ดร.โสภณเสนอสร้างหอชมเมืองที่อื่น
  AREA แถลง ฉบับที่ 271/2560: วันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

           หอชมเมืองเจ้าปัญหาติดข้อกฎหมายมากมาย โสภณแนะให้ไปสร้างพื้นที่อื่นที่เหมาะสมและสร้างสรรค์กว่าเพื่อสร้างหอชมเมือง

           ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้เคยชี้ให้เห็นว่าหอชมเมืองผิดข้อกฎหมายหลายข้อ (http://bit.ly/2tOb220) ดังนี้:

           1. ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีข้อกำหนดว่า "ภายในระยะเกิน 15 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ให้ก่อสร้างอาคารที่มี ความสูงไม่เกิน 16 เมตร"

           2. ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ที่ดินที่ตั้งโครงการหอชมเมืองอยู่ในเขต "ที่ดินประเภท ย. ๘. . .ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการ. . .(๑๑) การประกอบพาณิชยกรรมที่มีพื้นที่ประกอบการเกิน ๕,๐๐๐ ตารางเมตร. . .(๑๕) ศูนย์ประชุมอาคารแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ เว้นแต่ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร หรือตั้งอยู่ภายในระยะ ๕๐๐ เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (http://bit.ly/2troKp2)

           3. ในกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ระบุ"ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรือาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร. . . ." (http://bit.ly/2sSrvhm) แต่ถ้าเป็นอาคารเกิน 30,000 ตารางเมตร ถนนต้องกว้าง 18 เมตร (กฎกระทรวงฉบับที่ 50 พ.ศ.2540 ข้อ5 http://bit.ly/2tXtwhh)

           4. ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร (http://bit.ly/2srA9Ed) ต้องมีทางเข้าออกซึ่งหมายถึงถนน แต่ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้าออก แม้จะติดคลองสาธารณะและแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นทางเข้าออก

           5. โดยที่ในเขตกรุงเทพมหานครมีโบราณสถานเป็นจำนวนมาก (http://bit.ly/2urDlRO) ปกติสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ (เก็บเงินคนเข้าออก เช่น หอชมเมือง) ก็ต้องไม่ตั้งอยู่ในระยะที่ใกล้กับโบราณสถานต่าง ๆ ในระยะ 1-2 กิโลเมตรตามแต่ที่ประกาศในแต่ละบริเวณหรือแต่ละจังหวัด

           6. เรื่องเข้าข่ายการร่วมทุนหรือไม่ ข้อนี้ “กิจการที่จะต้องใช้ที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ เข้าข่ายเป็น ‘กิจการของรัฐ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 โดยหากมีการร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ย่อมเข้าช่วยต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556” (http://bit.ly/2srKUq7)

           สำหรับบริเวณอื่นที่ ดร.โสภณขอนำเสนอได้แก่

            1. สวนลุมพินี ข้อเสนอนี้เป็นของ อ.Thanapol Saranark ซึ่ง ดร.โสภณก็เห็นด้วย สวนลุมพีนีเป็นพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่า 300 ไร่ หากนำพื้นที่เพียง 2-3 ไร่ มาสร้างหอชมเมืองก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงอีกทั้งยังติดถนนใหญ่สามารถก่อสร้างได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ต้องอาศัยทางเข้าของกลุ่มทุนเอกชนใด

           2. 'โรงภาษีร้อยชักสาม' ข้างสถานีตำรวจน้ำ 2 ถนนเจริญกรุง ซอย 36 ที่ดินแปลงนี้มีถนนสาธารณะเข้าออกได้นักท่องเที่ยวก็เข้าชมได้สะดวกไม่ต้องข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งยังสามารถบูรณะอาคารอนุรักษ์แบบนี้และพัฒนาเป็นโรงแรมหกดาวได้อีกด้วย

           3. ท่าเรือคลองเตย โดยอาจมีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเมืองใหม่เนื่องจากต่อไปท่าเรือทั้งหมดคงย้ายไปแหลมฉบังและมาบตาพุด

           4. ที่ดินมักกะสันซึ่งควรนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการเป็นศูนย์คมนาคมขนส่งเช่นเดียวกับ KL Sental ของมาเลเซียนั่นเอง

            นอกจากนี้หากเปิดให้เอกชนเสนอพื้นที่เข้าร่วมประกวดเพื่อสร้างหอชมเมืองโดยภาครัฐให้การสนับสนุนเชื่อว่าน่าจะมีผู้สนใจอีกมาก ดีกว่าการถูกผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มซึ่งอาจนำมาสู่ภาพพจน์ที่ไม่โปร่งใส

 

 

 

 

อ่าน 2,999 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved