"ขี้ขึ้นสมอง" กับเขื่อน
  AREA แถลง ฉบับที่ 438/2561: วันศุกร์ที่ 07 กันยายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            สิ่งที่มี "คุณอนันต์ (ย่อมมี) โทษมหันต์" เช่น ไฟ ถ้าไม่มีไฟ คนเราย่อมอยู่กันอย่างมนุษย์ถ้ำ ถ้าไม่มีน้ำ ก็คงอดตายไปตามๆ กัน มนุษยชาติจะมีพัฒนาก็ต่อเมื่อรู้จักดัดแปลงธรรมชาติ ไม่ใช่ให้ธรรมชาติเป็นใหญ่ ไม่เช่นนั้นก็คงงมงายเรื่องฟ้าร้องฟ้าแลบว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

            เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เขื่อนดินย่อยส่วน D ของ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย” แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ลาว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทรุดตัวลง ทำให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าว สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มวลน้ำกว่า 5,000 ล้าน ลบ.ม. ไหลทะลักออกไปทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ศพ (อาจมากกว่านี้) มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 6,631 คน จาก 6 หมู่บ้าน (รวมทั้งประชาชนบางส่วนในกัมพูชาอีกด้วย) อย่างไรก็ตาม บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ยืนยันว่าไม่กระทบกับเขื่อนหลัก และไม่มีผลต่อการเริ่มจ่ายไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (https://bit.ly/2LwNWab)

            เหตุการณ์นี้ทำให้พวกกลัวเขื่อนและต้านเขื่อนจน "ขี้ขึ้นสมอง" ออกมาให้ทบทวนการสร้างเขื่อนกันใหญ่ ทั้งที่เขื่อนมีคุณมหันต์ แต่การแตกนั้น อาจเป็นเพราะธรรมชาติผสมกับปัจจัยอื่น เช่น คุณภาพการก่อสร้าง ก่อนหน้านี้เมื่อ 11 กันยายน 2560 เขื่อนน้ำอ้าว ในแขวงเชียงขวาง ที่กำลังก่อสร้างก็พัง ส่งผลให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วม 8 หมู่บ้านในเขตเมืองท่าโทม แขวงไซสมบูน (https://bit.ly/2LLa3J2) นอกจากนี้เมื่อ 16 ธันวาคม 2559 อุโมงไฟฟ้าเขื่อนเซกะมาน 3 กำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ก็แตกหลังก่อสร้างเสร็จในปี 2557 ทำให้น้ำไหลอย่างรุนแรงที่บ้านดายรัง เมืองดากจัง แขวงเซกอง (https://bit.ly/2Lv09fu)

            ในมลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ชื่อ Taum Sauk ซึ่งก่อสร้างเป็นรูปหัวใจ ก็เคยแตกมาครั้งหนึ่ง น้ำไหลทะลักจนป่าไม้โดยรอบพังทลายไปในพริบตา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำพัดพังเสียหาย แต่ในที่สุดก็ได้ก่อสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเก่า (https://bit.ly/2LwAmDx) นี่ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงถูกสาปส่งไปแล้ว แต่ในประเทศตะวันตก เขามุ่งเอาชนะธรรมชาติ

            ลาวมีนโยบายให้ประเทศเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" ทำให้ลาวผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ข้อมูลปี 2560 ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าแล้ว 42 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 90 แห่งในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยลูกค้าหลักก็คือไทยและเวียดนาม และต่อไปจะขายไปถึงสิงคโปร์อีกด้วย (https://bit.ly/2Lv09fu) สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของลาวก็คือกระแสไฟฟ้าซึ่งสูงถึง 19% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2559 (https://bit.ly/2AeZMz0)

            เพราะน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและน้ำไหลทิ้งโดยไร้ประโยชน์ เราจึงควรสร้างเขื่อนให้มาก ๆ แม้บางบริเวณไม่มีภูเขาให้สร้าง ก็ก่อเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เช่นในมลรัฐมิสซูรี ก็มีพวกค้านเขื่อนบางคนบอกว่า ไทยเราจะมีเขื่อนมากๆ ไม่ได้เพราะเดี๋ยวแผ่นดินไหวจะตายกันหมด คงคิดแบบเดียวกับ “พ่อของเด็กชายปลาบู่” ที่เคยทำนายว่าเขื่อนภูมิพลจะแตก แต่ความจริงก็คือแม้ในญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในแนวแผ่นดินไหวใหญ่ของโลก เขาสร้างเขื่อนมากมายถึง 550 แห่ง (https://bit.ly/2NQg3ha

            ผมไปสอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ที่นั่นบนภูเขาก็เต็มไปด้วยเขื่อน นครเซียะเหมินมีภูเขาใหญ่น้อยเต็มไปหมด ถ้าดูจากแผนที่จะพบว่าบนภูเขา เขาได้ทำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไว้เต็มไปหมดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ คนเราต้องดัดแปลงธรรมชาติเพื่อความผาสุกของสังคม การดัดแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ ยิ่งมีเขื่อนมาก ยิ่งทำให้สัตว์ ป่า และคนได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง (https://bit.ly/2K5v4cK)

            ที่ผ่านมามีโปสเตอร์ "โฆษณาชวนเชื่อ" ของพวกเอ็นจีโอต้านเขื่อนบอกว่า "เขื่อนกำลังเอาท์ ไม่มีใครเอาแล้ว" แต่นั่นคือการ "แหกตา" คนไทยโดยแท้  ณ สิ้นปี 2559 มีเขื่อนใหม่อีก 242 กำลังก่อสร้างในสหรัฐอเมริกาด้วยกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3.25 GW เขื่อนที่ทุบทำลายไปเพราะเก่าแล้ว ยังน้อยกว่าเขื่อนที่สร้างขึ้นใหม่ๆ ด้วยซ้ำไป (https://bit.ly/2AfkWOS)

            ในสหรัฐอเมริกายังมีเขื่อนถึง 9,265 แห่งเพื่อการชลประทานและอื่นๆ กล่าวได้ว่าพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกานั้นส่วนใหญ่ได้จากโรงผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมัน-แก๊ส 75% และจากพลังงานปรมาณูอีก 10% ส่วนของไทยนั้นมาจากน้ำมัน-แก๊สถึง 89% และประเทศไทยไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณู ขืนประเทศไทยไม่มีเขื่อนเพิ่มขึ้น ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากทางอื่นที่ยั่งยืน ประเทศไทยอาจยิ่งพึ่งพาต่างชาติมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงควรสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

            เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ "เลี้ยว" กลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในอาฟริกา เอเซียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น "Wrong Message" แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว "This is now. We are back". (https://wapo.st/2AmcjlS)

            สำหรับภาพรวมอันดับประเทศที่มีเขื่อนมากที่สุดได้แก่ จีน 23,841แห่ง สหรัฐอเมริกา 9,265 แห่ง อินเดีย 5,100 แห่ง ญี่ปุ่น 3,118 แห่ง บราซิล 1,364 แห่ง เกาหลีใต้ 1,338 แคนาดา 1,169 อาฟริกาใต้ 1,112 แห่ง สเปน 1,063 แห่ง ฝรั่งเศส 709 แห่ง เยอรมนี 371 หน่วย นอรเวย์ 335 หน่วย สวีเดน 190 แห่ง (https://bit.ly/2KaN59n) ดังนั้นที่ว่ามีการยกเลิกเขื่อนไป 3 แห่งในฝรั่งเศส 2 แห่งในเยอรมนี และ 1 แห่งในญี่ปุ่น จึงถือเอามาเป็นสาระไม่ได้เลย นอกจากจะเป็นการบิดเบือนเพื่อลวงให้คนไม่รู้ร่วมต้านเขื่อนเท่านั้น

            ผมเคยไปประเมินมูลค่าเขื่อน Cirata ให้กับทางการอินโดนีเซีย ปรากฏว่า เขื่อนของเขามีอายุประมาณ 236 ปี หรืออย่างแย่ที่สุดถ้าตะกอนตื้นเขินก็ราว 109 ปี ซึ่งก็ถือว่าเกินคุ้มแล้ว เขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,428 กิกะวัตต์ต่อ ต้นทุนในการก่อสร้างเขื่อนนี้เป็นเงิน 769 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2531 (http://bit.ly/1m9z4x7) เมื่อคิดถึงความคุ้มค่า ก็คงพอ ๆ กับเขื่อนภูมิพลของไทย ที่ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา (2507-2557) ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 27 ล้านคน ผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่าถึง 342,418.46 ล้านบาท หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรรวมมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านบาท ฯลฯ ดังนั้นการสร้างเขื่อนจึงคุ้มค่ามากในระระยาว (http://bit.ly/1MQw3bG)

            เราต้องไม่ให้ใครหลอกให้กลัวการสร้างเขื่อน เขื่อนแห่งแรกในโลกชื่อ Jawa อยู่ในประเทศจอร์แดน มีอายุประมาณ 5,000 ปี เขื่อนโบราณ Sadd-el-Kafara ในยุคอียิปต์ ก็มีอายุ 4,600-4,800 ปีมาแล้ว ในอินเดียก็มีการสร้างเขื่อนมาหลายพันปี สำหรับในประเทศจีน มีเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งคือ "ตูเจียงเยี่ยน" โดยเป็นเขื่อนโบราณอายุราว 2,200 ปี เขื่อนนี้อยู่ในมณฑลเสฉวน เขื่อนนี้ถือเป็นการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก (https://goo.gl/b2UYkL)

            ชาวจีนมีคำพูดว่า "ผู้ใดกำหนดน้ำได้ ผู้นั้นปกครองประเทศได้" แต่สำหรับประเทศไทย กลับมีกระแสที่พยายามไม่ให้ฝืนธรรมชาติ ยอมเป็นทาสธรรมชาติ!?!  เพื่อความเจริญของชาติ ต้องสร้างเขื่อนอีกมากนัก

ภาพเขื่อน Taum Sauk ที่สวยและยิ่งใหญ่ในวันนี้

ที่มาของรูปภาพ: https://bit.ly/2MT2xgX

 

ภาพเขื่อน Taum Sauk ที่เคยแตกเมื่อปี 2548

 

ภาพป้ายเตือนภัย 'เขื่อนแตก' แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเขื่อน Taum Sauk

ที่มาของรูปภาพ: https://bit.ly/2QaZoa0

 

ภาพเขื่อนทั่วญี่ปุ่น ประมาณ 550 แห่ง

 

โรงงานผลิตไฟฟ้าของเขื่อน Cirata จ.ชวาตะวันตก

 

อ่าน 9,478 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved