ถ้าสร้างรถไฟสายสีชมพูแล้วไม่มีคนนั่งแบบสายสีม่วง ใครจะรับผิดชอบ
  AREA แถลง ฉบับที่ 222/2560: วันศุกร์ที่ 02 มิถุนายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เห็นรัฐบาลจะสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แต่รถไฟฟ้าสายนี้น่าจะมีคนใช้บริการน้อย ดร.โสภณ จึงขอถามว่า ถ้าสร้างแล้วไม่มีคนนั่งแบบเดียวกับสายสีม่วง ใครจะรับผิดชอบ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู อาจถือเป็นการคิดผิดเป็นอย่างยิ่งของรัฐบาล เพราะไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง เนื่องจากปกติรถไฟฟ้าต้องสร้างวิ่งเข้าเมือง แต่นี่เป็นการสร้างให้วิ่งระหว่างแครายกับมีนบุรี ซึ่งไม่น่าจะมีผู้โดยสารมากนัก

แผนที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ที่มา: https://market.onlineoops.com/204010

            องค์การรถไฟฟ้ามหานคร ให้รายละเอียดว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรีนี้ เป็นโครงการหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region: M-MAP) เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนแม่บทฯ ดังกล่าว โดยเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ที่เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง รวมระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร (bit.ly/1ZJHkSD) รถไฟฟ้านี้ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 แห่ง โดยมีประมาณการค่าลงทุนด้านงานโยธาและงานระบบเดินรถไฟฟ้า 56,725 ล้านบาท

            ประเด็นปัญหาสำคัญสำหรับการสร้างรถไฟฟ้านี้ก็คือ การวิ่งระหว่างชานเมือง (แคราย - มีนบุรี) ไม่ใช่เส้นทางที่จะมีผู้คนสัญจรไปมา การสร้างรถไฟฟ้า ควรที่จะสร้างเข้าเมืองมากกว่า ในขณะนี้มีอีกหลายสายที่ควรสร้างเพื่อวิ่งเข้าเมือง เป็นการบรรเทาปัญหาการจราจร แต่เส้นทางนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย เป็นเพียงระบบรอง และช่วยบรรเทาปัญหาทางอ้อม จึงไม่คุ้มที่จะดำเนินการ เสมือนเชื่อมบ้าน "พ่อตา" กับ "แม่ยาย" ที่แยกกันอยู่ หรือเสมือนการช่วยอำนวยความสะดวกให้ไปเที่ยว "ซาฟารีเวิลด์" "สวนสยาม" หรือ "แฟชั่นไอส์แลนด์"

            สำหรับรถไฟฟ้าสายที่พึงสร้างก่อนสายสีชมพูได้แก่

            1. สายสีม่วงชุมบางซื่อผ่านสะพานพระปกเกล้ามาถึงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นการเชื่อมเข้าเมืองโดยตรงจากด้านเหนือถึงด้านใต้ของกรุงเทพมหานคร

            2. สายสีส้มจากบางบำหรุถึงแยกบางกะปิแต่ไม่ควรสร้างไปถึงมีนบุรีโดยสายนี้เป็นการเชื่อมเข้าเมืองระหว่างสองพื้นที่สำคัญด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก

            3. สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากสามแยกท่าพระมาตามถนนพระรามสามถึงคลองเตยซึ่งน่าจะมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากอีกทั้งยังผ่านย่านธุรกิจ และสมควรยกเลิกรถ BRT ที่กินพื้นที่ถนนไปข้างละ 1 ช่องทางจราจร

            4. สายสีเหลืองจากลาดพร้าวมาตามถนนลาดพร้าว ผ่านศรีนครินทร์ เทพารักษ์และสิ้นสุดที่สำโรงซึ่งเป็นเขตต่อเมืองไม่ได้ออกไปนอกเมืองเช่นถนนรามอินทราและจะมีผู้ใช้บริการมากกว่าอย่างแน่นอน

            5. สายสีเทาซึ่งควรเริ่มจากถนนลาดพร้าวมาตามถนนเอกมัยรามอินทราผ่านทองหล่อพระรามสี่และรัชดาภิเษกบริเวณถนนสาธุประดิษฐ์ เป็นต้น

            จะเห็นได้ว่าเส้นทางเหล่านี้ล้วนแต่เร่งด่วนกว่าสายสีชมพู แม้ประชาชน ที่อยู่อาศัยตามแนวถนนสีชมพูจะได้ประโยชน์แก่ทางราชการก็ควรคำนึงถึงระบบการคมนาคมขนส่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจเป็นยังอาจพิจารณาสร้างรถไฟฟ้ามวลเบา และทางด่วนเข้าศูนย์ราชการ เพื่อระบายการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่านี้

            บางท่านอาจบอกว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ ผ่านจุดตัดรถไฟฟ้าเข้าเมืองสายอื่นหลายสาย ในความเป็นจริงคนมีนบุรี คันนายาว รามอินทรา กม.8 คงไม่ “ถ่อสังขาร” ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีชมพูอ้อมออกไปหลักสี่เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงหรือสีเขียวเข้าเมือง จากประสบการณ์สำรวจอสังหาริมทรัพย์มา 30 ปีในกรุงเทพมหานคร ดร.โสภณ ทราบดีว่าการจราจรบนถนนรามอินทราติดหนักมาก การมีรถไฟฟ้า ก็คงไม่ได้ทำให้ปริมาณรถลดลง (ดูถนนสุขุมวิท) เพราะเป็นเส้นอ้อม ไม่ใช่เส้นตรงเข้าเมือง ที่สำคัญบริเวณอื่น ๆ ที่ประชากรหนาแน่นกว่า เช่น ลาดพร้าว ดุสิต ฝั่งธนบุรี ฯลฯ มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่ามาก

            รถไฟฟ้าสร้างย่อมดีกว่าไม่สร้าง เข้าทำนอง "กำขี้ดีกว่ากำตด" แต่ประเด็นที่พึงนึกให้มากก็คือ แล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ สร้างสายอื่นก่อนดีหรือไม่ต่างหาก

อ่าน 8,893 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved