ทางออกที่ดินหลีเป๊ะ: เช่าหลวง
  AREA แถลง ฉบับที่ 201/2562: วันพุธที่ 17 เมษายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            หลีเป๊ะวันนี้มีเรื่องเล่าโดยเฉพาะในมุมของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตของเกาะหลีเป๊ะจะเป็นอย่างไร

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้มีโอกาสไปเยือนเกาะหลีเป๊ะ จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเกาะนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมืองมาให้พิจารณาดังนี้:

            เกาะหลีเป๊ะ เป็นหมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ตามข้อมูลของ อบต.เกาะสาหร่าย หมู่ 7 เกาะหลีเป๊ะ บ้านเกาะหลีเป๊ะ-อาดังมีประชากรชาย 489 คน หญิง 487คน รวม 976 คน และมีบ้านเรือนจำนวน 185 หลัง (http://bit.ly/2KIJhSm) ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะมีจำนวนบ้านและอาคารมากมายประกอบกับยังมีประชากรแฝงอีกเป็นจำนวนมาก เพราะมีห้องพักรวมกันถึง 3,000 ห้อง (http://bit.ly/2DeWhsQ) อย่างไรก็ตามยอดจองห้องพักบนเกาะหลีเป๊ะในระยะหลังมาลดลง 20% จากเงินหมุนเวียนปีละ 7,000 ล้านบาท ยกเว้นในช่วงสงกรานต์เท่านั้นที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปมาก ทั้งนี้นักท่องเที่ยวจีนย้ายไปเวียดนามและเมียนมา

            ตามคำบอกเล่าของผู้จัดการชาวฝรั่งเศสในร้านอาหารของโรงแรมแห่งหนึ่งระบุว่า การท่องเที่ยวหลีเป๊ะเพิ่งบูมเมื่อ 5 ปีก่อนนี้ (ตั้งแต่ปี 2558) โดยนักท่องเที่ยวหลักจะมาจากยุโรปตะวันตก สแกนดิเนเวีย และอื่นๆ แต่ชาวรัสเซียมีน้อย ซึ่งหดตัวลงเมื่อราว 3-4 ปีก่อน แต่ในระยะหลังมีนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น ยกเว้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนลดลงเพราะจีนไม่พอใจที่รัฐมนตรีของไทยระบุว่านักท่องเที่ยวจีนทำคนจีนตายเองในกรณีเรือล่มที่เกาะเฮ ใกล้เกาะภูเก็ต

            รายได้ของผู้ทำงานบนเกาะหลีเป๊ะ เช่น "แท็กซี่" หรือจักรยานยนต์ที่มีที่นั่งด้านข้าง ปรากฏว่าในช่วงเทศกาลมีรายได้วันละมากกว่า 2,000 บาท แต่ถ้าในยามปกติก็จะมีรายได้ไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนเรือหางยาวที่พานักท่องเที่ยวไปดำน้ำตื้นตามเกาะรอบๆ เกาะหลีเป๊ะ ก็มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000 - 40,000 บาท อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายก็สูง เช่น ค่าน้ำประปา หน่วยละ 200 บาท ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 25 บาท

            สำหรับราคาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ตรงที่เป็นถนนคนเดิน ปรากฏว่า ราคาสูงสุดที่พบมีราคาสูงถึง 500,000 บาทต่อตารางวา  มีทีดินอีกแปลงใกล้ชายหาดพระอาทิตย์ตก มีขนาด 16 ไร่ เสนอขายไร่ละ 25 ล้านบาท (ตารางวาละ 62,500 บาท) รวม 400 ล้านบาท ชาวบ้านบอกว่า "เจ้าสัว" รายหนึ่งที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่ถึงปี เคยมาดู 3 ครั้งแล้ว และกำลังจะซื้อ แต่บังเอิญเสียชีวิตไปก่อน

            ที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล เตือนนักลงทุนอย่าหลงเชื่อซื้อ-ขายที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะบนสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากหลายพื้นที่มีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินอยู่. . .ความคืบหน้าการดำเนินคดีบุกรุกผืนป่าในพื้นที่หมู่เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งคดีได้ถึงที่สุดในชั้นศาลจำนวน 6 คดี และยังต่อสู้ในชั้นศาลอีก 45 คดี . . .ขณะนี้พบกลุ่มบุคคลได้ลงประกาศซื้อขายที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาตามเว็บไซต์และสื่อต่างๆ ขอให้ผู้ที่สนใจที่ดินทำเลทองบนเกาะหลีเป๊ะตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ชัดเจน ก่อนจะมีการซื้อขายและหากยังไม่แน่ใจให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีข้อพิพาทกับทางอุทยานฯ หรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาแอบอ้างขายได้ (http://bit.ly/2Gqjlqu)

            ยิ่งในกรณีที่ดินแถวถนนคนเดินมีการแบ่งซอยที่ดินเป็นแปลงมากมาย แต่ละแปลงมีอาคารและให้เช่ากันในราคาตารางวาละ 1,000 บาท อย่างไรก็ตามการเช่ามักจะเช่าเป็นรายปี เพราะการค้าขายสามารถขายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปี ในฤดูตกต่ำของการท่องเที่ยว ร้านค้าจำนวนมาก็จะปิด นักท่องเที่ยวน้อย ทำให้ไม่สามารถ ขายสินค้าได้ การเช่าจึงเป็นการเหมารายปีแทนที่จะเป็นรายเดือน

            ทางออกของการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือควรมีการสำรวจการใช้ที่ดินให้ชัดเจน และกำหนดให้เจ้าของที่ดิน ยกเว้นชาวเลที่อยู่ดั้งเดิมและใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรมจริง ต้องเช่าที่ดินจากทางราชการ โดยให้จ่ายค่าเช่าตั้งแต่ร้านค้าตามถนนคนเดิน หรือโรงแรมต่างๆ เพื่อนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่นและปรับปรุงการท่องเที่ยว ถ้ารายไหนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ ก็ให้หาผู้ค้ารายอื่นมาดำเนินการแทน

            ช่วยกันคิดเพื่อการพัฒนาเกาะหลีเป๊ะอย่างยั่งยืน

ถนนคนเดินหลีเป๊ะ ที่ดิน 5 แสน/ตรว. https://bit.ly/2VLwr6V
อ่าน 2,511 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved