เรือดำน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจ?!?
  AREA แถลง ฉบับที่ 168/2560: วันศุกร์ที่ 07 เมษายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เรือดำน้ำใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ ถ้าได้จะเป็นกระตุ้นขึ้นหรือกระตุ้นลง บ้างก็ว่าเรือดำน้ำช่วยกระตุกเศรษฐกิจลงมากกว่า บ้างก็อ้างว่าขนาดกบฏอีแลม ยังมีเรือดำน้ำ (แล้วเราเป็นกบฏหรือ?!?) ความจริงเป็นเช่นใด

            เมื่อเร็วๆ นี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า "ไทยมีความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ แต่ยังมีคนต่อต้าน เพราะมองเพียงมิติความมั่นคงอย่างเดียว ไม่ได้มองมิติเศรษฐกิจ เนื่องจากเรามีผลประโยชน์ทางทะเลมหาศาล เพราะเรามีพื้นที่ตอนใต้ติดทะเลมีความยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร เป็นทะเลที่เชื่อมต่อหรือพื้นที่เปิด ใครจะเข้ามาก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเสียโอกาสไปมาก เพราะไม่มีเรือดำน้ำ เรือดำน้ำจะช่วยสำรวจและดูแลทรัพยากรทางทะเล แต่ขณะนี้ทำได้ไม่เต็มรูปแบบ เพราะขาดเครื่องไม้เครื่องมือ คือเรือดำน้ำ. . .การมีเรือดำน้ำจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต เนื่องจากขุมทรัพย์ของโลกในอนาคตอยู่ในทะเล และจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” {1}

            กรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ตั้งข้อสังเกตดังนี้:

            1. คำกล่าวของท่านรัฐมนตรีที่ว่า "มีคนต่อต้าน เพราะมองเพียงมิติความมั่นคงอย่างเดียว ไม่ได้มองมิติเศรษฐกิจ" จึงอาจสรุปได้ว่าในมิติด้านความมั่นคง ย่อมไม่คุ้มค่าที่จะซื้อเรือดำน้ำ

            2. การเอาเรือดำน้ำไปสำรวจและดูแลทรัพยากรทางทะเลมีความเป็นไปได้หรือไม่ ข้อสังเกตก็คือ

            2.1 การใช้เรือดำน้ำไปใช้สำรวจทะเล เป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

            2.2 มีเรือหรือเครื่องมือสำรวจใต้น้ำที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและเป็นไปเพื่อการสำรวจท้องทะเลมากกว่าเรือดำน้ำมิใช่หรือ จะซื้อเรือดำน้ำไปสำรวจท้องทะเล จะเข้าทำนอง "ขี่ช้างจับตั๊กแตน" หรือไม่

            ยิ่งหากพิจารณาด้านมิติของความมั่นคง ยิ่งไม่มีเหตุผลเท่าที่ควร

            1. การอ้างว่ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีเรือดำน้ำ กรณีนั้นคงเป็นการสนับสนุนของต่างชาติและขณะนี้กลุ่มกบฏนี้ก็พินาศไปแล้วพร้อมกับเรือดำน้ำ เราจึงไม่ควรเอากบฏมาอ้าง

            2. บางครั้งมีการอ้างว่าเพื่อให้เพื่อนบ้าน "เกรงใจ" ก็เป็นข้ออ้างที่ขาดเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ประเทศไทยได้รับการเกรงใจเพราะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เพราะเรือดำน้ำจากจีน ซึ่งคงสู้ประเทศตะวันตกไม่ได้

            3. ประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำเนื่องจากข้อพิพาทหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ ไม่ได้เกี่ยวกับประเทศไทยเลย {3}

            อาจกล่าวได้ว่าเรือดำน้ำไม่ได้มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อยเพราะ

            1. ในด้านการสำรวจธรณีวิทยา ทรัพยากรน้ำมันใต้ทะเลลึก ก็สำรวจมาเรียบร้อยก่อนมีการใช้หรือโดยไม่ต้องใช้เรือดำน้ำแม้แต่น้อย {4}

            2. ถ้าเป็นทรัพยากรบนผิวน้ำหรือทรัพยากรสัตว์น้ำ ก็สามารถจะสำรวจได้โดยไม่ต้องมีเรือดำน้ำอยู่แล้ว

            3. มูลค่าเรือดำน้ำที่ 36,000 ล้านบาท {5} นั้นสามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาล ถ้าใช้ในเวลา 3 ปี ก็เป็นเงินปีละ 12,000 ล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ปีละเพียง 10,000 ล้านบาทเท่านั้น หากได้เงินอีก 12,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 3 ปีมาใช้จะก่อให้เกิด “ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ” หรือ “Multiplier effect of government spending” {6} แต่การซื้อเรือดำน้ำ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกมหาศาลต่อปี

            ที่สำคัญการจัดซื้อมีความโปร่งใสเพียงใด ประชาชนสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ มีการแสดงการเปรียบเทียบราคาให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้งบประมาณแผ่นดินที่คุ้มค่าและไม่รั่วไหลหรือไม่ หาไม่อาจยิ่งทำให้เกิดอาการ "รวยกระจุก จนกระจาย" ในระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจก็เป็นได้


ที่มา: http://www.marinerthai.net/pic-news3/2015-07-02_001.jpg

 

อ้างอิง

{1} ข่าว ‘ทร.’ซื้อเรือดำนํ้ายกกบฏอีแลมยังมี ไทยโพสต์ 6 เมษายน 2560 http://bit.ly/2o8rrLv

{2} ข่าว "‘บิ๊กตู่’แจงเรือดำน้ำมีไว้ให้เกรงใจ" คมชัดลึก 7 กรกฎาคม 2558 www.komchadluek.net/news/politic/209339

{3} เรือดำน้ำในอาเซียน http://bit.ly/2oKXu5j

{4} ดูตัวอย่างได้จากเอกสาร "ธรณีวิทยากายภาพพื้นทะเลอ่าวไทยตอนบน" www.dmr.go.th/download/Coastal/Gulf_of_Thailand.pdf

{5} 'ประวิตร'ยันซื้อเรือดำน้ำ3หมื่นล้าน อ้างเพื่อนบ้านมีหมดแล้ว www.bangkokbiznews.com/news/detail/737549

{6} “ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ” หรือ “Multiplier effect of government spending” http://sasatra.blogspot.com/2009/03/multiplier-effect-of-government.html

อ่าน 7,924 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved