น่าจะฟ้องร้อง คชก. เรื่องห้ามสร้างเขื่อนแม่วงก์
  AREA แถลง ฉบับที่ 351/2560: วันพฤหัสบดีที่ 07 กันยายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือ คชก. ตีกลับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ เขื่อนแม่วงก์ เพราะเห็นว่า หากดำเนินการก่อสร้างต่อไปจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และเสนอให้เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นให้รอบด้าน (http://bit.ly/2eNhVLY) ดร.โสภณ สวน คชก.ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ๆ เสียผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน น่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก คชก.

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างยั่งยืน (http://bit.ly/2j5UTRK) ให้ความเห็นว่า คชก. น่าจะมีอคติ เพราะศึกษาอย่างไรก็ไม่ผ่าน เหตุผลของ คชก.ที่ไม่ให้ผ่านผลการศึกษาก็คือ "หากดำเนินการก่อสร้างต่อไปจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และเสนอให้เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นให้รอบด้าน"

            อย่างไรก็ตามแนวคิดการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2525 ด้วยเหตุผลว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยและฟื้นฟูภัยแล้งแถบลุ่มน้ำสะแกกรังได้ กว่า 30 ปี ที่ผ่านมาผลการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ไม่ผ่านการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาแล้วถึง 4 ครั้ง ในเมื่อศึกษามาทุกครั้งก็ไม่ผ่าน แต่ก็เตะถ่วงให้ทำการศึกษาอยู่ร่ำไป  อย่างนี้ประชาชนผู้เสียประโยชน์ควรฟ้องร้อง คชก. ให้เป็นกรณีศึกษา

            สิ่งที่ คชก.ท้วงติง น่าจะมีเหตุผลเลื่อนลอย ได้แก่:

            1. แผนที่ขอบเขตน้ำท่วม ประเด็นนี้ ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ เลย มีการคาดการณ์ได้ชัดเจนอยู่แล้ว

            2. ผลกระทบด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ทั้งนี้อันที่จริงการสร้างเขื่อนจะทำให้ป่าไม้สมบูรณ์ มีน้ำหล่อเลี้ยง ทำให้ป่าสมบูรณ์ สัตว์ป่าก็มีอาหารมากขึ้น มีน้ำเพียงพอที่จะดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปีได้ทันท่วงที

            3. จุดก่อสร้างของกรมชลประทาน ทั้งนี้จุดนี้อยู่ตรงบริเวณสำนักงานของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเมื่อรื้อแล้วก็สามารถสร้างใหม่ได้ ไม่ใช่แตะต้องไม่ได้

            4. วิธีการจัดเก็บสำรวจป่าไม้ในพื้นที่โครงการ ก็ดำเนินการอย่างเป็นระบบในช่วงที่ผ่านมา มีการสุ่มนับ

            ถ้า คชก.บริสุทธิ์ใจจริง ควรแจงรายละเอียดให้ชัด และโดยที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก็มีแนวคิดในการอนุรักษ์ป่าแบบเดิม ๆ และไม่มีผู้เชียวชาญที่รอบด้านกว่านี้ ไม่มีผู้แทนชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ ก็คงพิจารณาตามอคติหรือฉันทาคติโดยไม่ได้พิสูจน์ให้แน่ชัดหรือไม่  ควรมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญในคณะนี้ น่าเชื่อถือหรือมีประสบการณ์เฉพาะด้านเกินไปโดยไม่มองภาพรวมที่เป็นจริงหรือไม่ และที่อ้างว่ากระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงก็เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย

            ที่สำคัญที่อ้างว่าให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ดร.โสภณ ได้สำรวจความเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แต่ คชก. และพวกเอ็นจีโอ ไม่เห็นด้วย อย่างนี้เท่ากับไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชนคนส่วนใหญ่หรือไม่ ผลการสำรวจที่ผ่านมาเป็นดังนี้:

ครั้งที่ สำรวจเมื่อ % ที่เห็นด้วยกับ
การสร้างเขื่อน 
อ้างอิง
1 2-3 ตุลาคม 2556 69% http://bit.ly/1MwyYWd
2 11-12 กรกฎาคม 2557 71% http://bit.ly/1PxhHjN
3 16-17 มกราคม 2559 79% http://bit.ly/1Ti1QZ0

            ที่ผ่านมา " NGOs แหกตา นกยูงจับมาเลี้ยง ไม่ใช่ของธรรมชาติ" (http://bit.ly/2nyG1ZA) "ที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ใช่ป่าสมบูรณ์ (มีคนอายุมาก่อนตั้ง 200 ครัวเรือน ต้นมะพร้าวก็ยังมี) ถางมาทำเขื่อนได้เลย" (http://bit.ly/2hDU8xO) "พิสูจน์ชัด ไม่มีเสือในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์" (http://bit.ly/2c3pLtZ) และที่สำคัญ "สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะ ชาวนา ชาวเมืองจะได้พ้นนรกท่วม-แล้ง" (http://bit.ly/1RQNBYS)

 

อ่าน 3,203 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved