ค่าแรงเพิ่มไม่กระทบราคาบ้าน/อสังหาฯ
  AREA แถลง ฉบับที่ 165/2562: วันอังคารที่ 02 เมษายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าวว่าหากค่าแรงเพิ่มจะเกิดความ "วินาศสันตะโร" ในวงการพัฒนาบ้าน อาคารชุดและอสังหาริมทรัพย์ขาย-ให้เช่า ข้อนี้ไม่เป็นความจริง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และในฐานะที่เป็นกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 325 บาทต่อวันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นอื่น ว่าจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อราคาที่อยู่อาศัย เพราะ:

            1. ปกติค่าแรงขั้นต่ำในวงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ก็มักจ่ายมากกว่า 325 บาทอยู่แล้ว

            2. ค่าแรงมีสัดส่วนเป็นมูลค่าประมาณ 30% ของค่าก่อสร้าง (ค่าแรง 30: ค่าวัสดุ 70) ดังนั้น ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น 10% ก็จะเป็น 33 บาท ส่วนค่าวัสดุไม่ได้เพิ่มขึ้นจึงยังเป็น 70 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงกลายจาก 100 เป็น 103 หรือเพิ่มขึ้น 3.0% เท่านั้น

            3. ปกติมูลค่าของบ้านหลังหนึ่ง เช่น บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ จะมีสัดส่วนของค่าก่อสร้าง และค่าที่ดินเป็น 1:2 รวมเป็น 3 เช่นบ้านราคา 3 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1 ล้าน ค่าที่ดิน 2 ล้านเป็นต้น ดังนั้นหากค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 1.03 ส่วนค่าที่ดินยังเท่าเดิมคือ 2 ก็จะทำให้มูลค่าของบ้านเพิ่มจาก 3 เป็น 3.03 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1% เท่านั้น

            4. สำหรับบ้านในทำเลที่ดี แม้ไม่มีการเพิ่มค่าแรงแต่ก็มีการเพิ่มราคาเพราะมีอุปสงค์มาก ในทางตรงกันข้าม แม้ค่าก่อสร้างขึ้น แต่บังเอิญโครงการนั้นตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่ดี ตั้งราคาไว้สูงเกินจริงแต่แรก หรือขายยากด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ผู้ขายก็ยังยินดีลดราคาลง เพื่อให้ขายได้ ในบางกรณีถึงขนาดต้อง "ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" ก็ยังต้องทำ เป็นต้น

            5. สำหรับในพื้นที่อื่น ค่าแรงก็ขึ้นน้อยหรือแทบไม่ขึ้นด้วยซ้ำไป ยกเว้นที่ชลบุรี ระยองและภูเก็ต ที่ขึ้นจาก 300 บาทเป็น 330 บาท ดังนั้น การขึ้นค่าแรงจึงไม่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม

            เราควรเห็นใจคนจน จะเห็นได้ว่าอภิมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกนี้ มีสินทรัพย์รวม กัน 5,092,319 ล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินไทยที่ 3 ล้านล้านบาทถึง 70% หรือเกือบเท่าตัว  ทรัพย์สินของ 50 อภิมหาเศรษฐีนี้เพิ่มจาก 876,585 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน หรือรวยเพิ่มขึ้น 6 เท่าโดยเฉลี่ย ปีหนึ่งรวยขึ้นประมาณ 19%  สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือว่าทำไมรวยเอาๆ ได้ขนาดนี้  เมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะกรุงเทพมหานคร ครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 17% หรือเพียง 1.6% ต่อปี (https://bit.ly/2foScXj) เท่านั้น ถ้าเป็นตัวเลขทั่วประเทศ คงมีรายได้เพิ่มน้อยกว่านี้  การที่อภิมหาเศรษฐีรวยเร็วขนาดนี้ แสดงถึงอาการ "รวยกระจุก จนกระจาย" อย่างชัดเจน (https://bit.ly/2BSCtuu)

            ดังนั้น ในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ คงไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญใดๆ เลยเพียงเพราะค่าแรงเพิ่มขึ้น 10% และอันที่จริงควรมีการเพิ่มค่าแรงปีละ 5% ด้วยซ้ำไป ที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทเมื่อปี 2554 ก็ไม่ได้ขึ้นอีกเลยจนถึงปี 2561 เป็นเวลา 6 ปี เท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 1.3% โดยเฉลี่ยเท่านั้นในขณะที่ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี และค่าที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครก็เพิ่มขึ้นปีละ 4-5% โดยค่าแรงไม่ได้ขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเลย ส่วนล้ำของมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จึงควรแบ่งให้กับผู้ใช้แรงงานบ้าง แต่ที่ผ่านมาอาจได้กับนายทุนเป็นสำคัญ

 

 

ที่มา: https://www.prachachat.net/property/news-310187​

อ่าน 1,917 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved