ธุรกิจไม้ขุดล้อมและการประเมินค่าทรัพย์สิน
  AREA แถลง ฉบับที่ 120/2562: วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            แต่เดิมต้นไม้มักมีมูลค่าซื้อขายกันมากในกรณีไม้ดอก แต่ในปัจจุบันธุรกิจไม้ขุดล้อมมีความเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การปลูกต้นไม้กลายเป็นธุรกิจ และต้นไม้มีมูลค่าที่ชัดเจน

            เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2562 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในนามของประธานก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พาคณะกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เดินทางไปดูงานการขุดล้อมต้นไม้ ณ ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยได้รับการแนะนำจาก อาจารย์พัลลภ กฤตยานวัช อดีตรองประธานมูลนิธิและขณะนี้ยังเป็นที่ปรึกษามูลนิธิ รวมทั้งเป็นประธานคณะทำงานการศึกษาการประเมินค่าต้นไม้ของมูลนิธิในขณะนี้ด้วย ซึ่งคณะทำงานจะได้ทำการศึกษาและจัดพิมพ์บทความ บทวิจัยและตำราด้านการประเมินค่าต้นไม้ต่อไป

            ในการศึกษาครั้งนี้ได้รับความกรุณาจากคุณสายบัว พาศักดิ์ ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านกิจการไม้ขุดล้อม  คุณสมหมาย การสุข ประธานสภา อบต.ชะอม และคุณสมศักดิ์ สอนจันทร์ เลขานุการชมรมไม้ขุดล้อมของตำบลชะอม รวมทั้งเจ้าของรีสอร์ตที่ทางคณะพากันไปพัก ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 9 ในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พาชม "แผง" ขายไม้ขุดล้อม ซึ่งอันที่จริงก็คือสวนหรือพื้นแสดงไม้ขุดล้อมเพื่อการขายนั่นเอง

            ในตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีนี้ เริ่มปลูกไม้ขุดล้อมโดยการริเริ่มของนายมีชัย วีระไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนเมื่อราว 30 ปีก่อน โดยครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 4-5 ครัวเรือนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันในจำนวนครัวเรือน 5,000 ครัวเรือนในตำบลนี้ 90% ทำงานที่เกี่ยวข้องกับไม้ขุดล้อม ตั้งแต่เพาะปลูกเอง ขายอย่างเดียว หรือรับจ้างปลูกหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไม้ขุดล้อม  สำหรับครัวเรือนที่ทำไม้ขุดล้อม เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งประมาณ 10 ไร่ และมี "แผง" หรือร้านขายเองประมาณ 400 แผง โดยในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 10 แผง ที่ล้มเลิกกิจการไปแทบไม่มี  สำหรับค่าแรงขั้นต่ำในตำบลนี้อาจสูงถึง 500 บาทเพราะธุรกิจนี้มีกำไรมากพอสมควร

            ไม้ที่นิยมปลูกค้าต้นคูน อินทนิล เสลา ตะแบก เสม็ดแดง มั่งมี ฯลฯ ชนิดของไม้ที่ขายในตำบลนี้มีนับร้อยชนิด  การทำไม้ขุดล้อม จะปลูกต้นกล้า (โดยมากเพาะจากเมล็ด) ในช่วงปลายฤดูร้อน ในราวเดือนพฤษภาคม และพอฝนเริ่มต้น ไม้ก็จะ "พุ่ง" คือเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่าไม้ที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1,600 ต้น (ซึ่งปลูกในระยะห่าง 1 เมตรต่อต้น) เมื่อผ่านไป 1 ปี ต้นไม้เหล่านี้ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว (วัดจากโคนขึ้นมา 30 เซนติเมตร) ที่อาจเหลือราว 1,400 ต้น (87.5%) ก็จะมีราคาประมาณ 35,000 บาท (บางรายได้ถึง 50,000 บาท) รายได้นี้ดีกว่าการปลูกข้าว มันสัมปะหลัง ข้าวโพดที่มีรายได้ไร่ละประมาณ 8,500-10,000 บาทเสียอีก  ยิ่งถ้าเก็บไว้ 2 ปี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 นิ้ว ก็จะมีรายได้ตกเป็นเงินไร่ละ 55,000 บาท

            สำหรับวิธีขุดล้อม เช่น สำหรับไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3 นิ้ว จะขุดห่างจากรอบลำต้นเพียงแค่หนึ่งฝ่ามือ และขุดลึกลงไปราว 20 เซนติเมตร และนำมาตั้งไว้รอขาย  กระบวนการนี้เรียกว่า Earth-Balling ซึ่งเป็นกระบวนการในการย้ายต้นไม้โดยขุดดินโดยรอบพร้อมรากโดยไม่ให้กระทบระบบราก แต่เก็บรักษาระบบรากแก้วและราวฝอยให้ครบถ้วน (http://bit.do/balling) จากการสังเกตจะพบว่าการขุดดินจะไม่ลึกลงไปมากนัก  แม้เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่อายุ 50 ปี ก็ขุดให้เหลือรากไว้ไม่เกิน 60 เซนติเมตรจากโคนต้นเท่านั้น

            กำไรของการปลูกไม้ขุดล้อมดีกว่าธุรกิจการเกษตรอื่นมาก โดยไม้ขุดล้อมมีต้นทุนในปีแรกประมาณ 10,000 บาทต่อไร่ หากขายได้ 35,000 บาท ก็ได้กำไรถึง 25,000 บาทต่อไร่ หรือกำไร 250%  หากเก็บไม้ไว้ถึง 2 ปี ก็จะได้เงิน 50,000 บาท แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 5,000 บาท รวมต้นทุน 2 ปี เป็นเงิน 15,000 บาท ก็ยังได้กำไรถึง 233%  ส่วนข้าว ข้าวโพดหรือมันสัมปะหลัง มีรายได้ปีละ 8,500 บาท จะมีต้นทุนสูงถึงเกือบ 8,000 บาทในบางกรณี ทำให้ไม่ได้กำไรเท่าที่ควร

            ปกติไม้ที่ขุดล้อมขึ้นมาตั้งไว้ขาย จะสามารถขายได้ในเวลา 3 เดือน โดยต้นหนึ่งอาจซื้อมาในราคา 300 บาท แต่เมื่อเลี้ยงจนแตกยอด (รอดตายแน่แล้ว) ก็อาจขายได้ถึง 1,500 บาท กลุ่มผู้ซื้อก็คือหมู่บ้านจัดสรร โครงการอาคารชุด สนามกอล์ฟ นิคมอุตสาหกรรม สถานีบริการน้ำมัน บ้านคหบดี หรือกระทั่งตลาดไม้ดอกซึ่งจะซื้อไม้ขุดล้อมไปร่วมขายด้วย ฯลฯ  ลูกค้าประจำสำหรับแต่ละร้านจะมีประมาณ 40%-60% แล้วแต่แต่ละร้าน  ในปัจจุบันยังมีบริการขายไปถึงต่างประเทศอีกด้วย

            สำหรับธุรกิจนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ได้แก่

            1. ปลูกไม้อาจตายไปประมาณ 12.5% โดยไร่หนึ่งปลูก 1,600 ต้น อาจตายไป 200 ต้น รอด 87.5%

            2. ซื้อไม้ขุดล้อมมาแล้ว อาจตายได้ประมาณ 10% แต่ก็ยังคุ้มค่าที่จะขายอยู่ดี

            3. อาจมีปัญหาการล้นตลาด เพราะตลาดที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อาจชะลอตัวลงไปตามวัฏจักร

            นอกจากการปลูกและขายไม้ขุดล้อมแล้ว ยังมีการเร่ไปหาซื้อไม้ในพื้นที่อื่นโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะไม้บริเวณหัวไร่ปลายนา ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการให้มีต้นไม้ไว้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการทำนาให้ได้มากที่สุด  โดยราคาต้นไม้ที่ซื้อและขุดมาจากแหล่งอื่นเหล่านี้ แรก ๆ อาจคิดเพียงแค่ว่าจะเผาถ่านได้กี่กระสอบ เป็นเงินเท่าไหร่  แต่เมื่อมีตลาดซื้อขายไม้ตามหัวไร่ปลายนามากขึ้น ก็เริ่มมีราคาตลาดในที่สุด  ทั้งนี้ในการซื้อและขนส่งไม้เหล่านี้ จำเป็นต้องมีสัญญาซื้อขาย โฉนดที่ดินแสดงที่ตั้งของต้นไม้  เพื่อจะไม่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการไปแอบขุดไม้จากในป่า  ซึ่งการขุดไม้ตามป่าเขาทำได้ยาก และต้นทุนสูงเพราะอยู่ตามซอกหินบ้าง หรืออยู่ในป่าลึกบ้าง ทำให้ไม่คุ้มทุนในการทำผิดกฎหมาย

            ตัวอย่างต้นไม้ที่ขายจากการขุดล้อมที่พบใน "แผง" ในพื้นที่คือ

            1. ต้นชุมแสง ซึ่งมีอายุ 50 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว ขายในราคา 60,000 บาท แต่ถ้ารวมค่าขนส่งและปลูกในพื้นที่ใหม่ด้วยจะเป็นเงินประมาณ 80,000 เศษ  ต้นนี้รับซื้อมาในราคาประมาณ 8,000 บาท จากจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเสียค่าขนส่งไป 15,000 บาท  หลังจากซื้อมาได้เก็บไว้จนแจกใบเป็นเวลา 6 เดือนก่อนจะขายได้

            2. ต้นมั่งมี หรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าต้นมั่ง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 นิ้ว ขายในราคา 80,000 บาท ทั้งนี้ยังมีค่าขนส่ง-ยกและนำไปปลูกให้ใหม่อีก 20,000 บาท โดยต้นนี้เก็บไว้ประมาณ 1 ปีจึงมีผู้มาซื้อ โดยมีค่าดูแลประมาณ 5,000 บาทในช่วงที่ผ่านมา  ทั้งนี้ราคาต้นที่ซื้อเป็นเงิน 30,000 บาท และมีค่าขนส่ง 15,000 บาท

            ในกรณี "แผง" รายหนึ่ง มีพื้นที่ 13 ไร่  ในแต่ละปีลงทุนไปราว 4 ล้านบาท มียอดขายได้ 8 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่าย ประมาณ 1 ล้าน มีคนทำงานรวมกันประมาณ 6 คน  ในการขายไม้ ยังมีค่านายหน้าประมาณ 5% ในกรณีขายผ่านนายหน้า  สำหรับสัญญาจะซื้อจะขายมักจะทำไว้ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน  ตลาดไม้ขุดล้อมในตำบลชะอมนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงมีผู้ซื้อเข้ามามากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามเจ้าของ "แผง" กล่าวว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ลดลงไปประมาณ 20%

            สำหรับการประเมินค่าต้นไม้นั้น คงต้องพิจารณาจากราคาตลาดเป็นสำคัญทั้งในกรณีซื้อไม้มาจากที่อื่น และกรณีขายไม้ออกไปจากพื้นที่ตำบลชะอม โดยมูลค่าของไม้ขึ้นอยู่กับ

            1. สกุลของไม้

            2. ขนาดของไม้ (วัดจากเส้นผ่าศูนย์กลาง) และ

            3. รูปทรงสัณฐานของต้นไม้นั้นๆ

            โดยราคาสูงสุดอาจถึงต้นละ 300,000 - 500,000 บาท  สำหรับไม้ที่ขายได้ง่ายจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 นิ้ว โดยมักขายในราคาประมาณ 12,000 บาทต่อต้น ทั้งนี้ไม่รวมค่าขนส่ง  อย่างไรก็ตามมูลค่าของต้นไม้และธุรกิจต้นไม้นี้ยังขึ้นอยู่กับตลาดในอนาคตด้วย  ถ้าเศรษฐกิจ ตลาดเติบโต ก็ทำให้มูลค่าของต้นไม้สูงขึ้นตามลำดับ

 

ที่มาภาพ : https://www.nanagarden.com/Picture/Product/400/237166.jpg

 

 

สัมมนาดูงาน: เคล็ดไม่ลับ การทำธุรกิจไม้ล้อมขาย 
วันพฤหัสบดีที่ 26 - วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2562

อ่าน 38,973 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved