ภาษีที่ดินฯ ปาหี่จริงๆ
  AREA แถลง ฉบับที่ 68/2561: วันอังคารที่ 06 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังร่างกันอยู่นี้ ปาหี่สุดๆ กฎหมายนี้คงไม่ออกมา ขืนออกมาก็ไม่ก่อผลดีใดๆ ต่อการลดความเหลื่อมล้ำ หรือเพิ่มความเป็นอิสระขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

            ตามข่าว “ถอย 1 ก้าว ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ รัฐบาล คสช.แจกโปรโมชั่น ‘ลด 40%-ฟิกซ์ภาระภาษีป้องกันใช้ดุลพินิจ’” (http://bit.ly/2GTcT9Q) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะที่ศึกษาดูงานการจัดเก็บภาษีนี้มาทั่วโลก ให้ความเห็น ดังนี้

            1.  ภาษีนี้แทบไม่ได้โภคผลอะไร เพราะตามข่าว ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และกรรมาธิการพิจารณากฎหมายภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า “. . . ประมาณการรายได้ภาษีในระบบเดิมที่เก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ รัฐมีรายได้ตกปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท ในอนาคตเมื่อมีการยกเลิกภาษี 2 ฉบับนี้ และใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาทดแทน คาดว่ารัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาท” ทางราชการลงทุนศึกษามากมายแต่จะจัดเก็บได้เพียงเท่านี้

            2. ทางราชการไม่เข้าใจระบบภาษีนี้เพราะกล่าวว่า “เราดูสถิติแล้วว่าผู้เสียภาษีส่วนใหญ่เป็นคนรายได้ระดับปานกลางจนถึงผู้มีรายได้น้อย สัดส่วน 90% กว่า ซึ่งรัฐดูแลให้มีอัตรายกเว้นกับมีอัตราขั้นบันไดอยู่แล้ว” สำหรับภาษีในท้องถิ่น คนในท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนต้องเป็นคนปกติมากกว่าคนรวย ถ้าอ้างความจน ก็ไม่มีใครต้องเสียภาษี จึงเป็นภาษีที่ไม่เป็นจริง

            3. คนรวยมีจำนวนน้อยกว่า แต่อาจมีทรัพย์มากกว่า (ที่ผ่านมามีผลศึกษาว่าคนส่วนใหญ่ถือครองที่ดินน้อยกว่ารายยักษ์ใหญ่ด้วยซ้ำไป) ก็จะเสียภาษีไม่น้อย แต่พวกคนรวยเลี่ยงภาษีด้วยการแบ่งซอยแปลงที่ดินหรือให้บุคคลอื่นหรือบริษัทถือครองแทน เพื่อพยายามลดอัตราภาษีเพื่อให้พวกตนได้ประโยชน์ คนจนกว่ามีทรัพย์มูลค่าน้อยอยู่แล้ว ได้ส่วนลดนิดหน่อยก็ไม่มีนัยสำคัญอะไร แต่คนรวยได้ส่วนลดมากกว่า

            4. การจัดเก็บภาษีตามประเภทอสังหาริมทรัพย์อาจไม่จำเป็น ควรจัดเก็บตามมูลค่าตลาด ที่ดินบางแห่งใช้ทำนา แต่ราคาแถวนั้นสูงมากแล้ว ทำนาไม่คุ้ม ก็ควรเก็บตามจริง หาไม่บางคนอาจแสร้งทำนาใจกลางเมือง

            5. การจัดเก็บภาษีควรเป็นไปตามราคาตลาด ไม่ใช่ราคาประเมินของทางราชการ

            ความจริงแล้วการเสียภาษี 1% ไม่เป็นปัญหาแก่ประชาชนเลย ทุกวันนี้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยรถจักรยานยนต์คันหนึ่งราคา 30,000 บาทก็เสียภาษีปีละประมาณ 500 บาทหรือ 1% ถ้าประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีห้องชุดราคา 300,000 บาทเสียภาษีเพียง 3,000 บาทต่อปีเท่านั้น แต่ผู้มีทรัพย์ราคา 100 ล้านบาท ก็คงไม่อยากเสียภาษีปีละ 1 ล้าน ยิ่งถ้ามีทรัพย์ราคา 1,000 ล้านบาท ยิ่งคงไม่อยากเสียภาษีปีละ 10 ล้านบาทเป็นแน่ กลยุทธ์ของคนรวยๆ จึงพยายามลดๆ ๆ ๆ และแบ่งทรัพย์ตนให้เล็กลงๆ ๆ ๆ เพื่อจะได้เสียภาษีน้อยที่สุด

            ความจริงภาษีนี้ ยิ่งเสียยิ่งได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่งเสริมประชาธิปไตยจริงๆ เป็นเงินภาษีที่จัดเก็บและใช้ภายในท้องถิ่น ไม่ผ่านรัฐบาลส่วนกลาง และโดยที่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บได้ จะถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น ประชาชนจึงรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี เมื่อประชาชนในท้องถิ่นเห็นศักยภาพของตนเองในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อตนเองจากภาษีของตน คนดี ๆ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาในท้องถิ่นก็จะอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

            ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เลิกบิดเบือนเถอะ

ดูวิดิโอ FB Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://goo.gl/wckAGA

 

อ่าน 4,056 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved