรวจสอบแบบเดียวกับวัดธรรมกาย ก็อาจถูกทางราชการตั้งคำถามเช่นกัน อาคารที่พระพยอมสร้างไปถึง 65 ล้านบาท คงไม่ได้ขออนุญาต แต่ข้อนี้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะกิจการของวัดไม่ต้องขออนุญาต แต่การสร้างบนที่ดินที่ไม่อาจซื้อขายได้ อาจกลายเป็น 0 หนักกว่ากรณีโฉนดถุงกล้วยแขก

            อย่างไรก็ตามในกรณีวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ไม่ได้อยู่บนยอดเขา แต่อยู่ในเขตป่า หรือพื้นที่ ภบท.5 ทางราชการอาจผ่อนผันให้มีการเช่าตรงกับทางราชการ จะให้มีการซื้อขายกันเองระหว่างชาวบ้านไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ที่มีการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน นี่อาจเป็นทางออกหนึ่ง โดยพิจารณาให้สิทธิประชาชนแปลงที่ดินใบ ภบท.5 หรือ สปก.4-01 ในบางบริเวณที่กลายเป็นเมืองแล้ว ให้เป็นโฉนด การนี้จะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนเพิ่มของมูลค่า เช่น ถ้าเป็นที่ ภบท.5 ราคาขายแบบผิดกฎหาย อาจเป็น 50,000 บาท/ไร่ แต่ถ้ามีโฉนดถูกกฎหมาย อาจกลายเป็น 100,000 บาทต่อไร่  ราคาส่วนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลควรเก็บภาษี 30% เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ ผมเชื่อว่าชาวบ้านจะยินดีจ่ายภาษีนี้อย่างแน่นอน

            เราควรสังคายนาจัดการที่วัดทั่วประเทศ แทนที่จะเล่นงานเพียงวัดเดียว

อ่าน 11,376 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved