ผู้ค้าพัฒน์พงศ์ประเมินนักท่องเที่ยวลด-เศรษฐกิจตก สวนทางตัวเลขทางการ
  AREA แถลง ฉบับที่ 367/2560: วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ผู้ค้าย่านพัฒน์พงศ์ ตลาดถนนคนเดินที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินมากที่สุดในปัจจุบัน ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง และเศรษฐกิจปีหน้าจะไม่สดใสนัก

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้รับรายงานผลการสำรวจด้วยแบบสอบถามประกอบการศึกษาของนายพิชเญศ หมื่นละม้าย นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่เสนอต่อศูนย์ข้อมูลฯ ในระหว่างการฝึกงาน ดร.โสภณ เห็นเป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจ จึงขอนำมานำเสนอเพื่อประโยชน์สาธารณะ

            การศึกษานี้จัดทำเพื่อประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจากผู้ค้าย่านพัฒน์พงศ์ ซึ่งเป็นย่านถนนคนเดินที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาเดินเที่ยวและจับจ่ายมากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2560 ได้สำรวจผู้ค้าจำนวน 200 รายจากทั้งหมดประมาณ 1,000 ราย ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เพียงพอและเชื่อถือได้ ความเห็นของผู้ค้าเหล่านี้น่าจะสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยได้ดีพอสมควร ผลการค้นพบเป็นดังนี้:

            1. ผู้ค้าที่สำรวจจำนวน 200 รายนี้ แยกเป็นชาย-หญิงอย่างละครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ค้าแบบแผงลอยโดยแยกเป็นกลุ่มร้านอาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย น้ำและผลไม้ ของฝากของที่ระลึก และเครื่องประดับ ในสัดส่วน 22%, 29%, 12%, 20% และ 17% ตามลำดับ โดยผู้ค้าเหล่านี้ขายมาเฉลี่ย 11 ปีแล้ว แต่ค่อนข้างหลากหลายเพราะบางคนก็เพิ่งทำการค้า บางคนก็ค้าขายมานานมากแล้ว

            2. ในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ในกรณีปกติ อาจอนุมานว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 100% แต่ผู้ค้าประเมินเหลือเพียง 63% จากที่ควรจะเป็น แสดงว่าลดลงมากถึง 37% ทีเดียว ในอีกแง่หนึ่งผู้ค้าที่เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากมีถึง 64% ที่เห็นว่าค่อนข้างลดลงมี 27% และที่เห็นว่าปานกลาง (เหมือนเดิม) มี 6% ส่วนที่เห็นว่าเพิ่มขึ้น มีเพียง 3% และที่เห็นว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมามากที่สุดมีเพียง 1% เท่านั้น

            3. ในด้านรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งในแง่หนึ่งก็น่าจะล้อไปตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ก็อาจแตกต่างกันได้ ผลการศึกษาพบว่า ในกรณีปกติ อาจอนุมานว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 100% แต่ผู้ค้าประเมินเหลือเพียง 62% จากที่ควรจะเป็น แสดงว่าลดลงมากถึง 38% ทีเดียว แสดงว่าประเมินลดลงไปในทำนองเดียวกัน ในอีกแง่หนึ่งผู้ค้าที่เห็นว่ารายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมากมีถึง 65% ที่เห็นว่าค่อนข้างลดลงมี 27% และที่เห็นว่าปานกลาง (เหมือนเดิม) มี 5% ส่วนที่เห็นว่าเพิ่มขึ้น มีเพียง 3% เท่านั้น

            4. ต่อความเห็นต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้า (ปี 2561)  หาก 100% เป็นค่าปกติ ปรากฏว่าผู้ค้าประเมินไว้ที่ 86% ซึ่งแสดงว่าจะต่ำกว่าปกติเมื่อเทียบกับปี 2560 ประมาณ 14% แม้จะไม่แตกต่างจากการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว ผู้ค้าบางส่วนประเมินว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว ขณะนี้น่าจะถึงก้นบึ้งแล้ว โดยรวมแล้ว ที่เห็นว่าเศรษฐกิจในปี 2561 จะแยกมากมีเพียง 16% ที่เห็นว่าค่อนข้างแย่มี 40% ที่เห็นว่าปานกลางหรือเหมือนปี 2560 มี 39% ที่เห็นว่าจะดีขึ้นมี 16% นั่นเอง

            ข้อค้นพบนี้อาจค่อนข้างน่าวิตก เพราะขนาดพื้นที่พัฒน์พงศ์ที่มีนักท่องเที่ยวเดินมากที่สุดแล้ว ยังได้รับการประเมินจากผู้ค้า (ซึ่งเป็นคนที่น่าจะรู้พื้นที่ดีที่สุดแล้ว) ในแง่ที่ลดลงทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากการท่องเที่ยว และประเมินเศรษฐกิจในอีก 1 ปีข้างหน้าไม่สดใสนัก ภาพนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลังไหลเข้ามาในประเทศไทยขณะนี้นั้น

            จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (http://bit.ly/2y5ZZAb) พบว่าในรอบ 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2560) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 20,411,682 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4% และในห้วงเวลาเดียวกันนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาถึง 5,649,752 คน (ลดลงจากปีก่อน 2%) อาจกล่าวได้ว่าจีนมีสัดส่วนอยู่ในจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ 28% และปีที่แล้ว 29% การที่นักท่องเที่ยวจีนเพียงประเทศเดียว มีสัดส่วนในตลาดท่องเที่ยวถึง1/4 หรือมากกว่านั้น แสดงว่าจีนมีอิทธิพลสูงมากในตลาดท่องเที่ยวไทย แต่การมาไทยเป็นหมู่คณะของนักท่องเที่ยวจีน อาจไม่ได้มาจับจ่ายใช้สอยมากนัก จึงทำให้สถานการณ์ไม่ได้ดูดีขึ้น แม้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็ตาม

อ่าน 7,096 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved