สังหาริมทรัพย์ประเภทเรือดำน้ำ
  AREA แถลง ฉบับที่ 196/2560: วันอังคารที่ 09 พฤษภาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตอนนี้ถ้าไม่พูดถึงเรือดำน้ำ ก็คงจะเชยน่าดู ผมในฐานะที่ทำการประเมินค่าทรัพย์สิน จึงขอกล่าวถึงสังหาริมทรัพย์ประเภทเรือดำน้ำสักหน่อย

            มีข่าวว่า "รบ.ปัดปกปิดซื้อเรือดำน้ำ แจง กห.-ทร.กำหนดเป็นเรื่องลับ สื่อไม่ถามเอง ย้ำโปร่งใส" {1}  เรื่องนี้เป็นคำแถลงที่กำกวมดูไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะ

            1. เรื่องการใช้เงินซื้อเรือดำน้ำ จะจัดเป็นเรื่องลับหรืองบลับอะไรคงไม่ได้เพราะไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ แต่มีมูลค่าถึงลำละ 13,500 ล้านบาท

            2. เรื่องนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแถลง ไม่ใช่อ้างว่าสื่อไม่ถามจึงไม่ได้แถลง

            3. ที่ "อมพระมาพูด" บอกว่า "โปร่งใส" แต่ในความเป็นจริงการไม่แถลงเพราะสื่อไม่ได้ถาม ถือเป็นความไม่โปร่งใสโดยพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างนี้ จะมีความโปร่งใสได้อย่างไร

            ที่เป็นเช่นข้างงต้นนี้ ถือเป็นการ "แก้เกี้ยว" หรือไม่ หรือใช่ว่ารัฐบาลที่ได้มาด้วยกำลังอาวุธและประชาชนไม่ได้เลือกมา จะพูดอะไรไป คนอื่นก็ไม่อาจ "หือ" หรือไม่อาจตั้งข้อสงสัยได้เลยหรืออย่างไร

            เรามาดูการแข่งขันด้านแสนยานุภาพในโลก ตามตารางที่แนบนี้ชี้ให้เห็นดังนี้:

            1. สำหรับประเทศในอาเซียนไทยมีแสนยานุภาพเป็นอันดับที่ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย  โดยไทยได้ที่ 21 จาก 126 ประเทศทั่วโลก ส่วนเวียดนามมีแสนยานุภาพอันดับที่ 16 ของโลก และอินโดนีเซียอันดับที่ 14 ของโลก

            2. สำหรับความแข็งแกร่งทางเรือ ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 14 ได้ 81 คะแนน รองลงมาจาก เวียดนาม เมียนมา และฟิลลิปปินส์ อินโดนีเซียกลับได้คะแนนน้อยกว่าไทย ซึ่งคงเป็นเพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 3.5 เท่า แม้มีอาวุธทางเรือมากกว่าไทย แต่ก็คงมีความแข็งแรงน้อยกว่า เวียดนามและฟิลิปปินส์ คงมีความจำเป็นทางการทัพเรือเพราะมีข้อพิพิาทหมู่เกาะ ส่วนเมียนมาภายใต้การปกครองทหารเกือบ 30 ปี ก็คงสะสมอาวุธทางเรือพอสมควร

            3. ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินชื่อเรือหลวงจักรีนฤเบศร ประเทศอื่นไม่มีเลย  นี่อาจเถือเป็นหน้าเป็นตาเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของไทย

            4. เรื่องเรือดำน้ำ ไทยกำลังจะมี 3 ลำ (เฮ) แต่ปัจจุบันถือว่ายังไม่มี ประเทศที่มีเรือดำน้ำได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ อาจด้วยเหตุนี้ไทยจึงอยากมีเรือดำน้ำบ้าง อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านั้นมีน่านน้ำกว้างขวาง-มหาศาล ผิดกับไทย ซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในเชิงเปรียบเทียบ

            อาจกล่าวได้ว่าไทยเราก็มีเรือที่สามารถต่อสู้กับเรือดำน้ำได้อยู่แล้ว แต่เรือดำน้ำก็คงไม่สามารถต่อสู้กับเครื่องบินรบได้ และเรือดำน้ำก็น่าจะเหมาะกับประเทศมหาอำนาจที่ต้องออกไปปกป้องผลประโยชน์หรือรุกราน การป้องกันประเทศอาจมีความจำเป็นในการใช้เรือดำน้ำน้อยกว่านั่นเอง ถ้าเราไมได้ออกไปรุกไล่ประเทศอื่น ก็คงไม่ต้องใช้เรือดำน้ำ เรือดำน้ำก็อาจจะล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบันของสงคราม "กดปุ่ม" จะทางไกล และถึงเรามีเรือดำน้ำ ก็ไม่ใช่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ และไทยเราก็ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์เสียด้วย

            หากพิจารณาถึงราคาเรือดำน้ำที่ 13,500 ล้านบาทต่อลำ {2} จำนวน 3 เป็นเงิน 40,500 ล้านบาท หากผ่อนจ่าย ก็ลดลงเหลือ 36,000 ล้านบาท เรือดำน้ำลำหนึ่งมีอายุขัยประมาณ 30 ปี {3} ก็เท่ากับแต่ละปีมีค่าเสื่อมไปประมาณ 1,080 ล้านบาท การใช้เงินขนาดนี้เป็นระยะเวลา 30 ปี จะคุ้มค่าหรือไม่ และอายุของเรืออาจลดน้อยลงกว่านี้หากเทคโนโลยีเปลี่ยนไป และยุทธศาสตร์เปลี่ยนเป็นการรบทางไกล ทางอากาศมากกว่าการใช้เรือดำน้ำ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นในแต่ละปี ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และการปฏิบัติภารกิจ (แต่ส่วนมากคงจอดไว้เฉย ๆ หรือใช้ทำการฝึกมากกว่า) อาจเป็นเงินอีกราว 10% ของค่าเรือ หรือเป็นเงินปีละ 3,600 ล้านบาท

            ก็คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่ และแสดงให้สังคมเห็นว่าไมมี "เงินทอน" หรือไม่ จะมีระบบตรวจสอบการเดินทางของเงินตราอย่างไร นี่คือสิ่งที่ประชาชนเจ้าของประเทศพึงรู้

อ้างอิง

{1} MGR Online 25 เมษายน 2560 14:56 น. (แก้ไขล่าสุด 25 เมษายน 2560 15:05 น.) www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9600000041743

{2} มติชน online 1 พฤษภาคม 2560 15:18 น. www.matichon.co.th/news/546434

{3} ดูตัวอย่างของเรือดำน้ำ HMS Tireless ของสหราชอาณาจักร www.bbc.com/news/uk-england-devon-27915381

อ่าน 7,571 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved