สมเด็จ ป.อ.ปยุตฺโต: บทเรียนการวิเคราะห์ธรรมกาย
  AREA แถลง ฉบับที่ 145/2560: วันอังคารที่ 21 มีนาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          กระบวนการวิเคราะห์ที่ถูกต้องย่อมนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ดี แต่ถ้ากระบวนการวิเคราะห์ผิดตั้งแต่แรก จะไปวิเคราะห์อะไรถูกต้องได้อย่างไร เรามาลองดูบทเรียนการวิเคราะห์ที่น่าจะผิดพลาดหรือไม่กันดูในกรณีธรรมกายของสมเด็จ ป.อ.ปยุตฺโต

          ได้ยินมานานแล้วว่ามีหนังสือชื่อ "กรณีธรรมกายฯ" วิพากษ์ธรรมกายว่าผิดฉกรรจ์หลายเรื่อง หะแรก ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ก็เชื่อไว้ก่อนเพราะหนังสือนี้เขียนโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นพระที่มีภาพพจน์ดีเยี่ยม แต่พอได้อ่าน กลับคิดใหม่ว่านี่เป็นหนังสือที่ให้ร้ายธรรมกายโดยไม่มีการวิเคราะห์อย่างถูกต้องตามหลักวิชา

          ดร.โสภณ ได้เขียนบทความขึ้น 3 ชิ้นวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ได้แก่ 1. วิพากษ์ความคิด ป. อ. ปยุตฺโต กรณีธรรมกาย 1 (http://bit.ly/2ldBU4w) 2. วิพากษ์ความคิด ป. อ. ปยุตฺโต 2: ชำแหละหนังสือ "กรณีธรรมกาย" (http://bit.ly/2kN1TSN)  และ 3.สมเด็จฯ ป. อ. ปยุตฺโต ไม่เข้าใจประชาธิปไตย?: วิพากษ์ความคิด ป. อ. ปยุตฺโต 3 (http://bit.ly/2kUYRvL) ในที่นี้ ดร.โสภณ จึงสรุปรวบยอดข้อวิจารณ์ในคราวเดียวเพื่อความกระจ่างชัด

          หนังสือของสมเด็จฯ เล่มนี้เขียนในปี 2542 หนา 440 หน้า (รวมสารบัญก็ 456 หน้า) แต่เน้นวิพากษ์บทความหนึ่งของพระสมชาย ฐานวุฑโฒ ซึ่งไม่ถือเป็น "เอกสารของวัดธรรมกาย" ดังที่สมเด็จฯ อ้าง  พระสมชายซึ่งเคยเป็นแพทย์และกำลังเรียนปริญญาเอกในขณะนั้นก็เพิ่งบวชมา 14 พรรษา อายุ 38 ปี ส่วนสมเด็จฯ บวชมาแล้ว 38 พรรษา อายุ 61 ปี เรียกว่าลงไป "ชกข้ามรุ่น" ระดับพ่อ-ลูก ระดับพระผู้ใหญ่กับพระลูกวัดเด็กๆ ของวัดธรรมกาย

          อันที่จริงสมเด็จฯ ควรรวบรวมตำรา ข้อเขียนหรือเทปคำสอนของเจ้าอาวาสธรรมกายมาวิพากษ์ จึงเป็นการหาข้อมูลที่ถูกต้อง ควรมีระเบียบวิธีวิจัยคือกล่าวถึงปัญหาธรรมกายเป็นข้อ ๆ แสดงวิธีศึกษาอย่างเป็นระบบ แล้วลงมือวิเคราะห์ให้เห็นข้อผิดเป็นเปลาะๆ พร้อมบรรณานุกรม แต่หนังสือเล่มนี้กลับเริ่มต้นด้วยการ "พาดหัว" คล้ายพิพากษาในเชิงลบให้ธรรมกายเสียหายตั้งแต่ต้น เช่น "กรณีธรรมกาย ถึงขั้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย" (น.1) ". . .ทําพระธรรมวินัยให้วิปริต ร้ายยิ่งกว่า" (น.4)  "ถ้าตีรวนพระไตรปิฎกได้ก็ถอนรากพระสงฆ์ไทยสําเร็จ" (น.28) เป็นต้น

          ในบทความของพระสมชายที่สมเด็จฯ อ้างถึง ก็มุ่งเปิดกว้างเพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญา ไม่ได้กล่าวสรุปเป็นตุเป็นตะว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เรื่องนี้พูดไปพูดมา ชาวบ้านทั่วไปคงนึกภาพได้ยาก อย่าว่าแต่ระดับตรัสรู้เลย ใครกล้าบอกว่าตนบรรลุแค่โสดาบัน ก็ยังไม่รู้จะเชื่อได้หรือไม่ ถ้านำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ทวด ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น หลวงพ่อคูณ ฯลฯ ท่านก็คงไม่มาถกจับผิดกัน อย่างไรก็ตามในวงการศึกษา ก็ควรนำมาถกกันเพราะจะได้เป็นการศึกษาศาสนาพุทธให้ลึกซึ้ง เพียงแต่ไม่พึงพูดในเชิงให้ร้ายกัน

          นอกจากนี้สมเด็จฯ ยังเพียงเอาคำสัมภาษณ์ของพระลูกวัดธรรมกายอีกรูปหนึ่ง (สมเด็จฯ ไม่ได้ระบุชื่อ) มาโต้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้แต่ความสงบนิ่งมาเอาชนะ บางทีก็ใช้ฤทธิ์ หรืออื่นๆ แต่ในกรณีนี้วัดธรรมกายเลือกใช้วิธีสงบนิ่งก็นับว่าดีแล้ว ดีกว่ามาสาดโคลนใส่กัน สมเด็จฯ ยังอ้างหนังสือ “เดินไปสู่ความสุข” ของธรรมกาย ว่าได้เล่าเรื่องครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แม่ชีปัดระเบิดไปตกฮิโรชิมา แต่เมื่อตรวจดูหนังสือดังกล่าว ก็ไม่พบเรื่องฮิโรชิมา เรื่องปาฏิหาริย์ก็เป็นสิ่งที่เขียนในวงการสงฆ์ไทยโดยทั่วไป สมเด็จฯ ไม่ควรเลือกเพ่งโทษเฉพาะธรรมกาย

          แต่สมเด็จฯ กลับมองฝ่ายคุกคามธรรมกายไปในเชิงบวก โดยว่า "แม้บางท่านจะรุนแรงทางถ้อยคําบ้าง ก็อาจเป็นเพราะความที่รักพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองมาก เมื่อเห็นอยู่ชัดเจนว่าคำสอนและการปฏิบัติของชาวสํานักผิดแผกแตกต่างหรือสวนทางไปไกลด้วยความรักต่อพระศาสนาและส่วนรวม จึงทําให้ท่านเหล่านั้นอดใจไม่ได้ต้องแสดงออกมารุนแรง แต่ก็เพียงด้วยวาจา" การพูดแบบนี้ของสมเด็จฯ ดูเป็นการ 'ให้ท้าย' สมเด็จฯ ควรเตือนฝ่ายคุกคามให้เลิกก่อวจีกรรมต่อชาวพุทธด้วยกัน พวกนี้มีวาระที่ซ่อนเร้น (ที่บัดนี้เผยแล้ว) ว่ามุ่งก่อรุนแรงเพื่อโค่นล้มธรรมกาย

          สมเด็จฯ วิจารณ์เรื่องการสร้าง "ธรรมกายเจดีย์" ดร.โสภณ เห็นแย้ง จึงขออนุญาต "มองต่างมุม":

          1. สมเด็จฯ: "การก่อสร้างนี้ใหญ่มาก มีผลเกี่ยวข้องโยงไปหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ควรจะให้ได้มีโอกาสฟังความคิดเห็นกันให้รอบคอบ เรื่องนี้อาตมาไม่ค่อยถนัดที่จะตอบ ไม่ใช่ปัญหาพระธรรมวินัยโดยตรง  ข้อนี้ขนาดสมเด็จฯ ออกตัวแบบนี้ สมเด็จฯ ยังวิพากษ์ "ธรรมกายเจดีย์" ในประเด็นซ้ำๆ ไปถึง 25 หน้า

          2. สมเด็จฯ: "ถ้าสร้างแล้วช่วยให้เงินเข้าประเทศปีละ ๑๐๐ ล้านบาท กว่าจะคุ้มทุน ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ ๗๐๐ ปี หรือถ้าคิดทุนสร้างแค่ ๒๐,๐๐๐ ล้าน ก็ ๒๐๐ ปี"  ข้อนี้แสดงว่าสมเด็จฯ ไม่มีความรู้ทางการเงินเลย  สมเด็จฯ ไม่ควรพูดด้วยความไม่รู้เช่นนี้

          3. สมเด็จฯ: "อนุสรณ์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ใหญ่โตเท่าไรก็อยู่มาเกิน ๒ พันปีแล้ว" ข้อนี้ไม่จริง แม้ตัวสถูปสาญจีไม่ได้ใหญ่โตมาก (ธรรมกายเจดีย์เช่นกัน) แต่พื้นที่โดยรวมก็มีขนาดนับล้านตารางเมตร มหาสถูปแห่งเกสเรียซึ่งมีรูปร่างคล้ายธรรมกายเจดีย์ ก็สร้างไว้ใหญ่โต สมเด็จฯ ควรศึกษา "17 พุทธสถานในอินเดีย ที่คุณจะต้องทึ่ง" ให้ดีก่อนจะแสดงความเห็นเช่นนี้

          4. สมเด็จฯ: "สิ่งมหัศจรรย์ของโลก. . .มักเป็นอนุสรณ์แสดงอะไรบางอย่างในจิตใจ ที่ไม่ค่อยดี เป็นเรื่องตัวเรื่องตน อย่างน้อยก็ความต้องการแสดงอํานาจความยิ่งใหญ่. . .น่ายกย่องพระเจ้าอโศกมหาราชมาก. . .สร้างเน้นความเป็นอนุสรณ์ และแสดงความเคารพบูชาพระพุทธเจ้าจริงๆ เช่น มุ่งไปทําในที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เป็นต้น"  ข้อนี้ไม่ควรพูดส่อเสียดธรรมกายเจดีย์ สมเด็จฯ คงเข้าใจผิด "เสาอโศก" สร้างกระจายทั่วอินเดียเพื่อเผยแผ่ศาสนามากกว่าแถวสังเวชนียสถานเสียอีก

          5. "ถาม: ทางวัดพระธรรมกายว่า จะให้มหาธรรมกายเจดีย์เป็นศูนย์กลางชาวพุทธทั่วโลก เหมือนอย่างเมกกะ. . .ตอบ: เมกกะนั้นเป็นที่ประสูติของท่านศาสดามูฮัมหมัด. . .(มหาธรรมกายเจดีย์) ก็ไม่เห็นมีความเกี่ยวข้องอะไรกับพระประวัติของพระพุทธเจ้า"   ข้อนี้สมเด็จฯ ไม่น่าพูดเป็นอื่น ธรรมกายเขาก็เพียงสร้างเพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่ศาสนาเช่นศาสนาอื่นเท่านั้น  มหาธรรมกายเจดีย์อาจคล้ายมหาวิทยาลัยนาลันทะที่ "อาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม. . .นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน"

          6. สมเด็จฯ: "(วัดเชตวัน) อาคารไม่ใหญ่ อย่างกุฏิพระพุทธเจ้า. . .กว้างด้านละ ๒-๓ เมตร เท่านั้นเอง. . .ที่ว่าบริเวณใหญ่โต ก็คือเป็นสวนหรือเป็นป่า. . ."  ข้อนี้สมเด็จฯ พูดผิดความจริงที่ว่า "(ที่ดิน) แพงมหาศาลถึง 18 โกฏิ. . .สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ สิ้นเงินไปอีก 36 โกฏิ"  แสดงว่าสร้างอย่างยิ่งใหญ่มาก  ส่วนกุฏิของพระพุทธเจ้าจะเล็กกว่าของสมเด็จฯ ไม่ใช่ประเด็น

          7. สมเด็จฯ: ". . .พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ไม่เคยสร้างวัดที่ไหนเลยแม้แต่วัดเดียว. . ."  ข้อนี้สมเด็จฯ จะพยายามบอกว่าธัมมชโยไม่ควรสร้างวัดใช่หรือไม่ ชาววัดธรรมกายเขาสร้างตามศรัทธา แต่ในทางตรงกันข้าม วัดดังๆ ที่บุกรุกที่บนภูเขานั้น สมเด็จฯ เคยเอ่ยปากว่าตำหนิหรือไม่ ในสมัยพุทธกาลก็มีทั้งพระป่าและพระบ้าน เทวทัตขอให้พระอยู่แต่ในป่าแต่พระพุทธเจ้าไม่ยินดี สมเด็จฯ ต้องการให้พระอยู่แต่ในป่าหรือ

          นักการศาสนาเยี่ยงสมเด็จฯ ยังเขียนเรื่องประชาธิปไตย ดร.โสภณในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน (ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเหมือนกัน) ก็ขอมองต่างมุมบ้าง สมเด็จฯ เขียนว่า "เสียงมาก. . .ตัดสินความจริงไม่ได้ . . .(สมัยก่อน) คนบอกว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก. . .โลกแบน. . .เรื่องความจริงนั้น ต้องใช้ปัญญา. . ."  ข้อนี้สมเด็จฯ อาจสับสน ในกรณีศิลปวิทยาการ จะไปถามคนส่วนใหญ่ไม่ได้ เช่น ถามว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไรก็คงไม่ได้คำตอบ หรือในกรณีรูปวาดแพงๆ ถ้าถามชาวบ้าน ถามสมเด็จฯ ก็คงมองไม่เห็นความสวยงามอะไรได้ลึกซึ้ง

          อย่างไรก็ตามเสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ เช่นในการประเมินค่าทรัพย์สินโดยการเปรียบเทียบตลาด (Market Comparison Approach) ผู้ประเมินต้องหาข้อมูลให้เพียงพอ เราจึงจะทราบได้ว่าในตลาดมีระดับราคาที่เรียกว่า “ช่วงชั้นราคาตลาด” (Zone of Market Prices) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “หั่งเส็ง” หรือ “หั่งเช้ง” ที่คนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สิน

อ่าน 3,623 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved