1,000 แม่ชีเทเรซาก็ช่วยลดสลัมไม่ได้
  AREA แถลง ฉบับที่ 12/2561: วันศุกร์ที่ 05 มกราคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การทำดีนั้นเป็นสิ่งที่พึงยกย่อง เช่น "ตูน บอดี้สแลม" ฯลฯ ดีกว่าพวก "มือไม่พายฯ" อย่างแน่นอน แต่การทำดีนั้นใช่ว่าจะบรรลุผลในการแก้ไขปัญหาสังคมได้จริง มาดูกรณีศึกษาแม่ชีเทเราซา ผู้เป็นเสมือนเทพแห่งชาวสลัมอินเดีย

ภาพแม่ชีเทเรซา

 


ดร.โสภณ คารวะหลุมศพของแม่ชีเทเรซาที่นครโกลกัตตา

            แม่ชีเทเรซา (26 สิงหาคม พ.ศ. 2453 – 5 กันยายน พ.ศ. 2540) เป็นนักพรตหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศที่ยากจนและร่ำรวย จนเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ท่านจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหลังจากมรณกรรมก็ได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มีนามว่า "บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา" ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2559 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ประกาศให้ท่านเป็น "นักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา" ท่านเกิดที่เมืองสโกเปีย จักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนีย) มีบิดาเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดในหลักศาสนา ซึ่งทำให้ตั้งแต่วัยเด็กแอ็กเนสชอบไปโบสถ์ฟังบาทหลวงเทศน์มาโดยตลอด (แม่ชี) อายุ 18 ปี บวชชี หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังประเทศอินเดีย (https://goo.gl/eyGbAZ)

            นอกจากนั้น แม่ชีเทเรซาเป็นที่รู้จักทั่วโลกมานานกว่าครึ่งศตวรรษเพราะการทำงานกับคนจนโดยเฉพาะที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ท่านได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลก เช่น รางวัลแมกไซไซ (1962) รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (1979) และรางวัลอื่นๆ จากรัฐบาลและเอกชนนับไม่ถ้วน และจากการสำรวจของโพลอเมริกัน คุณแม่เทเรซาเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องชื่นชมมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 (https://goo.gl/U7cSyE)

            อาจกล่าวได้ว่า สลัมเป็นสัญลักษณ์ของเอเซียใต้ก็ว่าได้ บุคคลที่มีชื่อเสียงในการช่วยเหลือคนจนในสลัมก็คือแม่ชีเทเรซา  ท่านเป็นผู้การุณย์อันยิ่งใหญ่ต่อชาวสลัมจนได้รับการยอมรับกันทั่วโลก แต่ต่อให้มีแม่ชีเทเรซานับพันคน ก็ไม่อาจช่วยให้ชาวสลัมหลุดพ้นจากการอยู่อาศัยในสลัมได้หรือทำให้สลัมหดหายไปได้ เศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่างหากที่ช่วยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้

          

            จะสังเกตได้ว่าว่าแม่ชีเทเรซาท่านอยู่ที่อินเดียเกือบ 70 ปีจนถึงวันที่ท่านเสียชีวิตในปี 2540 จำนวนประชากรสลัมในอินเดียก็ยังสูงถึง 55% ในปี 2533 และยังสูงถึง 42% ในปี 2543 ภายหลังจากที่ท่านเสียชีวิต แต่หลังจากนั้นอีก 20 ปีนับแต่ท่านเสียชีวิต จำนวนประชากรในสลัมก็ลดเหลือ 24% หรือลดลงราวครึ่งหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเศรษฐกิจอินเดียในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตดีขึ้น กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่ง โดยมีขนาดเศรษฐกิจราว 2/3 ของประเทศอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน

            กรณีนี้จึงชี้ให้เห็นชัดว่า การทำดีเพื่อสังคมนั้น อาจได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ใช่ว่าจะสามารถส่งผลดีต่อสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น มีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง (ไม่ใช่แบบ คสช.) มีการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในยุคนายกรัฐมนตรีโมที (https://goo.gl/VppzBg) ที่ครองอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 (ครองอำนาจรุ่นเดียวกับ "บิ๊กตู่" และทำให้เศรษฐกิจและสถานะของอินเดียสูงเด่นชัดเจน ภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี ชาวอินเดียประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างแน่แท้ (ข้อนี้อาจต่างจากประเทศไทย)

            เราพึงยกย่องคนทำดี การทำดีอาจช่วยคนได้ระดับหนึ่ง และ "คนทำดี ย่อมได้ดี" ด้วยเช่นกัน แต่การกุมอำนาจรัฐอย่างสง่างาม และสร้างสรรค์ ต่างหากที่จะบันดาลให้ประชาชนมีสุขที่แท้จริงได้

อ่าน 7,745 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved