อัลกอร์โกหกเรื่องโลกร้อน?
  AREA แถลง ฉบับที่ 310/2562: วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            บทความของผมนี้ผมเขียนขึ้นเมื่อปี 2550 หรือเมื่อ 12 ปีก่อนแล้ว (shorturl.at/twzV8) แต่ขณะนี้มีการ “ปลุกระดม” เรื่องโลกร้อนอีก ผมจึงขออนุญาตนำมาเสนออีกครั้ง

         โลกร้อนขึ้นคงไม่มีใครสงสัย การรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ดี แต่การรณรงค์เรื่องโลกร้อนทำให้ใครได้ ใครเสียประโยชน์ ประเด็นนี้เป็นกรณีศึกษาของการโฆษณาชวนเชื่อในการทำให้ประชาชนมืดบอดหรือไม่ และถือเป็น “เครื่องมือทำมาหากิน” สำหรับใครบางคนหรือไม่

          ทุกวันนี้ แทบทุกคนคงได้ยินเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และเชื่อว่าทุกคนที่ได้ฟังคงชักห่วงใยต่อโลกในประเด็นนี้เช่นกัน แต่เมื่อนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการรณรงค์เรื่องโลกร้อน ผมกลับเริ่มสงสัยว่าสันติภาพไม่น่าจะเกี่ยวกับโลกร้อนโดยตรง ที่ผ่านมาคนอื่นที่โด่งดังเช่นท่าน ติช นัท ฮันห์  ผู้นำพระสงฆ์ในสมัยสงครามเวียดนาม ก็ยังพลาดรางวัลนี้มาแล้ว ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้คนมักเชื่อไปในแนวทางเดียวกันโดยไม่มีโอกาสไตร่ตรองด้วยเหตุผล ผมจึงขอเสนอบทความนี้เพื่อต่อกรกับการครอบงำ และการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

 

An Inconvenient Truth: เท็จหลายเรื่อง

          ท่านที่อ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth (AIT)  “คงรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่งว่า อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน . . . คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก หากจะเรียกขบวนการดังกล่าวว่าเป็นภารกิจกู้โลก เพราะวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และกำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลเกินจินตนาการ” วลีที่อ้างถึงนี้สะท้อน “อารมณ์” ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม AIT เป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และยังแสดงข้อมูลที่เป็นเท็จหลายเรื่อง  ซึ่งสังคมมักไม่มีโอกาสรับรู้ เช่น:

          1. การมองด้านเดียว: AIT ไม่เคยมองถึงบทบาทที่จำเป็นของน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน (Hydrocarbon) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน ช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากร ฯลฯ AIT ละเลยอัตราการตายที่สูงขึ้นในยามที่โลกเย็นลงในอดีตที่ผ่านมา

          2. ความเข้าใจผิด: สาเหตุหลักของการตายของมนุษย์ปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพราะภัยธรรมชาติ คล้ายกับการตื่นกลัวไข้หวัดนกจนเกินเหตุทั้งที่โรคปอดบวมทำคนไทยตายมากมาย โดยในปี 2550 ไม่พบคนป่วยและตายด้วยไข้หวัดนกในประเทศไทย แต่คนไทยป่วยด้วยโรคปอดบวมจนต้องนอนโรงพยาบาลถึง 88,841 ราย และตาย 765 รายในปี 2549 นอกจากนี้ AIT ยังอ้างทำนองว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับตน แต่ความจริงเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงข้ามกับ AIT

          3. การพูด “ใส่ไข่” จับเอาปรากฏการณ์ครั้งคราวมาเป็นสรณะ: การอ้างว่าหมีขั้วโลกจมน้ำตายเพราะน้ำแข็งละลายทั้งที่เป็นเพราะพายุ การกล่าวถึงฝนตกหนักถึง 37 นิ้วในนครมุมไบในปี 2548 ทั้งที่ตลอด 45 ปี ไม่พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเลย การโยงเรื่องโลกร้อนกับอุทกภัยในจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งที่ใน 1-2 ศตวรรษก่อนมีอุทกภัยที่รุนแรงยิ่งกว่านี้มากมาย การโทษว่าโลกร้อนทำให้แนวปะการังเสียหายทั้งที่เป็นเพราะปัจจัยทางเฉพาะภูมิภาค ปัจจัยทางสังคมและอื่น ๆ การกล่าวว่าธารน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์จะเลื่อนลงสู่ทะเลทั้งที่ตั้งอยู่ในแอ่งที่ไม่มีทางออก

          4. การพูดผิดความจริง เช่น การอ้างว่าโลกร้อนในอดีตเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งที่มีระยะเวลานับร้อยปีในอดีตที่เคยร้อนกว่าปัจจุบัน จนทำให้ครั้งหนึ่งชาวไวกิ้งสามารถไปตั้งถิ่นฐานในเกาะกรีนแลนด์ที่หนาวเย็นในขณะนี้ได้ การอ้างว่าโลกร้อนขึ้นมากทั้งที่เพิ่มเพียง 0.17 องศาเซลเซียสในรอบ 30 ปีล่าสุด และร้อนขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในรอบ 100 ปี และที่ผ่านมาก็มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ การอ้างว่าคลื่นร้อนยุโรปที่ทำให้คนตายมากมายเป็นผลจากโลกร้อนทั้งที่เป็นเพราะสาเหตุอื่น

          ในประเทศอังกฤษ มีการฟ้องศาลให้ห้ามฉาย AIT ในโรงเรียนมัธยม ศาลเห็นว่า AIT มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดไปถึง 9 ประการ แต่ให้ฉายได้โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ครูที่จัดฉายต้องชี้ให้นักเรียนเข้าใจถึงข้อผิดพลาดของ AIT ด้วย  แต่ในประเทศไทย เรากลับปล่อยให้ฉายหลอกลวงประชาชนอย่างหน้าตาเฉย ตัวอย่างความผิดพลาดสำคัญ ได้แก่ การกล่าวว่าหิมะบนยอดเขาคิลิมันจาโรซึ่งสูงถึง 6 กิโลเมตร ละลายเพราะภาวะโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง สาเหตุการละลายคงเป็นเพราะแสงอาทิตย์ การใช้ที่ดินโดยรอบตลอดจนความร้อนใต้พิภพหรืออื่น ๆ เพราะหากแม้ผิวโลกจะร้อนขึ้น อุณหภูมิบนยอดเขาก็ยังต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอยู่ดี

 

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง

          กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 19,000 คนได้ร่วมกันลงชื่อใน The Petition Project  ว่า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าการใช้ Hydrocarbon เพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด แม้โลกได้ร้อนขึ้นเล็กน้อย ก็ไม่ได้มีผลเสียหายร้ายแรง (อาจมีไวรัสบางชนิดเกิดขึ้น แต่ในช่วงโลกเย็นก็อาจเกิดโรคอื่น) แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในเขตอบอุ่น การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นผลดีต่อชีวิตสัตว์และทำให้การเพาะปลูกพืชผลได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงหนุนให้สหรัฐอเมริกาไม่ลงนามในพิธีสารเกียวโต ซึ่งได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคี

          บทวิพากษ์ของ The Petition Project ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า

          1. การกลับหนาว-ร้อนของโลกมีลักษณะที่เป็นวัฏจักร ไม่ใช่มีแต่ร้อนขึ้นอย่างเดียว ที่ผ่านมามียุคน้ำท่วมโลก และยุคน้ำแข็งสลับกันมาหลายครั้งแล้ว

          2. ธารน้ำแข็งเริ่มละลายมานานก่อนการใช้ Hydrocarbon เสียอีก และละลายเร็วในอัตราเดียวกันมาตลอด 150 ปีแล้ว

          3. อากาศที่ร้อนขึ้นเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ภาวะเรือนกระจกอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีสาเหตุอื่นอีกมาก เช่น แสงแดด เมฆ ความชื้น การเปลี่ยนแปลงของผิวน้ำในมหาสมุทร ความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ

          4. พายุทอร์นาโดมีแนวโน้มลดลง ส่วนพายุเฮอริเคนจากมหาสมุทรแอตแลนติก ก็มีแนวโน้มคงที่ พายุขนาดใหญ่ เช่น Katrina  ในปี 2548 อาจเกิดได้เป็นครั้งคราว เราจึงไม่ควรถือเอาปรากฏการณ์ชั่วคราว มาทึกทักปะติดปะต่อกับภาวะโลกร้อน

          5. ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 7 นิ้วในรอบศตวรรษแต่เพิ่มมาก่อนยุคที่ใช้ Hydrocarbon ด้วยซ้ำไป     

          6. ป่าไม้ (ไม่ใช่สวนป่า) ในสหรัฐอเมริกาได้รับการปลูกเพิ่มขึ้น 40% ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปลูกป่าก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญนัก

 

อย่าให้ใครลวงให้ตื่นตูม

          มีอยู่ภาพหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพทะเลสาบ Aral Sea ในคาซัคสถาน  ซึ่งแต่เดิมมีขนาดใหญ่มาก แต่กลับแห้งไป มีเรือจอดอยู่บนพื้นคล้ายทะเลทราย ภาพดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ห่วงใยโลกเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นภาพแห่งการโกหกอย่างร้ายกาจ เพราะการเหือดหายไปของทะเลสาบนี้ เป็นผลมาจากการสูบน้ำและเป็นที่คาดหมายมานานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนแม้แต่น้อย

 

ที่มา: http://unimaps.com/aral-sea/aral-pic.gif

 

          ถ้าวันนี้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ ระดับเดียวกับ “กรากะตัว” ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2426 เราคงลืมเรื่องโรคร้อนในบัดดล และนึกว่าโลกต้องแตกแน่แล้ว เพราะ “แรงระเบิดนั้นคร่าชีวิตทุกคนที่ยังอยู่บนเกาะ พื้นที่ร้อยละ 65.52 ของเกาะกลายเป็นเถ้าธุลีลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร ในรัศมี 240 กิโลเมตร เถ้าธุลีบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดคล้ายตอนกลางคืน . . . อยู่ห่างถึง 4,776 กิโลเมตรก็ได้ยิน (เสียงระเบิด) . . . เกิดคลื่นสึนามิ สูงกว่า 30 เมตร . . . แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตรวจจับได้แม้แต่ที่สหราชอาณาจักร (อากาศยังเย็นลง 1.2 องศาทั่วโลกเป็นเวลาถึง 5 ปี)”

          ท่านทราบหรือไม่ว่าแรงระเบิดของภูเขาไฟที่ร้ายแรงที่สุดก็คือภูเขาไฟ Tambora ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2358 ในครั้งนั้นประมาณกันว่ามีขนาดเท่ากับระเบิดปรมาณู 60,000 ลูกรวมกัน ทำให้ท้องฟ้ามืดมิด ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถึงอังกฤษ  แต่โลกเราก็รอดมาแล้ว และกลายเป็นปรากฎการณ์ที่คนส่วนใหญ่ลืมไปหมดแล้วในเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรปริวิตกกับปรากฏการณ์ชั่วคราวจนเกินเหตุ

 

กรณีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในไทย

          หลายคนเน้นใช้ความรู้สึกมาบอกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ รุนแรงขึ้น แต่ความจริงก็คือ พายุหมุนเขตร้อนที่เข้ามาในประเทศไทยมีปริมาณลดลงตลอดในช่วงปี 2494-2549 รวมทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง พ.ศ.2539-2549 ก็ไม่แตกต่างกันเลย  ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยกลับลดลงนับแต่ปี 2483 ที่สำรวจ  ความรู้สึกที่ไม่อิงข้อมูล มักทำให้คิดตรงข้ามกับความจริง และมักจะรีบเชื่อเมื่อมีผู้ทำให้ตกใจ

 

 

            ส่วนที่เห็นน้ำท่วมโบสถ์วัดขุนสมุทรนั้นคงเป็นเพราะการทรุดตัวของดินจากผลของการสูบน้ำบาดาลเกินขนาด การทำลายป่าชายเลน การพังทลายของตลิ่งและอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาโดยตลอด ไม่ใช่เพราะภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด เป็นธรรมชาติรอบอ่าวไทย ที่บางส่วนของพื้นที่อาจถูกกัดเซาะ บางบริเวณก็กำลังเกิดที่งอก ในสมัยโบราณ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่เดิมเป็นทะเลทั้งหมด ทุกวันนี้ใต้ท้องนาในจังหวัดอยุธยา ยังขุดทรายมาขายกันได้เป็นล่ำเป็นสัน วัดเจดีย์หอยที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ก็ยังพบเปลือกหอยทะเลมากมาย แค่น้ำทะเลกัดเซาะวัดขุนสมุทรและบริเวณใกล้เคียงเพียงเท่านี้ ยังเทียบอะไรไม่ได้กับการเกิดภาคกลางของประเทศไทยแต่อย่างใด

 

 

            ในประเทศไทยของเรา การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา และเอ็นโซ ตามกระแสน้ำอุ่น  แต่กลับมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อนเป็นสำคัญ

 

สิ่งที่ต้องคิดทบทวน

          โปรดอย่าไพล่เข้าใจผิดว่า เราไม่ควรใส่ใจกับเรื่องโลกร้อนและพาลเข้าใจว่า เราละเลยการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน บทความนี้เพียงมุ่งตรวจสอบการโฆษณาชวนเชื่อที่ขาดจรรยาบรรณ ทำให้สังคมขาดความรอบรู้และเกิดการคิดอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เราควรมีเวทีการถกเถียงเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้าง เป็นการส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมที่สักแต่เชื่อกันด้วยศรัทธาอย่างมืดบอดอันถือเป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปัญญา-ความรู้ของประชาชนในระยะยาว

          การใช้อวิชชาหลอกล่อให้คนเชื่อ เป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประหนึ่งเห็นชาวบ้านเป็นวัวควายที่อธิบายกันดีๆ ไม่ได้ ต้องหลอกล่อด้วยความกลัวถึงผลร้ายของภาวะโลกร้อนจนเกินจริง และด้วยการใช้ความน่ารัก-น่าสงสารของคน สัตว์และสิ่งของเพื่อให้คล้อยตาม โปรดสังเกตว่า “หมัดเด็ด” ในการปิดปากผู้สงสัยเรื่องโลกร้อนก็คือการป้ายสีพวกเขาว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อโลก เราจึงควรมีการวินิจฉัยด้วยตนเองให้ชัดเจนตามหลักธรรมกาลมสูตร ก่อนที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ

          ผู้ที่กล้าพูดความจริงบางส่วนเพื่อเอาประโยชน์ใส่ตนนับเป็นผู้ที่น่ากลัว สังคมพึงทราบว่าบ้านของนายอัล กอร์เองกลับใช้ไฟฟ้ามากกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 20 เท่า ใช้เงินค่าไฟฟ้าและแก๊สรวมกันปีละเกินกว่า 1 ล้านบาท คนทำดีพูดดีเรื่องโลกร้อนอาจสั่งสมบารมีจนได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา บางคนได้อาชีพเป็นนักอนุรักษ์ นักประท้วง นักแบกป้ายเพื่อ “กู้โลก” หาเลี้ยงชีพไปได้ชั่วชีวิต เป็นต้น

          การบิดเบือนความจริงเคยส่งผลเสียหายมากมายมาแล้ว เช่น การที่ NGO บางแห่งเคยให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่างร้ายแรงว่า ประเทศไทยมีโสเภณี 2 ล้านคน ทำให้พจนานุกรมลองแมน เคยให้คำจำกัดความของกรุงเทพมหานครว่าเป็นนครแห่งโสเภณีในปี 2536 จะสังเกตได้ว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมมักพยายามโฆษณาว่าปัญหาที่ตนเกี่ยวข้องอยู่มีขนาดใหญ่ ด้วยหวังให้สังคมให้ความสนใจ แต่น่าเสียดายที่ทุกคนก็ใช้วิธีเดียวกันจนเฝือ สังคมเลย “มึน” และกลับคิดว่าปัญหาทั้งหลายนั้นสุดแก้ไข กลายเป็นปัญหาโลกแตกไป

          ทางออกสุดเท่ห์ของการแก้โลกร้อนก็คือการปลูกป่า (ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำดีที่นำสมัยและมีระดับ ไม่ใช่พื้น ๆ แบบการบริจาคให้มูลนิธิการกุศล) โดยไม่นำพาว่าจะรณรงค์ปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง ปีหนึ่ง ๆ ป่าไม้ไทยถูกทำลายไปมหาศาลกว่าป่าที่ปลูกใหม่ ต้นไม้ที่ปลูกอย่างลูบหน้าปะจมูกนี้ก็คงตายไปมากกว่าจะอยู่รอดได้ บาปของแฟชั่นการปลูกป่านี้ก็คือการช่วยบิดเบือน ปกปิดไม่ให้อาชญากรรมทำลายป่าได้รับการตระหนักโดยสังคมส่วนรวม

          การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังอาจถือเป็นการเบี่ยงประเด็นสาระสำคัญของปัญหาในโลกนี้ อันได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บที่เผชิญอยู่ทุกวัน การกดขี่เอารัดเอาเปรียบต่อผู้ด้อยโอกาส สงครามและการก่อการร้าย อำนาจเผด็จการที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาธิปไตย ตลอดจนการปล้นสดมภ์ของประเทศมหาอำนาจต่อประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น บางทีถ้าเราเอาเงินรณรงค์เรื่องโลกร้อนไปช่วยคนทุกข์ยากทางอื่น ยังอาจได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่านี้

 

          บางที “นักบุญ” ที่พูดกับท่านถึงภาวะโลกร้อนนั้น แท้จริงอาจเป็น “ซาตาน” ผู้ก่ออาชญากรรม ตักตวงประโยชน์ทางการเมือง ฉกฉวยหาประโยชน์เฉพาะตน คนที่กล้า “แหกตา” พวกเราถึงเพียงนี้ น่าจะเป็นบุคคลอันตราย เราควรรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน แต่เราก็ควรส่งเสริมการระดมความคิด ถกเถียงค้นคว้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และมีสติ และต่อต้านความงมงายอย่างมืดบอดในทุกรูปแบบ ประเทศชาติจึงจะเจริญด้วยสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง

อ่าน 6,906 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved