ดร.โสภณถาม กทม/คสช เอื้อประโยชน์ บีทีเอส ไหม
  AREA แถลง ฉบับที่ 361/2562: วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ ตั้ง 10 คำถามถึง กทม./คสช. กรณีต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอส อย่างนี้เหมาะสมจริงหรือไม่ ทำเพื่อชาติหรือไม่

            มีข่าวว่า “กทม. แจงเรื่อง ต่อสัมปทานบีทีเอสสายสีเขียวอีก 40 ปี เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง” (https://bit.ly/2Jr2tSb) โดยมีสาระว่า “. . .ต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวให้อีก 40 ปี แบบเหมารวม ทั้ง 2 สัญญาสัมปทานเดินรถ ได้แก่ สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ BTS สายหลักที่ให้บริการในปัจจุบัน. . .ที่จะหมดสัญญาในปี 2572. . .ส่วนสัญญาสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน – บางหว้า ที่จะหมดสัญญาในปี 2585. . .เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์ให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation)”

            คำถามก็คือนี่คือทางออกที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อชาติจริงหรือ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ขอตั้งคำถาม 10 ข้อให้พิจารณา

            1. สัญญาแรกเหลืออายุ 10 ปี ทำไมต้องรีบต่อสัญญา เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียวหรือไม่

            2. ตอนทำสัญญาที่ 2 ที่มีอายุถึงปี 2585 ทำไมไม่คิดก่อนว่ามัน “ขี่” กันอยู่

            3. ทำไมตอนนี้จึงค่อยมาคิดได้ว่ามัน “ขี่” กัน จึงเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายเดียว

            4. นี่เป็นการเสีย “ค่าโง่” หรือไม่

            5. ถ้าจัดประมูลใหม่ ก็ยังทำได้ จะมีปัญหาอะไรกับผู้บริหาร 2 บริษัท ก็สามารถประสานงานกันได้ สมัยก่อนรถประจำทางหลายสายยังประสานกันได้ ในต่างประเทศบริษัทรถไฟหลายแห่งก็ร่วมมือกันได้

            6. ทำไมต้อง “ปิดประตูตีแมว” ให้ประโยชน์แก่เอกชนรายเดียว

            7. บริษัทเอกชนรายนี้รับสัมปทานรถไฟฟ้าอีกหลาย รัฐกำลังส่งเสริมการ “ผูกขาด” หรือไม่

            8. ที่บอกว่า “มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน เพื่อให้การเข้าถึงการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นไปอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ” จะเป็นจริงได้หรือ เป็นแค่คำพูดสวยหรูหรือเปล่า ขนาดไม่มีสถานีศึกษาวิทยาที่สาทร บีทีเอสยังบอกว่ามี เพิ่มค่าโดยสารอีก 1 สถานีเสียเลย ไม่เห็นมีใครจัดการ (https://bit.ly/2NJz61m)

            9. คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา “ให้กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ และให้ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ” เป็นการตั้งให้ดูดีหรือไม่ ตัวจริงเคยมาประชุมกี่มากน้อย หรือมักส่งผู้แทนสลับกันมา

            10. คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเห็นว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม เพื่อให้รัฐและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงให้เอกชนสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ โดยที่ผู้รับสัมปทานจะต้องรับภาระการลงทุนในส่วนต่อขยาย รับภาระหนี้สิน และทรัพย์สินของโครงการทั้งหมด และต้องจ่ายส่วนแบ่งรายปีให้กับ กทม” จะทำได้จริงหรือ ถ้าเอื้อแค่รายเดียวโดยไม่มีการแข่งขัน อาจสร้างความคลางแคลงใจว่าจะมีการ “ซูเอี๋ย” กันหรือไม่

            ช่วยกันพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ


ที่มาของรูปภาพ: 
https://news.mthai.com/app/uploads/2019/07/Thumb-FB-38-1.jpg

อ่าน 1,733 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved