สัมปทานรถไฟฟ้าสีชมพู: เอื้อเอกชนเกินไปไหม
  AREA แถลง ฉบับที่ 237/2560: วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มาตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู (และอาจรวมถึงสายสีเหลือง) แบบนี้รัฐบาล ประเทศชาติและประชาชนเสียเปรียบไปหรือไม่

            ก่อนหน้านี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้วิเคราะห์ว่า "รถไฟฟ้าสีชมพู เจ๊งแน่ๆ" ใน AREA แถลง ฉบับที่ 228/2560 วันพุธที่ 07 มิถุนายน 2560 (http://bit.ly/2rToBfw) เนื่องจากค่าก่อสร้างค่อนข้างสูง แต่รายได้ไม่น่าจะเข้าเป้าได้ตามที่ตั้งไว้ จากการประมวลข้อมูลเพิ่มเติมพบว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ จะมีงบลงทุน 56,691 ล้านบาท (http://bit.ly/1Hdbzcu) มีทั้งหมด 30 สถานี ตกเป็นเงินสถานีละ 1,889.7 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินกิโลเมตรละ 1,643.2 ล้านบาท ในขณะที่จากการประมวลดูค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบ Monorial ในประเทศต่าง ๆ ค่าก่อสร้างค่อนข้างถูกกว่ามาก (http://bit.ly/2tgknvP)

            ทั้งนี้ดูจาก

            1. นครกัลกัตตา (Kolkota) โครงการ Kolkota Monorail (http://bit.ly/2sjLs4p) ที่สร้างในปี 2550 มีมูลค่า 32,620 ล้านบาท มี 37 สถานี ระยะทาง 40 กิโลเมตร ตกเป็นเงินเฉลี่ยสถานีละ 881.6 ล้านบาท หรือกิโลเมตรละ 815.5 ล้านบาท

            2. นครทริวันดัม (Thiruvananthapuram) ของอินเดีย มีรถไฟฟ้าโมโนเรลเช่นกัน (http://bit.ly/2sUvZo3) โดยสร้างในปี 2555 มีมูลค่า 14,700 ล้านบาท มี 19 สถานี ระยะทาง 22.2 กิโลเมตร เสียค่าก่อสร้างสถานีละ 773.7 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินกิโลเมตรละ 662.2 ล้านบาท

            3. นครมุมไบ โครงการ Jacob Circle-Wadala-Chembur line/corridor (http://bit.ly/2rMXHnk) สร้างเมื่อปี 2551 ราคา 13,300 ล้านบาท มี 17 สถานี รถยะทาง 20.21กิโลเมตร  มีค่าก่อสร้าง 782.4 ล้านบาทต่อสถานี หรือ 658.1 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

            4. ที่กรุงมะนิลา มีโครงการ Manila Metro Rail Transit System Line 7 (http://bit.ly/2sUL4Gv) สร้างเมื่อปีที่แล้วนี้เอง (2559) มีมูลค่า 15,407 ล้านบาท มี 14 สถานี รวมระยะทาง 22.8 กิโลเมตร  ตกเป็นเงินค่าก่อสร้าง 1,100.5 ล้านบาท และหากคิดต่อกิโลเมตร ก็เป็นเงิน 675.7 ล้านบาท

            ในกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู "สำหรับเงินลงทุนของสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี อยู่ที่ 56,691 ลบ. แยกเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 6,847 ลบ. ค่างานโยธา 23,117 ลบ. ค่างานระบบไฟฟ้าและขบวนรถ 25,211 ลบ. และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 1,516 ลบ. ทั้งโครงการรัฐลงทุน 6,847 ลบ. ส่วนเอกชนลงทุน 49,844 ลบ. จะเปิดบริการปี 2563 ในปีแรกจะใช้รถทั้งหมด 92 ตู้หรือ 23 ขบวน มีผู้โดยสาร 130,000 คน/วัน" (http://bit.ly/1Hdbzcu)

            ที่น่าสังเกตก็คือ งานระบบไฟฟ้าและขบวนรถ 25,211 ล้านบาท สูงไปหรือไม่ ขบวนรถ 92 ตู้เทียบกับประเทศอื่นแล้วแพงกว่าหรือไม่ ในกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอส ตู้รถหนึ่งตกเป็นเงิน 57-75 ล้านบาท (http://bit.ly/2rYRk23) แต่รถไฟฟ้า Monorail สมมติให้เหลือเพียง 30% ของราคาเฉลี่ยที่ 60 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินเพียง 1,656 ล้านบาท  

            ปกติตัวรถมีค่าเท่ากับ 26%-33% ของมูลค่าของโครงการ (http://bit.ly/2rtQLdf)  อีกการศึกษาหนึ่งก็ราว 32% (http://bit.ly/2rg9klZ) ดังนั้นในกรณีที่หากต้นทุนตัวรถของรถไฟฟ้าสายสีชมพูคือ 1,656 ล้านบาท หรืออาจประมาณการให้ถึง 2,000 ล้านบาท มูลค่าของโครงการนี้ก็ควรไม่เกิน 4 เท่าหรือ 8,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแปลกที่งานระบบไฟฟ้าและขบวนรถของรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงถึง 25,211 ล้านบาท

            ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายมหาศาลถึงราว 30,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 6,847 ล้านบาท และค่างานโยธา 23,117 ล้านบาท แถมยังให้ใช้ที่ดินบนถนนรามอินทรา แจ้งวัฒนะและติวานนท์ โดยรัฐบาลได้เงินค่าตอบแทนคุ้มหรือไม่  ถ้ารัฐได้ส่วนแบ่งจากค่าโดยสาร จะคุ้มค่าก่อสร้าง จะคุ้มค่าเวนคืนหรือไม่ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร

            ถ้าคิดแบบคร่าวๆ จากค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบแบบ Monorail ทั่วโลก ต่อให้ค่าก่อสร้างสูงถึงสถานีละ 1,000 ล้านบาท ของไทยมี 30 สถานี ก็ควรเป็นเงินเพียง 30,000 ล้านบาท  ไม่น่าจะสูงถึง 56,691 ล้านบาท และการที่รัฐบาลออกค่าเวนคืน 6,847 ล้านบาท แล้วให้ภาคเอกชนทำและแสวงหากำไรไป 30 ปี โดยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินสักบาท ก็ยังน่าจะมีเอกชนสนใจทำ แต่นี่รัฐบาลออกเงินช่วยไปถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท แล้วแทบไม่ได้อะไรกลับมาจากค่าสัมปทาน อย่างนี้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนเกินไปหรือไม่

            หันกลับมาดูสัญญาสัมปทานบีทีเอสเมื่อปี 2535 (ใช้สำหรับอายุสัมปทาน 30 ปี เริ่ม 2542-2572 http://bit.ly/2rYJyFo) ปรากฏว่าเอกชนคือ BTSC เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง ดำเนินงาน และบำรุงรักษาระบบ หลังจากที่ระบบรถไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา BTSC มีสิทธิได้รับรายได้จากกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส อันรวมถึง การโฆษณา การให้สิทธิ และการเก็บค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งรวมถึงขบวนรถไฟฟ้าในปัจจุบันและที่จะซื้อเพิ่มในอนาคต จะโอนในลักษณะ BOT คือ BTSC จะโอนกรรมสิทธิ์เป็นของ กทม. เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง

 


ที่มาของภาพ: http://bit.ly/2sz4rrR

อ่าน 6,424 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved