ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
กรณีสถานีรถไฟความเร็วปานกลางฉะเชิงเทรา ต้องสร้างสถานีใหม่เพราะเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง เป็นสิ่งที่ “ไร้เหตุผลสิ้นดี” เพราะในญี่ปุ่น เขาทำให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งโค้งเข้าเมืองได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ชี้ให้เห็นว่า แนวรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางของไทยสามารถเลี้ยวโค้งได้ โดยดูจากประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่เขาพัฒนา “ชินกันเซ็น” ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง (มาก) ก็ยังสามารถเลี้ยวโค้งตอนเข้าเมืองเลย และยังสามารถตีโค้งไปมา ทะลุระหว่างภูเขา โดยไม่ต้องสร้างเป็นเส้นตรงก็ได้
1. ในกรณีนครเซ็นไดหรือนครอีกหลายแห่ง ปรากฏว่ารถไฟชินกันเซ็น Tohoku (https://bit.ly/2Epy7g0) ซึ่งวิ่งด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถเลี้ยวเข้าใจกลางเมืองโดยไม่ต้องไปสร้างสถานีใหม่นอกเมืองเหมือนที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะในระหว่างเข้าเมือง รถจะวิ่งด้วยความเร็วต่ำอยู่แล้ว
ดูกันชัดๆ ชินกันเซ็น (ทางรถไฟยกระดับอันบนสุด) สายนี้ที่ปกติมีความเร็ว 300 กม./ชม. แต่ตอนวิ่งเข้าเมืองเซ็นได กลับโค้งอ้อมตึกเข้าสู่สถานีใจกลางเมืองโดยไม่ต้องไปสร้างสถานีใหม่
2. ชินกันเซ็นสาย Yamakata ที่ใช้ความเร็วปานกลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (https://bit.ly/2YP4koJ: ที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่าสายอื่นเพราะเป็นสายระยะสั้น) เป็นสายที่มีความโค้งไปมามากเป็นพิเศษ ก็ยังสามารถดำเนินการในความเร็วระดับนี้ได้ (โปรดดูภาพ)
ยิ่งกว่านั้นรถไฟฟ้าชินกันเซ็นสาย Sanyo (https://bit.ly/2HButBL) ก็วิ่งด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะเป็นเส้นทางโค้งไปมาก็ตาม แสดงว่ารถไฟ้าความเร็วสูงไม่จำเป็นต้องใช้ทางตัดตรงเสมอไปตามที่คนไทยเข้าใจ
ที่มาของรูปภาพ https://bit.ly/2HButBL
3. รถไฟความเร็วสูงที่ผ่านแทบทุกเมืองจะใช้สถานีเดียวกับสถานีในปัจจุบันที่เป็นรถไฟความเร็วต่ำหรือความเร็วปานกลาง จะไม่สร้างสถานีใหม่ เช่นในกรณีฉะเชิงเทรา และจะไม่กันแนวเขตแยกเมืองออกเป็น 2 ส่วนอย่างกรณีผ่านเมืองบ้านโป่ง ราชบุรี และอื่นๆ แต่จะสร้างเป็นทางยกระดับขึ้นแทน จะได้ไม่เป็นปัญหาในระยะยาวแก่ประชาชนที่ต้องไปต่อรถระหว่างสถานี ทางแก้ที่ไม่เหมาะสมในกรณีประเทศไทยก็คือการสร้างที่กลับรถเกือกม้าในเมือง หรือสร้างอุโมงค์เป็น “รู” เล็กๆ ให้ประชาชนสัญจรใต้ทางรถไฟที่วางอยู่บนพื้นดิน
จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นนี้ จึงชี้ให้เห็นว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยการเวนคืนที่ดินสร้างสถานีและเส้นทางใหม่เช่นที่จะเกิดขึ้นในกรณีฉะเชิงเทราหรือเมืองอื่นในอนาคตนั้น เป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวนั่นเอง รถไฟเชื่อม 3 สนามบินของไทยที่วิ่งด้วยความเร็ว 160-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (https://bit.ly/2qQEzVG) จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างสถานีใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณแต่อย่างใด
ที่มาของรูป: http://www.thansettakij.com/content/287269
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน