แปลก วัดพระพุทธบาทครองที่ดินรัศมี 1 โยชน์ (ครึ่ง กทม.)!
  AREA แถลง ฉบับที่ 84/2560: วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มีเรื่องแปลกเกิดขึ้นคือมีคำพิพากษาให้วัดพระพุทธบาท สระบุรีครองพื้นที่โดยรอบ 1 โยชน์ (804.57 ตร.กม. หรือ 502,857 ไร่ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของเขตกรุงเทพมหานคร ตามโองการของพระเจ้าทรงธรรมเมื่อเกือบ 400 ปีก่อน โฉนดที่ดินในพื้นที่โดยรอบจึงถือว่าไม่มีค่า!?!

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้พบในเอกสาร “งานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรื พ.ศ.2560” (หน้า 61) ระบุว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าทรงธรรม) อุทิศถวายพนาสณฑ์เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยรอบแล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจัดการสถาปนาเป็นมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และสร้างอุโบสถ” อย่างไรก็ตามหากดูจากภาพถ่ายดาวเทียมจะพบว่าบริเวณโดยรอบมีบ้านเรือนประชาชนอยู่เต็มไปหมด

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2516 (http://bit.ly/2kay6zC) ระบุว่า

"ที่ดินของวัดนั้นกรรมสิทธิ์จะโอนไปได้ก็แต่โดยการออกพระราชบัญญัติเท่านั้น ที่พิพาทอยู่ในเขตพระพุทธบาทซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้อุทิศไว้แต่โบราณกาลโดยมีวัดพระพุทธบาทเป็นผู้ดูแล แม้จำเลยจะได้รับโฉนดสำหรับที่พิพาทมา ก็หาถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติไม่ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาการได้ที่ดินมาโดยการรังวัดออกโฉนดหรือโดยการโอนชื่อทางทะเบียนใช้ยันต่อวัดได้แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่มีทางที่จะแย่งเอากรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นของวัดไปเป็นของตนได้ และแม้ทางวัดจะได้ปล่อยปละละเลยไว้เป็นเวลานานกว่าจะได้ใช้สิทธิติดตามว่ากล่าวเอาจากจำเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัดก็หาระงับสิ้นสุดไม่"

"โจทก์อ้างเอกสาร พระราชพงศาวดารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทเป็นพยานว่า พระพุทธบาทได้ถูกค้นพบในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมระหว่างปี พ.ศ. 2163-2271 แล้ว พระเจ้าทรงธรรมทรงโสมนัสศรัทธาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาเจดีย์สถานมีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และพระสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่บริบาล และได้ทรงพระราชอุทิศที่โยชน์หนึ่งโดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชากัลปนาผล นอกจากเอกสารโจทก์ยังนำสืบผู้ที่สูงอายุเป็นพยานประกอบหลายปากว่า ต่างได้รับทราบได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมาตรงกันว่า พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินถวายโดยรอบพระพุทธบาทมีอาณาเขตถึงหนึ่งโยชน์โดยรอบ ข้อความที่เล่าสืบกันมาทางประวัติศาสตร์นี้รับฟังประกอบกับหลักฐานพระราชพงศาวดารของทางราชการได้"

            อาจกล่าวได้ว่าที่ดินรัศมี 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตรนั้น มีพื้นที่ 804.57 ตารางเมตร หรือ 502,857 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของเขตกรุงเทพมหานครที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเสียอีก ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แถวนั้นเป็นป่าซึ่งผ่านไปถึงเกือบ 400 ปีแล้ว สถานการณ์จึงไม่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2479 ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ตำบลขุนโขลน อำเภอหนอกโดน จังหวัดสระบุรี

            นอกจากนี้ ได้มี "นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นนิคมสร้างตนเองแห่งแรกที่ได้จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยความคิดริเริ่มของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กระทำพิธีเปิดนิคมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484. . .การดำเนินงานจัดตั้งนิคมสร้างตนเองแห่งนี้ ได้อาศัยพระราชกฤษฎีกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอเสาไห้ อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองโดน และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดสระบุรี และอำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง และอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2483. . .(พื้นที่) ประมาณ 1.2 ล้านไร่ ไร่ โดยมีศูนย์กลางการบริหารงานอยู่ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยใช้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นหลักในการดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้" (http://bit.ly/2ktkMXX)

            โดยนัยนี้

            1. ที่ดินระยะ 1 โยชน์ตามพงศาวดารที่เป็นโองการของพระเจ้าทรงธรรมยังมีผลบังคับใช้อยู่

            2. ที่ดินนิคมสร้างตนเอง ที่ทับที่อยู่ ก็มีสิทธิเพราะออกตามพระราชบัญญัติ

            3. ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับวัดพระพุทธบาท สระบุรี กลับไม่มีสิทธิ

            4. ทางแก้ไขจึงเป็นการออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระบรมราชโองการของพระเจ้าทรงธรรม และให้วัดพระพุทธบาทมีพื้นที่โดยรอบตามความเป็นจริง และป้องกันการบุกรุกเพิ่มเติม

            อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ประชาชนก็คงไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยในขณะนี้อยู่แล้ว แต่โดยที่มีคำพิพากษาศาลฎีกานี้ จึงเชื่อว่าการซื้อขายที่ดินจึงไม่อาจทำได้ ผู้ซื้อ (โดยเฉพาะบุคคลภายนอก) ก็คงขาดความมั่นใจใจการซื้อ และหากมีการซื้อก็คงทำให้ราคาที่ดินไม่สูงมากนักเพราะมีข้อจำกัดอยู่ แต่หากมีการออกพระราชบัญญัติใหม่ยกเลิกโองการดังกล่าว ก็จะทำให้ที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็ควรจะมีมาตรการพิเศษที่ว่าหากราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเพราะการนี้ ก็ให้เก็บภาษี 15-20% ของราคาที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

            แต่ก็อาจทีกรณีที่บางคนอาจไม่มีเงินเสียภาษีเพราะยากจน แต่การจะอ้างความยากจนแต่ครองทรัพย์สินไว้ ก็คงไม่ได้  ก็อาจต้องขายที่ดินให้กับ "องค์การบริหารจัดการพระพุทธบาท" ที่ตั้งขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ หรืออาจขายบางส่วนลดขนาดที่ดินลงเพื่อนำเงินมาชำระภาษี หรืออาจแลกเปลี่ยนที่ดิน จัดที่อยู่ให้ใหม่ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก็อาจเป็นได้ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เชื่อว่าสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ก็คงจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดิน ทั้งนี้ควรที่จะมีการประเมินค่าทรัพย์สิน ก่อนและหลังการยกเลิกโองการดังกล่าว

            การจัดการที่ดินที่เป็นธรรมจะสร้างความยินดีแก่ประชาชนเจ้าของประเทศ

ภาพที่ 1: วัดพระพุทธบาท สระบุรี และบ้านเรือนโดยรอบ


ภาพที่ 2: แผนที่ตามโองการของพระเจ้าทรงธรรมรัศมี 1 โยชน์


ภาพที่ 3: พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท


            ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ต่างยึดพระบรมราชโองการพระเจ้าทรงธรรมเมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีก่อน ที่ทรงอุทิศถวายที่ดินให้วัดพระบาทสระบุรีมีรัศมี ๑ โยชน์ ทำให้โฉนดกรมที่ดินที่ออกให้ราษฎรในรัศมี ๑๖ กิโลเมตรต้องเป็นโมฆะ กลายเป็นที่บุกรุกธรณีสงฆ์!!!

            พระพุทธบาทสระบุรีถูกค้นพบราว พ.ศ.๒๑๖๕ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งลาสิขาบทจากสมณศักดิ์พระพิมลธรรม มาครองราชย์ในช่วง พ.ศ.๒๑๖๓ – ๒๑๗๑ ได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ส่งสมณทูตไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ลังกาเป็นประจำ และทุกคณะจะอุสาหะขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ ต่อมาได้รับคำแนะนำจากพระเถระในลังกาว่า เขาสุวรรณบรรพตตามชื่อในภาษาบาลีก็มีอยู่ในสยามประเทศ น่าจะมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ก็เป็นได้ เมื่อนำความมากราบบังคมทูลพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดให้มีท้องตราไปยังเจ้าเมืองทั้งหลายให้สืบหารอยพระพุทธบาท จนได้พบบนเขาสัจจพันธ์ในเมืองสระบุรี

            ตำนานการพบพระพุทธบาทสระบุรีนี้กล่าวว่า “พรานบุญ” ซึ่งเป็นพรานป่าในย่านนั้น ได้ยิงเนื้อตัวหนึ่งบาดเจ็บ วิ่งหนีเข้าไปในพุ่มไม้บนไหล่เขา เมื่อพรานบุญตามเข้าไปก็เห็นเนื้อตัวนั้นกลับออกมาโดยไม่มีบาดแผลเหลืออยู่ พรานบุญประหลาดใจจึงตามเข้าไปดูในพุ่มไม้ ก็เห็นพื้นหินเป็นรอยลึกลงไปมีน้ำขังอยู่ คาดเดาว่าเนื้อคงจะดื่มน้ำในแอ่งนี้จึงหายบาดเจ็บ เลยลองวักดื่มดูบ้างและลูบไล้ไปตามตัว ก็ปรากฏว่ากรากเกลื้อนตามผิวหนังได้หายไป จึงได้วิดน้ำทั้งหมดออกดู ก็เห็นเป็นรอยเท้าคน จึงนำเรื่องแจ้งต่อเจ้าเมืองสระบุรี

            พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง โดยมีพรานบุญเป็นมัคคุเทศก์ ทรงพบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทมีรอยกงจักรประกอบมงคล ๑๐๘ ประการตรงตามที่ฝ่ายลังกาบอกมา ทรงโสมนัสปราโมทย์ สักการบูชาด้วยธูปเทียนหอมนับมิได้

พงศาวดารบันทึกไว้ว่า

            “....สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว อุทิศถวายวนาสณฑ์เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยล้อมรอบ แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจับการสถาปนาเป็นมณฑปสวมพระพุทธบาท แล้วสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญตึกกว้าน กุฎีสงฆ์เป็นอเนกประการ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวาตรงตลอดถึงท่าเรือ....”

            ทรงยกบริเวณนั้นขึ้นเป็นเมืองพระพุทธบาท มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ใช้เวลาก่อสร้างถึง ๔ ปีจึงเสร็จ ทรงเสด็จไปนมัสการและสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน นับแต่นั้นมาได้ถือเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จะต้องเสด็จมานมัสการและสมโภชเป็นประจำทุกปี สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์           

            บริเวณโดยรอบพระพุทธบาทจึงเป็นชุมชนที่มีราษฎรเข้าอยู่อาศัย บ้างก็แผ้วถางที่รกร้างเป็นที่ทำมาหากิน ซึ่งทางราชการก็ได้ออกเอกสารสิทธิ์ให้ผู้ครอบครองตามกฎหมาย

            ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๙ รัฐบาลของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เห็นว่าควรจะหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณพระพุทธบาทสระบุรีนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การพุทธศาสนา จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามขึ้น แต่คำนวณตามแผนที่ประกอบพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว ก็มีพื้นที่เพียง ๘,๕๑๓ ไร่เท่านั้น ไม่ครบตามที่พระเจ้าทรงธรรมอุทิศไว้ อีกทั้งต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามยังได้เวนคืนที่ดินจำนวนนี้ไป ๒,๐๐๐ ไร่ ให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สำหรับกรรมกรสามล้อในกรุงเทพฯที่เดือดร้อนจากการให้เลิกสามล้อใช้เป็นที่ทำกินด้วย

            ถึงอย่างไรราษฎรที่อยู่รอบวัดพระพุทธบาทก็ครอบครองที่ดินสืบทอดกันมาอย่างปกติสุข จนราว พ.ศ.๒๕๑๖ จึงเกิดเป็นคดีความกันขึ้นเมื่อวัดพระพุทธบาทโดยกรมการศาสนาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถือโฉนดในรัศมี ๑ โยชน์ ๒ คดี ในข้อหาว่าเอาที่ของวัดไปขอออกโฉนดโดยมิชอบ ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ ๘๕๒๘ สำหรับคดีแรก และเพิกถอนโฉนดที่ ๘๕๒๑ และ ๘๕๒๒ สำหรับคดีหลัง ปรากฏว่าสู้คดีกันถึง ๓ ศาล และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต่างก็เห็นพ้องต้องกัน ให้จำเลยแพ้ความทั้งหมด โดยศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายไว้ว่า

            ตามที่โจทก์นำสืบว่า วัดพระพุทธบาทสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีเศษมาแล้ว ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินถวายวัดพระพุทธบาท ๑ โยชน์โดยรอบวัดพระพุทธบาท และได้ทรงสร้างสังฆารามสำหรับภิกษุอยู่บริบาล ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๙ ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาทไว้เพื่อประโยชน์ของพระศาสนา ที่ดินพิพาทในคดีนี้ก็อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่พิพาทเป็นที่ของวัดพระพุทธบาทมาแต่เดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔ คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง มีหน้าที่บำรุงพระพุทธบาทสระบุรี และสถานที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่งดงามน่าดู คณะกรรมการได้จัดการตัดถนนเข้าไปในบริเวณพระพุทธบาทและทำวงเวียนขึ้น ที่ดินโฉนดหมายเลขที่ ๘๕๒๒ ถูกตัดเป็นวงเวียนทั้งแปลง ที่ดินโฉนดที่ ๘๕๒๑ ถูกตัดเป็นถนนและวงเวียนแล้วยังมีที่ดินเหลืออยู่บ้าง

            จำเลยสำนวนหลังฎีกาว่า หลักฐานที่โจทก์อ้างว่าที่พิพาทอยู่ในเขตของวัดพระพุทธบาทเลื่อนลอย ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้ส่งเอกสารพระราชพงศาวดารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาท ซึ่งได้มีกล่าวไว้ว่าพระพุทธบาทได้ถูกค้นพบในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ระหว่างปี ๒๑๖๓- ๒๒๗๑ แล้ว พระเจ้าทรงธรรมทรงพระโสมมนัสศรัทธาจึงโปรดเกล้าให้สร้างมหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระบาท และพระสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่บริบาล และได้สร้างพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระบาท ๑ แห่ง และได้ทรงพระราชอุทิศที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบรอยพระพุทธบาท ถวายเป็นพุทธบูชากัลปนาผล

            นอกจากได้ความตามพงศาวดารเช่นนี้แล้ว โจทก์ยังได้นำสืบผู้สูงอายุเป็นพยานประกอบอีกหลายปาก ต่างเบิกความว่าได้รับทราบ ได้ยิน ได้ฟังสืบต่อมาตรงกันว่า พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินถวายโดยรอบพระพุทธบาท มีอาณาเขตถึงหนึ่งโยชน์โดยรอบ ข้อความที่เล่าสืบกันมาทางประวัติศาสตร์นี้ รับฟังประกอบหลักฐานพระราชพงศาวดารของทางราชการได้ หาใช่เป็นการเลื่อนลอยไม่ อาณาเขตที่ได้ทรงอุทิศหนึ่งโยชน์โดยรอบนั้นเป็นการแสดงอยู่ตามถ้อยคำแล้วว่าต้องมีเนื้อที่ดินมากมาย และตามเหตุผลก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะพระเจ้าทรงธรรมทรงพระโสมมนัสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงสร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นไว้ที่เชิงเขาพระพุทธบาทเพื่อสำหรับประทับเวลาเสด็จไปบูชา ในสมัยโบราณนั้นพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานที่ดินแก่ผู้ใดก็ได้ ที่พิพาทปรากฏว่าตั้งอยู่ห่างจากมณฑปพระพุทธบาทเพียง ๖ เส้นเศษ และห่างจากกำแพงวังโบราณเพียง ๒ เส้นเศษเท่านั้น นับว่าอยู่ใกล้ชิดบริเวณพระพุทธบาทมาก

            ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าที่พิพาทอยู่ในเขตของพระพุทธบาท ซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศไว้แต่โบราณกาล โดยมีวัดพระพุทธบาทเป็นผู้ดูแลรักษา

            สำหรับปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสามในทั้งสองคดีโต้แย้งมาในฎีกานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินของวัดนั้น กรรมสิทธิ์จะโอนไปได้ก็แต่โดยการออกพระราชบัญญัติเท่านั้น ฉะนั้นแม้จำเลยจะได้รับโฉนดสำหรับที่พิพาทมาก็หาถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยการออกพระราชบัญญัติไม่ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาการได้ที่ดินมาโดยการรังวัดออกโฉนดหรือโดยการโอนชื่อทางทะเบียนใช้ยันต่อวัดได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัดก็หาได้ระงับสิ้นสุดไปโดยเหตุนั้นไม่ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาทตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๔๘๗ อีก เพราะโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมาก่อนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว

            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ก็เกิดคดีที่ดินในรัศมี ๑ โยชน์ขึ้นอีกครั้ง โดยผู้ถือโฉนดได้เป็นโจทย์ฟ้องผู้ที่เข้ามาปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของตน รวมทั้งฟ้องวัดพระพุทธบาทเป็นจำเลยที่ ๒ ในฐานที่ให้เช่าที่ดินผืนนี้ด้วย โดยโจทย์นำสืบว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๕๙๓ เนื้อที่ ๑ งาน ๒๘ ตารางวา ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ได้รับมรดกมาจากนายบ่ายบิดา โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ เข้าไปปลูกบ้านอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ให้จำเลยที่ ๑ เช่าในอัตราค่าเช่าตารางวาละ ๒๐ สตางค์ต่อเดือน

            คดีนี้ก็สู้กันถึง ๓ ศาลเช่นกัน โดยโจทก์ฎีกาว่าตามพงศาวดารที่กล่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินรอบรอยพระพุทธบาทออกไป ๑ โยชน์ ซึ่งเท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขวาง หากจะยึดถือตามพงศาวดารแล้ว จะเป็นความเชื่ออย่างเลื่อนลอยปราศจากเหตุผลนั้น ปรากฏว่าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารสร้างมานานเกินกว่า ๓๐๐ ปีแล้ว เหตุการณ์ต่างๆขณะนั้นย่อมไม่มีผู้รู้เห็นโดยตรงหลงเหลืออยู่ จึงต้องรับฟังจากคำบอกเล่าและเอกสารทางประวัตศาสตร์ที่เชื่อถือได้เป็นสำคัญ ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๕๘-๑๗๕๙/๒๕๑๖ คดีระหว่างกรมการศาสนา โจทก์ นางศิริ แสงสี กับพวกจำเลย เห็นว่าการเชื่อว่าพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศถวายที่ป่ารอบรอยพระพุทธบาทเป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งจะเป็นการเชื่ออย่างเลื่อนลอยปราศจากเหตุผลก็หาไม่

            โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่พระเจ้าทรงธรรมยกให้วัดจำเลยที่ ๒ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะอุทธรณ์โจทก์มิได้มีความหมายเช่นนั้น พิเคราะห์แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี โดยฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารจำเลยที่ ๒ โดยพระเจ้าทรงธรรมพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงอุทิศที่ดินบริเวณโดยรอบรอยพระพุทธบาทในรัศมี ๑ โยชน์ให้เป็นของวัดตั้งแต่ศักราช ๙๖๘ พระเจ้าทรงธรรมเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานที่ดินให้แก่ผู้ใดก็ได้ อุทธรณ์โจทก์ยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีพระราชอำนาจจริงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าพระเจ้าทรงธรรมพระราชทานที่ดินแก่วัดจำเลยที่ ๒ โจทก์ยกเหตุผลในอุทธรณ์ว่า โฉนดที่ดินพิพาทออกให้โดยทางราชการตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๖๐ อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนได้ จึงต้องถือว่าการออกโฉนดที่ดินพิพาทมีผลลบล้างการมีพระราชอุทิศที่ดินดังกล่าวของพระเจ้าทรงธรรมได้ เห็นว่าอุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวแม้มิได้ยอมรับโดยตรงว่าพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศที่พิพาทแก่วัดจำเลยที่ ๒ แต่โดยนัยย่อมเข้าใจได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าความจริงโจทก์รู้จักเขตที่พิพาทและเคยเข้าครอบครอง โจทก์ไม่เคยรู้มาก่อนว่าที่พิพาทเป็นของวัดจำเลยที่ ๒ และวัดจำเลยที่ ๒ ก็ไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์หรือบิดาโจทก์ทราบว่าที่พิพาทเป็นที่ซึ่งพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศให้นั้น เห็นว่าแม้ความจริงเป็นดังที่โจทก์อ้างเป็นกรณีที่น่าเห็นใจ แต่เป็นเรื่องที่รัฐจะพิจารณา หามีผลทำให้จำเลยที่ ๒ ขาดจากกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยขอให้พิจารณาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ฯ พ.ศ. ๒๔๗๙ และพระราชกฤษฎีกาถอนการหวงห้ามที่ดินบางส่วนบริเวณพระพุทธบาท ฯ พ.ศ. ๒๔๗๙ ว่ามีเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะหวงห้ามเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น มิได้รวมถึงที่ดินซึ่งประชาชนได้กรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้ไม่มีปัญหาและไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยถึงพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว เพราะที่พิพาทมีเจ้าของมาก่อนแล้ว มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และมิได้มีข้อความให้ยกเลิกเพิกถอนกรรมสิทธิ์ของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อีกทั้งมิได้บัญญัติถึงว่าผู้ได้เข้าจับจองที่ดินอยู่ก่อนแล้ว ให้ถือว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ ฉะนั้น ที่พิพาทจึงหาเป็นที่พิพาท จึงหาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

            ฉะนั้น เป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง ๒ คดีว่า พระราชโองการของพระเจ้าทรงธรรมเมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีก่อน ยังศักดิ์สิทธิ์กว่าโฉนดที่ออกให้โดยกรมที่ดินยุคปัจจุบันเสียอีก ที่ดินในรัศมี ๑๖ กิโลเมตรรอบพระพุทธบาทสระบุรี ยกเว้น ๒,๐๐๐ ไร่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้เป็นนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทสระบุรี จึงเป็นธรณีสงฆ์ ซื้อขายกันไม่ได้แม้จะมีโฉนด

            แล้วที่ดินของวัดพระพุทธบาทสระบุรี ก็ไม่เหมือนที่ดินของวัดธรรมิการามซะด้วยซี จะได้เอาไปทำสนามกอล์ฟกันง่ายๆ

อ่าน 44,423 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved