ความโปร่งใสกับความเจริญ
  AREA แถลง ฉบับที่ 116/2560: วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ความโปร่งใสกับความเจริญเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกัน ประเทศใดที่โปร่งใสมาก ประเทศก็จะเจริญ ประเทศใดที่โปร่งใสน้อย ความเจริญก็จะน้อยตามไปด้วย อสังหาริมทรัพย์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของประเทศด้วย ประเทศเจริญ อสังหาริมทรัพย์ก็เพิ่มค่า

            เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับการทุจริตนานาชาชาติหรือ (Corruption Perceptions Index, 2016: http://bit.ly/2jY4YyV) ในปี 2559 แม้ไทยจะได้คะแนน 35 เต็ม 100 ซึ่งเท่ากับปีก่อนหน้า  แต่อันดับประเทศตกต่ำลงถึงอันดับที่ 105 จาก 176 แสดงว่าเขามองว่าประเทศไทยไม่ค่อยโปร่งใสเท่าที่ควร แต่ถ้าเทียบเฉพาะประเทศที่มีสถิติในปีก่อนหน้าคือปี 2558 ไทยได้อันดับที่ 95 จาก 166 ประเทศ แต่ในปี 2558 ไทยได้อันดับที่ 75 แสดงว่าอันดับของไทยถอยกรูดลง

            ส่วนเรื่องความเจริญที่วัดจากตัวเลขรายได้ประชาชาติต่อหัวนั้น ใช้ข้อมูลล่าสุดปี 2558 ของธนาคารโลก (http://bit.ly/1eRbn2E) ซึ่งรวบรวมไว้ แต่บางประเทศก็อาจไม่มี จึงได้ประเทศที่พอเทียบเคียงกันได้ 166 ประเทศที่มีข้อมูลทั้งดัชนีการทุจริต (โปร่งใสสุดคะแนนเต็ม 100) และรายได้ประชาชาติต่อหัว ที่ประมาณการเป็นเงินเหรียญสหรัฐอเมริกานั่นเอง ทั้งนี้มีสมมติฐานว่าความโปร่งใสกับความเจริญทางเศรษฐกิจที่ดูจากรายได้ประชาชาติต่อหัวมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน

            ในการวัดความเจริญ ความมั่งคั่งของประเทศอาจพิจารณาได้หลายตัวแปร หรืออาจเป็นหลาย ๆ ตัวแปรประกอบกัน แต่ในที่นี้นำเอารายได้ประชาชาติต่อหัวหรือต่อคนมาพิจารณา เพราะเป็นรายได้ของประเทศที่นำจำนวนประชากรมาพิจารณาประกอบด้วย อย่างไรก็ตามรายได้ประชาชาติต่อหัวของบางประเทศอาจจะสูง แต่ความโปร่งใสต่ำก็มีอยู่พอสมควร เช่นประเทศในแถบตะวันออกกลางเป็นต้น ในขณะที่ประเทศที่มีความโปร่งใสสูง แต่รายได้น้อย ก็มีอีกเช่นกัน เช่น ภูฏานที่ระบุว่ามีรายได้ไม่มากนักแต่มีความสุขมวลรวมประชาชาติสูง เป็นต้น

            เมื่อได้ตัดประเทศที่อาจมีความผิดเพี้ยน (Outliers) ของข้อมูลที่รายได้สูงแต่กลับโกงกินมาก หรือรายได้น้อยแต่ผ่าโปร่งใส ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในบางกรณีที่ชัดแจ้งออกบ้างแล้ว และมาวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) ซึ่งเป็นวิธีการทางสถิติที่ใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเชิงปริมาณตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปเพื่อใช้ค่าตัวแปรอิสระในการพยากรณ์ค่าตัวแปรตาม ในที่นี้เป็นการใช้ตัวแปรเพียง 2 ตัวแบบเส้นตรง จึงเรียกว่าเป็นการวิเคราะห์แบบ Simple Regression Analysis

            สมการในการวิเคราะห์ก็คือ y = a + b(x)

            โดยที่ y เป็นตัวแปรตาม a และ b เป็นค่าสัมประสิทธิ์ที่ได้จากการคำนวณ ส่วน x คือตัวแปรอิสระ

            เช่น ถ้าเรากำหนดให้ดัชนีการทุจริต เป็นตัวแปรตาม และรายได้ประชาชาติต่อหัว เป็นตัวแปรอิสระ เราก็จะได้ผลลัพธ์จากการคำนวณเป็นดังนี้

            y = a + b (x)

            y = 33.31047105 + 0.000887899 x รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยคือ  5,814.80

            = 38.47342616

            หมายความว่าด้วยรายได้ประชาชาติต่อหัวที่สูงถึง 5,814.8 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (209,333 บาท) ดัชนีการทุจริตน่าจะได้ 38.47 มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เรากลับได้เพียง 35 คะแนน แสดงว่าเราอาจมีการทุจริตมาก กระจายรายได้ไม่เพียงพอ ทั้งนี้มีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ (coefficient of determination หรือ r-square) อยู่ที 86.87% แสดงว่ามีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง

            ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเอารายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นตัวแปรตาม ให้ดัชนีการทุจริตเป็นตัวแปรอิสระ ก็จะได้ผลเป็นดังนี้

            y = -23869.60341 + 836.1796629 x ดัชนีการทุจริตคือ 35 (กรณีประเทศไทย)

            = 5,396.684792

            กรณีนี้หมายความว่า ณ ดัชนีการทุจริตที่ไทยได้ 35 เต็ม 100 นั้น อันที่จริง ควรจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ 3,596.68 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ที่ไทยได้ 5,814.8 เหรียญสหรัฐต่อปี แสดงว่าได้เกินจากค่าดัชนีการทุจริต ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการกระจายรายได้ที่ไม่ค่อยเท่าเทียม ตัวเลขรายได้ประชาชาติที่สูงนั้นมาจากค่าเฉลี่ย ดังนั้นในความเป็นจริง คนรวยก็คงรวยกระจุก (ส่วนคนจนก็จนกระจาย) จึงทำให้ตัวเลขรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

            อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่พอตีความได้ชัดก็คือ ประเทศที่เจริญๆ มักจะมีรายได้สูง ประเทศที่โกงกันมาก ๆ มักมีรายได้ค่อนข้างน้อย  หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า "ยิ่งจน ยิ่งโกง" กรณีนี้มีความเป็นไปได้ เพราะคนที่ยากจนมากๆ เสี่ยงต่อการโกง การกระทำผิดกฎหมาย เช่น แม่ลูกอ่อนบางคนขโมยนมผงจนติดคุกทั้งแม่ทั้งลูก บ้างก็อาจต้อง "หากินแนวนอน" แทนการประกอบอาชีพตามปกติ ในบริษัทสักแห่งหนึ่ง หากเพื่อนร่วมงานมีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก่อหนี้มีบัตรเครดิตหมุนไปมามากมาย ก็เสี่ยงที่จะโกง หาก "เปียแชร์" หรือยืมเงินเพื่อนร่วมงานไป ก็อาจจะหนี หรือโกงบริษัทได้

            ส่วนคนที่พอมีพอกิน รวยๆ มักไม่โกง เพราะพื้นฐานไม่ได้มีความขาดแคลนใดๆ อย่างไรก็ตามกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น คนจนๆ จำนวนมากก็ยอม "กัดก้อนเกลือกิน" ไม่ยอมกระทำผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง คนรวยๆ บางคนก็อาจรวยไม่พอ ยังโกงอยู่เป็นนิจ หรือบ้างก็เป็นพวกโรคจิต เช่นข่าวที่เคยจับหญิง "ไฮโซ" ที่ฐานะไม่ได้ยากจน แต่กลับไปแอบขโมยของในห้างดัง เป็นต้น 

            ประเทศที่มีความเจริญ ไม่โกง ก็ย่อมมีความมั่นคงทางการเมืองตามไปด้วย ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็เจริญงอกเงยยิ่งๆ ขึ้น การลงทุนในประเทศเหล่านี้ก็จะมีความมั่นคง ส่งผลถึงระดับความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) ไม่สูงเกินไป ถือเป็นการดึงดูดนักลงทุนได้ดีประการหนึ่ง ดังนั้นทางราชการจึงพึงสร้างความโปร่งใสให้มาก หนทางสู่ความโปร่งใสก็คือการที่เราสามารถตรวจสอบทางราชการได้ ถ้าในส่วนราชการต่าง ๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีผู้แทนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยในการตรวจสอบ ความโปร่งใสก็จะไม่มี  เศรษฐกิจก็จะไม่ดี

          ความมั่งคั่งของชาติและอสังหาริมทรัพย์ จึงมาจากความโปร่งใสเป็นอันดับแรก

 

อ่าน 4,325 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved