ภัยโลกาวินาศกับอสังหาริมทรัพย์
  AREA แถลง ฉบับที่ 329/2562: วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มีคำถามน่าคิดว่า ที่ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มีแผ่นดินไหว พายุ และสึนามิขั้นรุนแรง แต่ทำไมพวกเขาไม่ย้ายไปอยู่ที่อื่น ทำไมไทยจึงไม่ใช่ที่หมายของการย้ายถิ่นของผู้เกษียณอายุชาวญี่ปุ่น ทำไมฮิโรชิมาที่ถูกระเบิดปรมาณูจึงยังมีคนย้ายกลับไปอยู่ แล้วพื้นที่ถูกรังสีอย่างเชอร์โนบิล และฟูกูชิมะล่ะ เป็นอย่างไร  ทำไมพื้นที่เกิดสึนามิเช่นอาเจ๊ะ และพื้นที่ถูกพายุไห่เยี่ยนพัดถล่มเช่นตักโลบัน ที่มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นนับแสน จึงยังมีคนย้ายกลับไปอยู่

            พอดีในเดือนพฤษภาคมนี้ ผมเดินทางไปทั้งฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและรัสเซีย ในขณะที่ท่านอ่านบทความนี้ ผมก็มาอยู่มอสโกหลายวันแล้ว  ที่ฟิลิปปินส์ ณ นครตักโลบัน ผมไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินหลังพายุไห่เยี่ยน (โยลันดา) เมื่อปี 2556  ที่ญี่ปุ่น ณ จังหวัดฟูกูชิมะและใกล้เคียง ผมไปศึกษาเรื่องราคาที่ดินหลังแผ่นดินไหวและสึนามิ ปี 2554 โดยในวันแผ่นดินไหว ผมเพิ่งกลับมาจากกรุงโตเกียวได้เพียงวันเดียว

            เมื่อปีที่แล้ว ผมก็ไปนครเชอร์โนบิล ในยูเครน อดีตสหภาพโซเวียตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในปี 2529  ส่วนปี 2560 ผมก็ไปศึกษาเรื่องราคาที่ดินหลังสึนามิที่นครอาเจ๊ะบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราวสองแสนคนในปี 2547 และเมื่อปีที่แล้ว ผมก็ไปกรุงกาฐมาณฑุเพื่อประเมินมูลค่าและตลาดที่อยู่อาศัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 ตอนแผ่นดินไหว ผมกลับมาก่อนเพียง 3 วัน

            การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในด้านตลาด ราคา และการพยากรณ์แนวโน้มและทิศทางในอนาคต  บทความนี้จึงขอใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาทั้งปริญญาโท ปริญญาเอก และการอบรมพิเศษในด้านการตั้งถิ่นฐานมนุษย์จาก AIT และ KU Leuven มาวิเคราะห์ให้ชัดเจนเพื่อให้เห็นถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรณีต่างๆ และที่สำคัญ เราจะสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตสวนกระแสภัยธรรมชาติได้อย่างไร

            สิ่งสำคัญ เราต้องตั้งหลักด้วยสติก่อนว่า สิ่งที่เราเสพจากข่าวมักได้รับการใส่ไข่เกินจริง เช่น

            1. กรณีแผ่นดินไหวที่เนปาล เราคงคิดว่าบ้านเรือนราบพนาสูรไปหมดแล้ว แต่ความจริงบ้านที่พังไปเป็นบ้านเก่าๆ ที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน  โครงการอาคารชุดที่พังไปมีแห่งเดียว ที่ขออนุญาตสร้าง 14 ชั้น แต่สร้างจริง 18 ชั้นนั่นเอง

            2. แม้รังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะจะยังอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 50 ปี แต่พื้นที่เปื้อนรังสีก็หดลงไปเรื่อยๆ ที่รังสียังคงเข้มข้นก็เพราะปริมาณสารกัมมันตรังสีมีปริมาณมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเสียอีก

            3. อาคารบ้านเรือนที่ก่อสร้างตามมาตรฐานทั่วไปทั้งใหม่และเก่าในนครตักโลบันยังอยู่กันครบ ที่พังราบตามภาพข่าวคือแถวบ้านสลัมที่ไม่แข็งแรง เมื่อต้นปีนี้ยังมีแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ อาคารทั้งหลายก็ยังอยู่ดี

            4. ที่เชอร์โนบิลที่โดนรังสีหนักมาก ขณะนั้นผมเรียนอยู่ที่ KU Leuven เบลเยียม ละอองรังสีก็พัดมาบ้างแต่น้อยกว่าทางยุโรปเหนือ แต่ปรากฏว่าหลายปีมานี้ เชอร์โนบิล กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงรังสีที่ผมก็ไปเยือนมาแล้ว

 

            ในโลกนี้ภัยธรรมชาติที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถกลับไปตั้งถิ่นฐานได้อีกมีน้อยมาก เท่าที่นึกออก ก็คือเมืองปอมเปอีในอิตาลี ที่เถ้าถ่านและลาวาทับถมเมืองจมหายไปเลย  แต่ขนาดภูเขาไฟกรากะตัวระเบิดครั้งใหญ่เมื่อร้อยปีเศษ กระทั่งเกิดสึนามิและท้องฟ้าแถวกรุงจาการ์ตามืดไป 3 เดือนและเสียงระเบิดดังไกลมาถึงกรุงเทพมหานคร ผู้คนก็กลับไปอยู่กันใหม่ในเวลาไม่ช้าไม่นาน

            เราอาจเสียทรัพย์ได้ หากเราตกใจจนเกินเหตุ เช่น กรณีแผ่นดินไหวบ่อยครั้งที่เชียงราย หรือน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร  บางคนที่ตกใจจนเกินเหตุ อาจขายทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ไปในราคาถูก เสียรู้คนซื้อไปได้  กลายเป็น “ผีซ้ำด้ามพลอย” ไปเสียนี่ ในทางตรงกันข้ามเราอาจช้อนซื้อทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าท้องตลาดได้  ยิ่งในระยะหลังมามีพวกนักวิทยาศาสตร์กำมะลอออกมาโพนทะนาข่าวเท็จที่ว่ากรุงเทพมหานครจะจมลง คงยิ่งทำให้คนตกใจหนักเข้าไปอีก

            เรื่องโลกาวินาศสันตะโรเป็นสิ่งที่เราคงไม่ได้เห็นในชั่วอายุเรา หรือชั่วกัปชั่วกัลป์แน่นอน  ธรรมชาติของคนเราจึงมักไม่ห่วงเรื่องนี้นัก แต่มักห่วงเรื่องความปลอดภัยจากน้ำมือมนุษย์กันมากกว่า  นี่คือสาเหตุที่ผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นคงไม่ค่อยย้ายมาไทย เพราะคุณภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นมาก แม้ค่าครองชีพจะถูกกว่า ภัยธรรมชาติน้อย แต่เทียบแล้ว อยู่และตายอยู่ในญี่ปุ่นคุ้มกว่า

            แต่คนพอมีฐานะในญี่ปุ่น ก็ชอบไปซื้อบ้านหรือเกษียณอายุที่ฮาวาย หรือสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะแถบชายฝั่งตะวันตก หรืออาจจะเป็นออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  นอกจากนั้นยังชอบไปอยู่ในไต้หวันที่เคยเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น  แต่ไม่ชอบอยู่เกาหลีเพราะเคยมีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์  หลายท่านอาจงงที่จะทราบว่าญี่ปุ่นก็พิสมัยเวียดนามเป็นฐานดูแลผู้สูงวัยเพราะวัฒนธรรมแบบเอเชียตะวันออกเหมือนกัน และที่สำคัญ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็สูง ไม่มียาบ้าเกลื่อนเมืองเช่นไทยในยุคนี้

            การเลือกถิ่นฐานมนุษย์เกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  สำหรับประชาชนทั่วไป หลังเกิดภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วมใหญ่สูง 2 เมตรนาน 3 เดือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชาวบ้านในเมืองเอก นวนครก็ทยอยย้ายกลับจนเป็นปกติสุขในเวลาไม่ช้าไม่นาน  ต่างจากคนรวยๆ ในหมู่บ้านหรูๆ ย่านรังสิตที่หลายรายย้ายออกไปบางนาหรือที่อื่นที่น้ำไม่ท่วมแทน ปล่อยให้บ้านหรูของตนเป็นบ้านสี “ทูโทน” เพราะคราบน้ำยังอยู่นั่นเอง  อาชีพ “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ซื้อบ้านเก่าทรุดโทรมจากน้ำท่วมในราคาถูก มาปรับปรุงขายต่ออาจเป็นลู่ทางธุรกิจที่น่าสนใจ

            ทุกวันนี้ที่กรุงโตเกียวมีแผ่นดินไหวเดือนละครั้งสองครั้ง เขาก็ชินแล้ว ในไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เช่นที่เคยเกิดขึ้นที่นครโกเบ เขาก็ไม่หวั่น  จนชาวญี่ปุ่นมีคติว่า “ภัยร้ายจะกลับมาเมื่อเราลืม” พวกเราจึงพยายามระวังตัว  ชาวบ้านในฟิลิปปินส์ก็เผชิญพายุปีละหลายลูก เวียดนามก็อพยพคนนับแสนๆ หนีพายุบ่อยๆ เขาก็ชินแล้ว แต่คงไม่มีใครยอมตายไปกับความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ

            เราต้องทำไทยให้น่าอยู่ น่าลงทุนกว่านี้ก่อนที่เวียดนามและเพื่อนบ้านอื่นจะแซงเราอีกราย

 

 

อ่าน 5,120 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved