ไม่กล้าออกภาษีที่ดินเพราะกลัวคนรวยเดือดร้อน
  AREA แถลง ฉบับที่ 322/2561: วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการนำเสนอมานานตั้งแต่ครั้งยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ออกมา เลื่อนมาตลอด และออกถ้าขืนได้ออกมา ก็คงเก็บภาษีได้ไม่กี่หมื่นล้าน และกลายเป็นกฎหมายพิกลพิการแบบภาษีมรดกที่เก็บแทบไม่ได้เลย

FB Live วันที่ 29 มิถุนายน 2561: ไม่กล้าออกภาษีที่ดินเพราะกลัวคนรวยเดือดร้อน
คลิก: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/1643456862433560/

 

ดูวิดิโอบน Youtube คลิก: https://youtu.be/WfVISR8yt00

 

มุ่งช่วยไม่ให้คนรวยเดือดร้อน

            ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ทำให้คนจนเดือดร้อนเพราะถ้าจนจริงๆ ก็ไม่มีสมบัติอะไร แต่ถ้าเป็นคนชั้นกลาง ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่เดือดร้อน ลองดูอย่างภาษีรถจักรยานยนต์เก่าสักคันราคา 30,000 บาท ต้องเสียค่าตรวจสภาพ (60 บาท) ค่า พรบ.ประกันรถจักรยานยนต์ (330 บาท) และภาษี (100 บาท) รวมเป็นเงินราว 490 บาท หรือ 1.6% ของราคารถ ก็ไม่เห็นมีใครบ่นเลย

            ดังนั้นถ้าเรามีห้องชุดราคาถูกๆ 500,000 บาท แต่ราคาประเมินราชการมักจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง สมมติว่าต่ำกว่า 20% เป็นเงิน 400,000 บาท หากสมมติต้องเสียภาษี 0.5% ก็จะเสียเพียง 2,000 บาท (หรือเดือนละ 333 บาท) พอๆ กับค่าจัดเก็บขยะ แต่ตามร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบอกว่า ไม่ต้องเสีย แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศ ทางออกที่ถูกบิดเบือนก็คือการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกรณีนี้แม้แต่ผู้ไม่มีบ้านและที่ดิน ก็ต้องเสียภาษีกันถ้วนหน้า เพราะบังคับเก็บกับประชาชนผู้บริโภคโดยตรง แต่ต่อนายทุน พวกเขาก็สามารถผลักภาระภาษีได้

            แต่การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น แท้จริงแล้วต้องการที่จะช่วยคนรวยมากกว่า เช่น ถ้าคนรวยต้องเสียภาษี 0.5% ต่อปี โดยมีทรัพย์สินเป็นเงิน 100 ล้านบาท ก็เท่ากับเสียปีละ 500,000 บาท คนรวยๆ ไม่อยากเสียภาษี ยิ่งถ้ามีทรัพย์ราคา 1,000 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 5 ล้านบาท ก็ยิ่งเสียดายใหญ่ ร่างพระราชบัญญัตินี้ก็เลยหาสารพัดวิธีในการเลี่ยงภาษี เช่น แสร้งเอาไปทำการเกษตรเพื่อลดภาระภาษี เอาไปให้ราชการใช้ประโยชน์ชั่วคราวในขณะที่ยังไม่ได้ขาย จะได้ไม่ต้องเสียภาษีเลย เป็นต้น

ไม่ควรมีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษี

            ยิ่งมีการยกเว้น แต่ละคน แต่ละท้องที่ก็ยิ่งอยากให้ราคาประเมินต่ำ ๆ ไม่สะท้อนราคาตลาด การจัดเก็บภาษีก็อาจไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย  อาจเกิดกรณีที่ต้นทุนในการจัดเก็บภาษีพอ ๆ กับจำนวนรายได้ที่ได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียอีก กลายเป็นภาระของกระบวนการจัดเก็บภาษีไปเสียอีก ซึ่งถือเป็นวิถีทางหนึ่งในการ "ทำหมัน" ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

            ที่ว่าไม่ควรมีข้อยกเว้นนั้นก็เพราะจะทำให้เกิดความลักลั่นในการตีความ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็จะเอาอีหรอบเดิม ๆ ก็คืออาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการตีมูลค่าที่ดินและอาคาร  อาจต้องมีเบี้ยบ้ายรายทางตามดุลยพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ชาวบ้านต้องเสียภาษี "นอกระบบ" เพิ่มขึ้นอีกภาษีหนึ่ง ที่ว่าไม่พึงมีข้อยกเว้นนั้น เพราะหากห้องชุดราคาถูกหน่วยหนึ่งมีราคาเพียง 300,000 บาท แต่ราคาประเมินเป็นเงิน 250,000 บาท  หากต้องเสียภาษี 0.1% ก็เป็นเงินเพียง 250 บาทเท่านั้น หรือเท่ากับเดือนละ 21 บาทเท่านั้น จะไปเกี่ยงกันทำไม

ภาษีนี้เสียน้อยมาก

            ในต่างประเทศ เขาจัดเก็บภาษีนี้ที่ 1-3% ของมูลค่า เช่น บ้านในสหรัฐอเมริกาหลังหนึ่งราคา 10 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีปีละ 200,000 บาท (สมมติอัตรา 2%)  ราคาประเมินของทางราชการกับราคาตลาดก็ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก  เราซื้อบ้านไว้แล้ว หากไม่ไปอยู่ก็ต้องเสียภาษี จะอ้างว่าตนไม่ได้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการจัดเก็บค่าส่วนกลางในชุมชนนั่นเอง

            ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีภาษีนี้จะลดภาษีหรือค่าใช้จ่ายอื่น

            1. ภาษีโรงเรือน และภาษีที่ดินในปัจจุบันที่จัดเก็บอย่างไม่เป็นธรรมก็จะถูกยกเลิก

            2. ค่าส่วนกลางที่อาจต้องเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อสวัสดิภาพในชุมชนก็อาจลดลงหรือไม่ต้องเพิ่ม เพราะเราได้เสียภาษีไปใช้เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว

            3. เผลอ ๆ ภาษีมูลค่าเพิ่มก็อาจไม่ต้องจัดเก็บเพิ่ม เพราะส่วนกลางไม่ต้องมีภาระในการอุดหนุนส่วนท้องถิ่นถึง 90% ของงบประมาณเช่นในปัจจุบัน

อย่ากลัว ยิ่งจ่าย ยิ่งได้

            ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน ถ้าเราเสียภาษีปีละ 0.5% แต่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ก็เท่ากับการยิ่งให้ ยิ่งได้ มีแต่ได้ไม่มีเสีย แต่ถ้าเป็นการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ภาษีนี้จะกระทบทุกฝ่าย

            ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่กระทบต่อวงการพัฒนาที่ดิน ผู้ประกอบการก็กำไรปีละ 20% สุทธิอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งกำไรสูงมาก ราคาค่าก่อสร้างอาคารก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้นเฉพาะใจกลางเมืองหรือบริเวณที่มีรถไฟฟ้า การใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จึงไม่ทำให้นักพัฒนาที่ดิน "ขนหน้าแข้งร่วง" แต่อย่างใด ผู้ซื้อบ้านก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาษีที่จัดเก็บน้อยแต่ได้เพิ่มมูลค่า

            มูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมากกว่าภาษีที่ต้องเสียอยู่แล้ว จะไปกลัวทำไม ประชาชนจึงไม่ควรถูกหลอกให้กลัว เพื่อเตะถ่วงภาษีนี้ หรือทำให้ภาษีนี้เก็บได้เงินเพียงน้อยนิด ไม่คุ้ม แล้วต้องเข็นภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อนกันอีก

อ่าน 3,355 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved