บ้าแน่ๆ เสือดำตัวละ 92 ล้านบาท. . .เชื่อไม่ได้
  AREA แถลง ฉบับที่ 236/2561: วันอังคารที่ 24 เมษายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การล่าเสือดำเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แม้จะเป็นกีฬาของพระราชาและอภิมหาเศรษฐีในโบราณกาลก็ตาม แต่ขณะเดียวกันที่ว่า "เสือดำตาย 1 ตัว เปรียบเสียหายถึง 92 ล้าน" (https://bit.ly/2qVnkDp) นั้น เรามาพิสูจน์กันว่าประเมินถูกต้องไหม อันที่จริงพวกนักวิชาชีพสัตว์ป่าคงอยากตีราคาให้เป็นพันเป็นหมื่นล้านเพื่อให้มีการชดใช้ (ให้สาแก่ใจ) ด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่อาจทำได้

            ตามข่าวดังกล่าวบอกว่า ประเมินค่าโดยดูจากกรณี "ลิงโกลเด้น ไลออน แทมมารีน ในอเมริกาใต้ . . .พยายามจะส่ง. . . กลับเข้าป่าด้วยการเพาะเลี้ยง ผลปรากฏว่า กว่าจะปรับพฤติกรรมและต้องติดตามว่ามันจะรอดชีวิตหรือไม่ รวมค่าใช้จ่ายต้องใช้เงินงบประมาณกว่า 700,000 บาทต่อตัว สูงกว่าราคาซื้อขายในตลาด 116 เท่า โดยมีราคาขายอยู่ที่ตัวละ 6,000 บาท. . . (ดังนั้น) เสือดำ ที่สวนสัตว์ซื้อขายกันตัวละ 800,000 บาท ถ้าจะเพาะเลี้ยงเสือดำเพื่อเพิ่มจำนวนและส่งคืนป่า และอาจต้องใช้งบประมาณสูงกว่าราคาซื้อขายในตลาด 116 เท่า หรือคิดเป็นเงินงบประมาณของเสือดำตัวละกว่า 92 ล้านบาท"

            การประเมินค่านี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

            1. ค่าใช้จ่ายสำหรับลิงจะมาใช้กับเสือ เทียบเคียงกันไม่ได้เลย เหมือนเอาแอปเปิลไปเทียบกับส้ม

            2. ถ้าค่าใช้จ่ายในการเพาะเลี้ยงสูงกว่าราคาซื้อขายถึง 116 เท่าจริง คงเป็นเพราะการทุจริตในการจัดเลี้ยงหรือการขาดประสิทธิภาพแล้ว เพราะถ้าปล่อยเสือดำวัย 3 ปีเช่นเดียวกับตัวที่ถูกยิง 116 ตัวออกสู่ป่าโดยไม่ฝึกอะไรเลย คาดว่าเสือดำคงใช้สัญชาตญาณสัตว์เอาตัวรอดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ตายเหลือตัวเดียว จนมีค่าเท่ากับ 92 ล้านบาทอย่างแน่นอน

            3. เสือดำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมีถึง 130 ตัว ถูกยิงตายไป 1 ตัว แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายแต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อระบบนิเวศดังอ้างเลย และก็ไม่มีใครตีราคาได้ เพราะเป็นแค่การสร้างอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

            4. เสือในป่าตัวหนึ่งมีพื้นที่หากินถึง 100 ตารางกิโลเมตร ถ้ายกพื้นที่กรุงเทพมหานครขนาด 1,568 ตารางกิโลเมตร คงให้เสืออยู่ได้แค่ 16 ตัวเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครมีคนอยู่ถึง 6 ล้าน ทั่วโลกมีเสืออยู่ 3,800 ตัวในป่าแต่ในสหรัฐอเมริกา มีเสือเลี้ยง (ไม่ได้อยู่ในป่า) มากกว่า 5,000 ตัว เสือที่เราเห็นแข็งแรงกว่าคนเรามากมายนั้นมีอายุเพียง 16 ปีในป่า แต่ถ้าเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ (เปิด) ก็จะมีอายุได้ถึง 26-30 ปี (https://goo.gl/9ze1Nz)  จะให้ไปอยู่ป่าทำไม

            5. การพยายามให้ลิงกลับไปอยู่ป่าตามอ้างอาจกลายเป็นการทรมานสัตว์หรือไม่ ลองคิดในมุมกลับดู

            การที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประเมินค่าอย่างเอนเอียงและขาดหลักวิชาแบบนี้ จะน่าเชื่อถือหรือไม่ ปกติเรื่องป่าไม้ เรื่องสัตว์ป่า เราก็ต้องให้ความเชื่อถือแก่นักวิชาชีพืที่ทำงานทางด้านนี้ แต่ถ้านักวิชาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ เกี่ยวกับสัตว์ป่า มีใจเอนเอียงไปตามวิชาชีพจนกลายเป็นอคติและเกินความเป็นจริงไป เราก็อาจต้องฉุกคิดในสิ่งที่พวกเขาคิดเช่นกัน ไม่เช่นนั้น สังคมอาจถูกนักวิชาชีพเหล่านี้พาเข้ารกเข้าพง

            อันที่จริงประเทศไทยควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเสือเพื่อการพาณิชย์ ทุกวันนี้กรมอุทยานฯ ควบคุมโดยตีทะเบียนสัตว์ทุกตัว แม้แต่ในสวนสัตว์ เสือที่แก่มากแล้ว ก็ต้องเลี้ยงจนตาย ตายแล้วก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ มาเผาต่อหน้า เป็นการสูญเสียอย่างยิ่ง แต่ถ้าไทยอนุญาตให้เลี้ยงเสือเป็นอาชีพ ก็จะมีอุปทานเสือ ทำให้เศรษฐกิจชาติดีขึ้น สัตว์ป่าก็จะไม่ถูกไล่ล่าเพราะมีเสือมากมายเพียงพอต่อความต้องการ เรื่องแบบนี้ไปถามนักวิชาชีพที่ทำงานกับสิงสาราสัตว์ ก็คงคิดไม่ออก มองภาพแบบองค์รวมไม่ได้เช่นนี้

            คิดให้ดีก่อนจะไปเชื่อพวกนักวิชาชีพที่ "หน้าเนื้อใจเสือ" เห็นความสำคัญของเสือมากกว่าคน!

ดูวิดิโอ fb Live คลิกที่ลิงค์นี้: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/1572248292887751/

 


ที่มา: www.energychoice.ohio.gov/SlideShowImages/11062013_090013.jpg

อ่าน 3,760 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved