แก้ปัญหาคนเร่ร่อนทั้งระบบ ถูกกว่าซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำ
  AREA แถลง ฉบับที่ 169/2560: วันศุกร์ที่ 07 เมษายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          เราเห็นปัญหาคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะแล้วรู้สึกอย่างไร คนเหล่านี้แตกต่างจากขอทาน เราควรช่วยเหลือพวกเขาหรือไม่ จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

          ในวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2560 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ได้จัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการสำรวจจำนวนคนเร่ร่อน โดยมีคุณนที สรวารี เลขาธิการเป็นหัวหน้าคณะสำรวจและรายงานผลการสำรวจ ต่อด้วยการอภิปรายการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน

ยังไม่สายที่จะแก้ปัญหา

          อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาคนเร่ร่อนของไทยยังไม่สายเกินกว่าจะแก้ เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก สามารถเยียวยาสังคมได้ทันการ และใช้งบประมาณไม่มากนัก หากพิจารณาสถานการณ์ในระดับโลก คนเร่ร่อนนับเป็นปัญหาของ ‘the Fourth World” คือไม่ใช่ปัญหาความยากจนของโลกที 3 เท่านั้น แต่เกิดขึ้นเสมือนเงามืดในประเทศหรือเมืองที่ศิวิไลซ์เช่นกัน สำหรับในต่างประเทศ มีนครที่มีคนเร่ร่อนมากที่สุด (bit.ly/1SKja9L) ดังนี้:

          จะเห็นได้ว่าเมืองส่วนมากที่มีปัญหาคนเร่ร่อนรุนแรง เป็นเมืองในประเทศตะวันตกที่มีความร่ำรวย แต่ก็มีบุคคลเหล่านี้ซึ่งถือเป็น “คนชายขอบ” ที่พึงได้รับความช่วยเหลือ

แบบอย่างการช่วยเหลือในนิวยอร์ก

          กรณีนี้ ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิได้เข้าพบผู้บริหารมูลนิธิคอมมอนกราวน์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนดำเนินการด้านการช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ณ สำนักงานใหญ่บนถนนสายแปด มหานครนิวยอร์ก (http://bit.ly/1RQSRf1) มูลนิธินี้มีคติว่า “Ending homelessness in New York” หรือทำให้การไร้ที่อยู่อาศัยหมดไปในนครนิวยอร์ก ที่ผ่านมาสามารถช่วยผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ราว 5,000 คน ตัวเลขผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2551 แต่หลังจากนั้นกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีผลสำคัญต่อการเกิดสภาพไร้บ้าน

          ในปัจจุบันมูลนิธิคอมมอนกราวน์สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 3,200 หน่วย ในโครงการที่อยู่อาศัยประมาณ 13 โครงการ นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ๆ ช่วยบำบัดความต้องการเฉพาะหน้าแก่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอีก 120 แห่ง  ห้องทั่วไปมีขนาด 30 ตารางเมตร โดยมีต้นทุนค่าก่อสร้างสูงถึง 9 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยนคร่าว ๆ 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) แต่ก็มีห้องขนาดเล็ก ๆ เพียง 15 ตารางเมตร ทางมูลนิธิคิดค่าเช่าประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าเช่าตลาดคือ 21,000 บาทต่อเดือน มูลนิธิคัดเลือกผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมาเช่าได้อย่างโปร่งใส ไม่ใช่หาใครมาสวมสิทธิ์ หรือเช่าช่วง และปรากฏว่าผู้เช่า เต็มใจที่จะเช่า ณ ค่าเช่าราคาถูกนี้ โดยแทบไม่มีใครถูกไล่ออกเพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้

          ผู้ที่เช่าอยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยที่จัดหาให้นี้มักเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมีอาการป่วยทางจิตถึงราว 40% แต่ไม่ได้อยู่ในระดับรุนแรง นอกนั้นเป็นกลุ่มอื่นๆ แต่ส่วนมากเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ได้เป็นครอบครัว การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ จะทำให้เขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมปกติอย่างมีศักดิ์ศรี ส่วนที่อาบน้ำ อาหาร การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนการจัดหางานทำให้กับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหล่านี้

          มูลนิธินี้เกิดขึ้นมา 25 ปีแล้ว และมีความเป็นไปได้ทางการเงินในการดำรงอยู่ โดยรัฐบาลให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง เพราะการสร้างที่อยู่อาศัยโดยภาครัฐแพงกว่า เสียค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยแบบนี้ อีกส่วนหนึ่งก็คือผู้บริจาค หรืออาจเรียกว่าผู้ลงทุนยินดีบริจาคเงิน 0.8 เหรียญสหรัฐ แต่สามารถนำไปหักภาษีได้ถึง 1 เหรียญสหรัฐ เป็นระยะเวลา 10 ปี ทำให้มีเงินมากเพียงพอกับการดำเนินการ รายได้ของมูลนิธิตกปีละ 1,620 ล้านบาท มีลูกจ้าง 400 คน โดยสามในสี่เป็นผู้ดูแลอาคารต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ในสำนักงานใหญ่ ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังจะจัดสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 700 หน่วย

แนวทางการแก้ไขปัญหา

        ดร.โสภณ เชื่อว่าการช่วยเหลือคนเร่ร่อนนั้นทำได้ไม่ยาก เช่น การจัดหาที่พักให้ปลอดภัยทั้งต่อคนเร่ร่อนและประชาชนทั่วไปเองที่อยู่ร่วมกันในสังคม แต่ยังรวมถึงการจัดหางานให้ทำ หรือจัดหาที่อยู่ในลักษณะสถานสงเคราะห์ผู้ให้บริการทางเพศ เด็กเร่ร่อน ฯลฯ เพื่อการบำบัดเฉพาะทาง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงบประมาณปีละเพียง 10,000 ล้านบาท หรือเพียงราว 3% ของงบประมาณแผ่นดินไทย จึงย่อมมีขีดความสามารถจำกัดในการช่วยเหลือ ภาคเอกชนและภาคประชาชนจึงควรร่วมช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

การช่วยเหลือในกรณีประเทศไทยของมูลนิธิอิสรชน ประกอบด้วย

          1. การช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น โครงการเลี้ยงอาหารคนเร่ร่อน ณ ท้องสนามหลวงในทุกวันศุกร์  การตระเวนเยี่ยมเพื่อน (คนเร่ร่อน) พร้อมให้คำปรึกษาและมอบถุงยังชีพให้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นต้น

          2. การแก้ไขปัญหาระยะกลาง เช่น การนำส่งโรงพยาบาล การนำส่งสถานสงเคราะห์ การประสานงานกับหน่วยงานจัดหาที่พักชั่วคราวของกรุงเทพมหานคร การส่งกลับบ้านในจังหวัดภูมิภาค เป็นต้น

          3. การสำรวจวิจัยเพื่อทราบถึงจำนวนคนเร่ร่อน ศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ทั้งนี้รวมถึงการเผยแพร่งานวิจัยและการจัดอบรมความรู้แก่สังคม

          4. การประสานงานกับส่วนงานต่าง ๆ เช่น สถานศึกษาในการจัดนักศึกษามาฝึกงาน การประสานงานกับราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นในการร่วมแก้ไขปัญหา

โครงการสร้างบ้านพักชั่วคราว

          มูลนิธิอิสรชน ริเริ่มโครงการช่วยเหลือคนเร่ร่อนด้วยการขอรับบริจาค เช่าระยะสั้น หรือยืมใช้ที่ดินใจกลางเมืองที่เจ้าของยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่พัก อาศัยสำหรับผู้ไร้บ้าน ทั้งนี้ที่ดินดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. มีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ หรืออาจเป็นอาคาร เช่น ทาวน์เฮาส์ ตึกแถวหรือบ้านเดี่ยวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

          2. ในกรณีที่ดินเปล่า มูลนิธิอิสรชน อาจจัดเป็นเตนท์โดยไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆ ไม่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน หรืออาจขอตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อนในยามค่ำคืน โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุนชนโดยรอบ

          3. อาคารหรือที่ดินควรตั้งอยู่ในเขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน หรือเขตบางรัก ในระยะแรกนี้

          ทั้งนี้เจ้าของทรัพย์อาจอนุญาตให้ใช้ใน ระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ โดยหากเกิน 3 ปี มูลนิธิจะขอเช่าในราคาถูก แต่หากเจ้าของที่ดินต้องการจะใช้ที่ดินเมื่อใด มูลนิธิยินดีย้ายออกก่อนกำหนดเวลาโดยไม่ขอรับค่าขนย้ายใด ๆ เพียงแต่แจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน

          สำหรับการจัดที่พักพิงชั่วคราวนี้ มูลนิธิจะจัดที่สำหรับการหลับนอนที่ปลอดภัยในยามค่ำคืน (ตั้งแต่เวลา 19:00 - 07:00 น. ของวันรุ่งขึ้น) แก่คนเร่ร่อนหรือประชาชนทั่วไปที่ขาดที่พักพิงชั่วคราว เช่น เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดแต่ไม่พบญาติมิตร เป็นต้น มีพื้นที่สำหรับการอาบน้ำ มีอาหารในมื้อเช้าและมื้อค่ำ และมียารักษาโรคสำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น

          อนึ่งสำหรับท่านที่ประสงค์จะให้การช่วยเหลือคอนเทนเนอร์เก่า เวชภัณฑ์ เครื่องนอนหมอนมุ้ง อาหาร หรืออื่น ๆ ก็สามารถแสดงความจำนงค์ได้เช่นกัน

          สำหรับผู้ที่ให้การสนับสนุน มูลนิธิจะตอบแทนด้วยการประชาสัมพันธ์การทำความดีนี้ผ่านสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ของมูลนิธิ ตั้งชื่อบ้านตามชื่อที่ผู้ให้การสนับสนุนต้องการ เป็นต้น

งบประมาณทั้งระบบ

          คนเร่ร่อนแตกต่างจากขอทานทั่วไปที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ขอทานกลายเป็นอาชีพที่ขายความน่ารักน่าสงสาร กลายเป็นการทำบุญได้บาป แต่คนเร่ร่อนเกิดขึ้นจากปัญหาที่รุมเร้าต่าง ๆ นานาจนต้องออกมาเร่ร่อน เราพึงเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และหาทางให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมโดยเร็ว  พวกเขาไม่ใช่ขอทานที่งอมืองอเท้าขอเงิน

          ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากยังไม่ได้รับการแก้ไข  ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท ระบบการแก้ไขนี้ จะทำให้

          1. คนเร่ร่อนมีที่พักพิงแน่นอน ไม่เป็นภาระแก่สังคม และไม่ทำให้สังคมรู้สึกได้รับอันตราย

          2. คนเร่ร่อนไม่ต้องทรุดหนักลงเป็นบุคคลทุพพลภาพทางจิต หรือกลายเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลที่หนักขึ้น

          3. มีโอกาสพัฒนาคนเร่ร่อนให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          4. โอกาสที่สังคมจะเกิดคนเร่ร่อนจะน้อยลงหากสังคมได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้

        โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก  หากรัฐบาลจัดงานประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด


ที่มาของรูป: https://goo.gl/ufdI02


อ่าน 5,604 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved